รีเซต

โจทย์ไม่หมูของอธิบดีกน. เมื่อ 'หมูขาดแคลน' ดันเกษตรกรแบกภาระต้นทุนสูง เสี่ยงคนเลิกเลี้ยง

โจทย์ไม่หมูของอธิบดีกน. เมื่อ 'หมูขาดแคลน' ดันเกษตรกรแบกภาระต้นทุนสูง เสี่ยงคนเลิกเลี้ยง
มติชน
31 ธันวาคม 2564 ( 14:59 )
51
โจทย์ไม่หมูของอธิบดีกน. เมื่อ 'หมูขาดแคลน' ดันเกษตรกรแบกภาระต้นทุนสูง เสี่ยงคนเลิกเลี้ยง

นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่าปัจจุบันสถานการณ์ของการเลี้ยงสุกรเกษตรกรตกที่นั่งลำบากต้องประสบกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อต้นปีที่ผ่านมาผู้เลี้ยงสุกรต้องประสบกับภาวะขาดทุนอย่างหนัก จากการขายหมูต่ำกว่าต้นทุนเพื่อลดความเสี่ยงของโรค จนขณะนี้ผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือหายไปจากระบบแล้วกว่า 50% ในฐานะเกษตรกรจึงขอความเห็นใจในปัญหาที่ต้องเผชิญกับภาวะราคาหมูตกต่ำมากว่า 3 ปี ขอให้กลไกตลาดได้ทำงานเสรี เพื่อให้พวกเราเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูสามารถไปต่อในอาชีพนี้ได้ ขณะที่ประชาชนยังมีทางเลือกบริโภคเนื้อสัตว์อื่นทดแทนได้ ทั้ง ปลา ไข่  ไก่ ฯลฯ จะได้ถือเป็นการช่วยเกษตรกรอย่างแท้จริง

 

เกษตรกรในวงการผู้เลี้ยงหมู กล่าวเสริมต่อไปว่า การตรึงราคาหมูไม่ให้สูง ฟังดูดี และ ทำให้ภาครัฐดูเหมือนว่า ได้แก้ปัญหาแล้ว แต่แท้ที่จริงเป็นการยกภาระทั้งหมดไปให้กับผู้เลี้ยงหมู แบบว่า ทนได้ก็ทน ทนไม่ได้ก็เลิกเลี้ยงหมูไป ยามขาดทุนไม่มีคนช่วยเหลือ หากจะสู้ต่อต้องยกระดับฟาร์มจากความเสี่ยงโรคระบาด ต้นทุนสูงขึ้น ก็ยากที่จะรายได้มาชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นจากความเสี่ยงรอบตัว

 

ในการนี้ขอให้ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องคืออธิบดีกรมการค้าภายในไปศึกษาประเทศผู้นำในการเลี้ยงหมูในภูมิภาคเพื่อเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาหมู  อย่างเช่น จีน เวียดนาม เป็นต้น ที่ปล่อยให้ราคาหมูเป็นไปตามกลไกตลาด เมื่อหมูผลิตได้น้อย ราคาก็จะสูงขึ้น ตามช่วงเวลา เมื่อหมูผลิตได้มาก ราคาก็จะตกลง ดังนั้น เกษตรกรเลี้ยงหมู มีอาชีพเดียว ต่างจากผู้บริโภค ที่เลือกรับประทานได้

 

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือ หากอธิบดีกรมการค้าภายในเลือกแนวทางในการตรึงราคา คงต้องมีกระบวนการเยียวยาเกษตรกร เพราะหากตรึงราคาอย่างเดียว คนที่แบกรับต้นทุน และ ความเสี่ยงทั้งหมดก็คือเกษตรกรนั่นเอง และในอนาคตแนวโน้มจำนวนเกษตรกรเลี้ยงหมูจะลดลงอย่างมาก และทำให้เนื้อหมูในประเทศไม่เพียงพอจนต้องนำเข้า และจะทำให้ราคาหมูยิ่งสูงมากขึ้นไปอีก ดังนั้นการปล่อยให้เป็นไปตามกลไกราคาของตลาด และกรมการค้าภายในสนับสนุนผู้บริโภคให้เลือกรับประทานเนื้อไก่ เนื้อปลา ทางเลือกอื่น ในช่วงเวลาที่หมูราคาสูง ก็จะทำให้กลไกตลาดทำงานไปโดยธรรมชาติ

 

ทั้งนี้ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มนุษย์ได้พบกับโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากมาย ต้องมีค่าใช้จ่ายการฉีดวัคซีน การสร้างโรงพยาบาลสนาม การจัดซื้อหน้ากากอนามัย การซื้อยารักษาโรค การเพิ่มเติมระบบทำงานทางไกล ซึ่งต้นทุนทั้งหมดก็เพื่อแลกมาซึ่งการไม่ต้องติดโรคโควิด-19 แต่ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงหมู การต้องต่อสู้กับโรคระบาดต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ผู้เลี้ยงหมูต้องประสบมาโดยตลอด

 

