เกษตรกรห่วงสุด “หมูเถื่อน” พาหะโรค ASF หวนกลับรอบใหม่
อาบอรุณ ธรรมทาน นักวิชาการอิสระ
ผู้เลี้ยงหมู ร้องรัฐมาหลายครั้งอย่านิ่งนอนใจต้องเร่งปราบ “หมูเถื่อน” ให้สะอาดสะอ้าน เพราะความกังวลที่สุด คือ เนื้อและซากสุกรที่ลักลอบนำเข้าเป็นพาหะแพร่ซ้ำโรค ASF ตัวอย่างมีให้เห็นล่าสุด กระทรวงเกษตรของเวียดนามต้องเผชิญกับโรคระบาดจากสัตว์เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำจัดสัตว์ปีกรวมกันมากกว่า 93,000 ตัว และสุกรอีกมากกว่า 53,000 ตัว (เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565) เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกและโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ( เอเอสเอฟ ) โดยมีการตรวจพบการแพร่ระบาดของเอเอสเอฟแล้วมากกว่า 1,150 ครั้ง ใน 51 จังหวัดและเมือง ทั้งที่เวียดนามประสพเหตุการณ์ ASF นำหน้าไทยไปก่อนเป็นปี ยังหวนกลับมาระบาดได้อีก
“หมูเถื่อน” ยังคงเป็นหอกข้างแคร่ของผู้เลี้ยงหมูไทย และเมื่อเร็วๆ นี้ หมูเถื่อนขึ้นท่าเมืองไทยไม่สะดวกจึงหันหัวเรือหนีการจับกุมจากเมืองไทยไปขึ้นท่าเรือที่เวียดนาม แล้วขนส่งกลับเข้าไทยมาผ่านช่องทางธรรมชาติแบบกองทัพมด ยิ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคมากขึ้น รวมถึงหมูเถื่อนยังเป็นตัวแปรสำคัญในการฉุดราคาเนื้อหมูในประเทศลง จากต้นทุนที่ต่ำกว่าและเป็นหมูที่ประเทศต้นทางไม่ต้อง เรียกว่า “หมูขยะ” ที่ประเทศต้นทางพยายามผลักดันออกนอกประเทศ ที่เลวร้ายกว่านั้นคือเป็นหมูหมดอายุ แฝงไปด้วยสารปนเปื้อนจึงขายปลีกได้ในราคา 130-145 บาท/กก. ถูกกว่าหมูไทยมากเมื่อเทียบกับหมูเนื้อแดงที่ราคา 198-200 บาท/กก. ทำให้จูงใจทุกภาคส่วนทั้งเขียงหมู ร้านขายหมู ร้านหมูกระทะ หาซื้อมาจำหน่ายเพื่อทำกำไรกันถ้วนหน้า
ผู้เลี้ยงหมูไทย ยืนยันว่า หมูไทยคุณภาพยืนหนึ่งไม่เป็นสองรองใคร ปลอดโรคปลอดภัย ไร้สารเร่งเนื้อแดง แต่มาเจอ “หมูเถื่อน” อาละวาดแบบนี้ มีชะงักและลังเลที่จะลงหมูเลี้ยงใหม่ต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือรายงานว่าการผลิตในพื้นที่ลดลง 5% จากที่การเลี้ยงขยับขึ้นมาถึง 80% แล้ว แต่กลับลดลงเหลือ 75% เพราะหวั่นใจหมูเถื่อนจะทำให้ขาดทุน ถ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ มีประสบการเดียวกันอุปทานของประเทศก็จะลดลงไปอีก เป้าหมายที่รัฐบาลจะฟื้นฟูให้กลับเป็นปกติภายในสิ้นปี 2565 คงเป็นฝ้นสลาย
แม้ว่าปัจจุบันโรค ASF ในประเทศต่างๆ รวมทั้งในภูมิภาคเอเซีย และประเทศเพื่อนบ้านติดชายแดนไทย จะอยู่ในสถานการณ์สงบและควบคุมได้แต่ไม่ควรวางใจ เพราะโรคสามารถกลับมาระบาดใหม่ได้จากพาหะนำโรค เช่น เนื้อสัตว์หรือสัตว์นำเข้า ยานพาหนะ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน”เข้ามาในไทย เป็นการเปิดโอกาสนำเข้าเชื้อโรคโดยตรง และเมื่อเกิดการระบาดแล้วจะเกิดการแพร่ระบาดได้รวดเร็ว สำหรับเกษตรกรรายย่อยและรายเล็ก ที่ไม่มีมาตรการป้องกันโรคที่เข้มแข็ง
สำหรับผู้เลี้ยงหมูของไทยส่วนใหญ่ได้รับการอบรมเรื่องการป้องกันโรคระบาดแล้วก็ตาม แต่การเฝ้าระวังและป้องกันโรคของภาครัฐยังจำเป็นต้องเข้มงวดและเข้มแข็งไม่ให้โรคกลับมาเกิดซ้ำได้อีก เพราะหากมีฟาร์มไหนติดโรค ASF ก็อาจจะไม่แจ้งกัน ด้วยกลัวผลกระทบที่จะเกิดตามมาและเมื่อติดโรคแล้วจะลุกลามรวดเร็ว หมูเถื่อน จึงเป็นหนึ่งในพาหะนำโรคที่แพร่กระจายอยู่ในทุกภาค และยังบั่นทอนความมั่นใของเกษตรกร และเสถียรภาพราคา
เกษตรกรขอร้องให้ภาครัฐเพิ่มความถี่ในการปราบปรามหมูเถื่อน เพราะหากยังไม่สามารถจัดการการระบาดของโรคได้เด็ดขาด แนวโน้มราคาจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเกษตรกรชะลอการนำหมูเข้าเลี้ยง ซึ่งตอนนี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ ขอความร่วมมือไม่ให้ขายเกินเพดาน
และหากจำเป็นต้องมีการนำเข้าเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเนื้อสุกรขอให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเป็นผู้นำเข้า ซึ่งราคาเนื้อหมูในปี 2566 ยังต้องดูปริมาณผลผลิตหมูช่วงไตรมาสแรกต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 2 ซึ่งกลางปีหน้าก็อาจจะยังไม่สามารถกลับมามีกำลังการผลิตเท่าเดิมได้ ขณะที่ผู้เลี้ยงหมูต้องแบกภาระต้นทุนสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ ทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ พลังงานและปุ๋ย เป็นปัจจัยผลักดันต้นทุนผลิตให้สูงขึ้น โอกาสที่จะหมูจะลงไปอยู่ระดับเดิมเหมือนก่อนเกิดโรคระบาด ASF คงเป็นไปได้ยาก