รีเซต

ปศุสัตว์ประจวบฯเร่งควบคุม กำจัดโรค ASF ระบาดในฟาร์มสุกร 2 อำเภอ

ปศุสัตว์ประจวบฯเร่งควบคุม กำจัดโรค ASF ระบาดในฟาร์มสุกร 2 อำเภอ
มติชน
29 มกราคม 2565 ( 17:20 )
46

นายยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า จากกรณีตรวจพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ในฟาร์มสุกร 3 แห่งใน อ.เมืองและ อ.ทับสะแก มีการทำลายซากสุกร 117 ตัว ต่อมามีการประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราว 20 หมู่บ้าน ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสุกรในรัศมี 5 กม.รอบจุดเกิดโรค ล่าสุดยืนยันว่ายังไม่มีฟาร์มหมูในพื้นที่อื่นติดเชื้อเพิ่ม พร้อมแจ้งนายอำเภอประสานกับเจ้าหน้าที่ตำบล หมูบ้าน ตรวจสอบไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ 2558

นายยุษฐิระ กล่าวว่า ขณะนี้มีการควบคุมการระบาด พร้อมกำจัดโรคให้ได้โดยเร็ว มีการทำพ่นยาทำลายเชื้อในฟาร์มที่พบโรคระบาดทุกสัปดาห์เป็นเวลา 1 เดือน สำหรับฟาร์มแห่งอื่นในรัศมีรอบจุดเกิดโรค 1 กม. กรณีรายย่อยให้นำสุกรเข้าโรงฆ่าสัตว์ ในพื้นที่ใกล้ที่สุดหรือภายในจังหวัดเท่านั้น กรณีผู้เลี้ยงขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ให้เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างโรงเรือนละ 3 ตัวอย่าง ประกอบด้วยเลือด หรือ น้ำลาย สิ่งคัดหลั่งไปตรวจสอบหาเชื้อ ส่วนฟาร์มในรัศมีรอบจุดเกิดโรค 5 กม. ให้ผู้เลี้ยงเฝ้าระวังอาการของสุกร

นายยุษฐิระ กล่าวอีกว่า ได้กำหนดแนวทางการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อของฟาร์มรายย่อยโดยควบคุมการเคลื่อนย้ายสุกรในพื้นที่รัศมี 5 กม. รอบจุดเกิดโรค ยานพาหนะทุกคันที่มีการขนย้ายสุกรหรือซากสุกร ให้ทำความสะอาดล้างรถทุกครั้งและนำมาพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่จุดตรวจด่านกักสัตว์หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ก่อนนำสุกรหรือซากสุกรขึ้นยานพาหนะ นอกจากนั้นสั่งการให้ฝ่ายสุขภาพสัตว์เร่งสร้างเครือข่ายช่องทางการแจ้งโรค เก็บตัวอย่างจากฟาร์ม โรงฆ่าสุกร และสถานที่จำหน่ายเนื้อสุกร ตามแผนงานที่กำหนด สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยขอความร่วมมือรถจับสุกร ให้ทำความสะอาดรถทุกครั้งหลังจับ ตั้งจุดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่ปศุสัตว์อำเภอ ให้พ่นรถจับสุกรทุกครั้งก่อนออกใบอนุญาตให้เคลื่อนย้าย

มีรายงานว่า นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานตามข้อสั่งการสำคัญที่ศาลากลางจังหวัด โดยกำชับให้หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจติดตาม เฝ้าระวัง และกำกับดูแลไม่ให้มีการกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะหมูเนื้อแดง ไข่ไก่ สินค้าที่จำเป็นเพื่อป้องกันผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ไม่ให้ฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าเอาเปรียบผู้บริโภค เน้นให้ผู้ค้าติดป้ายแสดงราคาสินค้าอย่างชัดเจน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง