“สุชาติ” จี้รัฐบาลเคลียร์เกณฑ์ชดเชยโรค ASF ในหมูให้ชัด หวั่นเกษตรกรตกสำรวจ
สุชาติ รับหนังสือผู้เลี้ยงหมูแปดริ้ว ทวงถามรัฐบาลเยียวยาเหตุ ASF ระบาด ฝากหน่วยงานรัฐสางปมหลักเกณฑ์เยียวยา หลังกระบวนการแจ้งเหตุติดขัด เกรงไม่ครอบคลุมผู้ที่เดือดร้อนทั้งหมด
วันที่ 23 มี.ค.65 นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เปิดเผยถึงการหารือกับกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา นำโดย นายเสน่ห์ นัยเนตร ประธานกรรมการสหกรณ์ปศุสัตว์และสัตว์น้ำฉะเชิงเทรา จำกัด ที่ได้เข้ายื่นหนังสือต่อเพื่อติดตามความช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย รายเล็ก รายกลาง ที่ประสบปัญหาโรคระบาดอหิวาห์แอฟริกาหมู (ASF) ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 22 มี.ค.65 ว่า รับทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย และก่อนหน้านี้ได้ร่วมผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯเพื่อพิจารณาปัญหาการแพร่ระบาดของโรค AFS ซึ่งขณะนี้ก็ทราบว่า ใกล้ได้ข้อสรุปเพื่อนำเนนอต่อรัฐบาลแล้ว อย่างไรก็ดียังได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาความเป็นได้ในการจ่ายเงินชดเชยความเสียหาย รวมถึงฟื้นฟูอาชีพอย่างเร่งด่วน หลังจากสุกรล้มตาย และต้องสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เกษตรกรบางรายประสบปัญหาสิ้นเนื้อประดาตัว รวมทั้งการวางแนวทางป้องกันปัญหาที่ตะเกิดขึ้นในอนาคต
“ทั้งนี้มีความกังวลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ชดเชยเยียวยาที่อาจไม่ครอบคลุมความเดือดร้อนของเกษตรกรทั้งในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และพื้นที่อื่นทั่วประเทศ เพราะทราบว่ามีปัญหาในกระะบวนการแจ้งการพบโรคระบาดในพื้นที่ระหว่างเกษตรกรกับหน่วยงานราชการ” นายสุชาติ ระบุ
นายเสน่ห์ กล่าวเสริมว่า ได้นำเสนอข้อเรียกร้อง 3 เรื่อง เพื่อชดเชยความเสียหาย และการฟื้นฟูอาชีพการเลี้ยงสุกรโดยเร็ว คือ 1.การชดเชย เยียวยาให้กับสมาชิกสหกรณ์ 38 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 139 ล้านบาท, 2.ฟื้นฟูอาชีพเลี้ยงสุกร โดยรัฐจัดหาแหล่งเงินทุนเป็นโครงการสินเชื่อพิเศษปลอดดอกเบี้ย ที่ไม่ผ่านธนาคารรัฐ วงเงิน 100 ล้านบาท และ 3.ส่งเสริมและสนับสนุนให้สหกรณ์ฯมีศูนย์วิจัยโรคระบาด และวินิจฉัยโรคได้ทันสถานการณ์
ด้าน นายไพรินทร์ หนูมาก สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ฉะเชิงเทรา ในฐานะคณะทำงานด้านการเมืองของรองประธานสภาฯ ตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ ว่า สืบเนื่องจาก ปี 2562 เมื่อเกิดโรคระบาด ASF ขึ้น สุกรเริ่มตาย เกษตรกรเข้าใจว่าเป็นครั้งแรกเข้าใจว่าเป็นโรคระบบทางเดินหายใจสุกร (PRRS) แต่ภายหลังพบว่าไม่ใช่โรค PRRS แต่เป็นโรค ASF ที่ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ทางเจ้าหน้าที่กลับไม่รับแจ้ง โดยให้เหตุผลว่าขณะนั้นยังไม่มีโรค ASF ในประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลให้เกษตรกรที่ไม่ได้แจ้งอาจจะไม่เข้าหลักเกณฑ์การได้รับเงินชดเชย แต่ก็พบกรณีการเลือกปฏิบัติจ่ายเงินเยียวยาให้แก่เกษตรกรในบางพื้นที่ของ จ.ฉะเชิงเทรา จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานราชการดำเนินการให้เกิดความชัดเจน เพื่อให้การชดเชยเยียวยาครอบคลุมเกษตรกรที่เดือดร้อนจากการระบาดโรค ASF ทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ยังได้ยื่นหนังสือต่อ นายวีระกร คำประกอบ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และศึกษาแนวทางช่วยเหลือประชาชน จากปัญหาราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ปรับตัวสูงขึ้น สภาผู้แทนราษฎร และตัวแทนคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ด้วย
ทั้งนี้ นายวีระกร แจ้งว่า ขณะนี้ กมธ.ได้ประชุมใกล้แล้วเสร็จ และเบื้องต้นได้มีมติถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่จะเสนอต่อรัฐบาลใน 6 ประเด็น อาทิ การจัดหาเงินทุนดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี, การชดเชยความเสียหายให้เกษตรกรที่เลี้ยงสุกร ไม่เกิน 50 ตัว จำนวน 2.5 แสนบาท และอาจจะขยายไปถึงเกษตรกรที่เลี้ยงมากกว่านั้น, การจัดหาลูกสุกร น้ำหนักไม่เกิน 16 กิโลกรัม ในราคา 2,000 บาท รวมถึงแม่พันธุ์ให้กับเกษตรกร, การสำรวจและตรวจสอบนวามปลอดภัยพื้นที่เลี้ยงสุกร พร้อมให้คำแนะนำการทำโรงเรือนรูปแบบใหม่, การอบรมอาสาปศุสัตว์ และเกษตรกรรายย่อย รวมถึงมาตรการช่วยเหลือด้านราคาอาหารสัตว์ เป็นต้น.