แต่ความต่างระหว่างโควิด กับ โรคระบาดในหมูคือ หากมนุษย์ติดโควิด ก็แยกไปอยู่โรงพยาบาลสนาม แต่ในฟาร์มหมู หากพบโรคระบาด เจ้าของฟาร์มก็จะแทบหมดตัว เพราะต้องทำลายหมูทิ้งทั้งหมด ดังนั้น ความเสี่ยงของผู้ประกอบการเลี้ยงหมูสูงมากไม่รู้ว่าจะโชคร้ายเมื่อใด ทำให้ผู้เลี้ยงหมู ต้องเพิ่มต้นทุนอย่างมาก ในการยกระดับความปลอดภัย และ ประเทศไทยก็ทำได้ดีมากเสียด้วย ซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้น บวกกับความเสี่ยงหลายอย่าง ทำให้ราคาหมูในหลายประเทศนั้นปรับตัวสูงขึ้นมาก

 

ซึ่งจีน เวียดนาม กัมพูชา ล้วนปล่อยเป็นตามกลไกตลาด เพื่อให้เกษตรกร ยังคงทำธุรกิจอยู่ได้ เพราะหากเข้าไปแทรกแซงตรึงราคา จะทำให้เกษตรกรล้มหายตายจาก เพราะไม่สามารถนำรายได้ไปชดเชยภาวะขาดทุน และ ไม่เพียงพอต่อการนำไปจัดการความเสี่ยง ซึ่งปัจจุบัน ต้องถือว่า “หมูไทยราคาถูกที่สุดในภูมิภาค” ทั้งที่มีมาตรฐานการผลิตอยู่ระดับแถวหน้า และต้องทุ่มเทกับป้องกันโรคอย่างสุดกำลัง แม้รู้ทั้งรู้ว่าเป็นเม็ดเงินที่ต้องจ่ายเพิ่ม เป็นต้นทุนที่ต้องแบกรับ แต่เกษตรกรทุกคนก็ยอมขอเพียงป้องกันโรคนี้ให้ได้

 

สอดคล้องกับมุมมองความเห็นของ บรรจบ สุขชาวไทย นักวิชาการด้านปศุสัตว์ ที่ได้เคยเปิดเผยว่าที่ผ่านมาจำนวนผู้เลี้ยงสุกรในประเทศไทยลดลงอย่างมาก จากความเสี่ยงนานัปการ และต้องมารับความเสี่ยงเพิ่มเติมจากการควบคุมราคา ทำให้เกษตรกรหลายคนถอดใจ

 

วันนี้ผลตอบแทนสำหรับความมุ่งมั่นของคนเลี้ยงหมู จึงไม่ควรเป็นการถูกดึงเข้าดราม่า เรื่องเนื้อหมูราคาแพง ที่ทั้งผู้บริโภค คนขายหมูเขียง หรือแม้แต่คนค้าคนขายด้วยกันเอง พาทัวร์มาลงรุมชี้ว่าเกษตรกรเป็นต้นเหตุ ทั้ง ๆ ที่เกษตรกรลำบากมากอยู่แล้ว แต่ผู้บริโภคมีทางเลือก หากเนื้อหมูแพง ก็สามารถไปกินไก่ กินปลาแทนได้  และแม้วันนี้ราคาจะปรับขึ้นก็เป็นเพียงช่วงสั้น ๆ ตามกลไกตลาด จากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก สวนทางกับซัพพลายหมูที่ลดลงจากภาวะโรค ที่สำคัญหมูไทยไม่ได้ราคาสูงไปกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค และปริมาณหมูก็มีมากเพียงพอกับการบริโภค ไม่เคยต้องขาดแคลน ทั้งหมดนี้เพราะคนเลี้ยงหมูทุกคนต้องการรักษาอาชีพเดียวของพวกเขาไว้ และต้องดูแลผู้บริโภคไม่ให้เดือดร้อนไปพร้อม ๆ กัน

 

อย่างไรก็ดี จากปัญหาหมูแพง ส่งผลให้กรมการค้าภายในออกนโยบายการตรึงราคา ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระต่อไป ทั้งที่ช่วงปีใหม่ จะเป็นช่วงเวลาที่เกษตรกรจะได้ขายสินค้า เพื่อนำรายได้มาชดเชยค่าใช้จ่ายที่ได้ลงไปก่อนหน้านี้ ทำให้เป็นโจทย์สำคัญกับอธิบดีกรมการค้าภายในว่า จะแทรกแซงกลไกตลาด จะให้เกษตรกรมาเป็นผู้รับภาระเพื่อให้ผู้บริโภคกินหมูราคาถูกลง แต่ผลที่ได้ อาจส่งผลให้ผู้เลี้ยงหมู ล้มหายตายจากไป หรือ จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด และส่งเสริมให้ผู้บริโภค กินเนื้อสัตว์ที่หลากหลาย ตามช่วงเวลา ซึ่งจะทำให้เกษตรกรอยู่รอด ผู้บริโภคก็มีทางเลือก

 

และ ที่สำคัญ การตรึงราคามีต้นทุน เหมือนการจำนำเข้า ที่หากทำบ่อยๆ จะทำให้ประเทศไทยแข่งขันไม่ได้ และไม่มีใครอยากลงทุนเพิ่มเพื่อพัฒนา จะหันมาตัดต้นทุน เสี่ยงโรคกันไป และ สุดท้ายประเทศไทย อาจเสี่ยงต่อการมีเนื้อหมูไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศนั่นเอง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง