กมธ.สภา จ่อเรียก 'กรมปศุสัตว์' แจงปม โรคระบาดหมู ทั้งที่รับเรื่อง ตั้งแต่ปลายปี
กมธ.พาณิชย์ จ่อเรียก กรมปศุสัตว์ แจงข้อเท็จจริงแก้โรคระบาดหมู ทั้งที่รับเรื่องตั้งแต่ พ.ย.64 แนะ รัฐบาล แก้เนื้อหมูแพง ไม่ใช่ให้ทุนเลี้ยงอย่างเดียว ต้องประกันความเสี่ยงด้วย
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการ และ โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีปัญหาเนื้อหมูราคาแพง และขาดตลาดว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ตนพากลุ่มผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออก เข้าพบอธิบดีกรมปศุสัตว์เพื่อแจ้งถึงปัญหาที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเจอ
คือ โรคระบาด แต่ไม่มั่นใจว่าเป็นโรคระบาดชนิดใดเพื่อให้กรมปศุสัตว์แก้ปัญหา ไม่ให้ผู้เลี้ยงสุกรเสียหายและกระทบไปยังประชาชน และในเดือนธันวาคม 2564 ตนได้รับข้อมูลจากกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร ว่า จากเดือนดังกล่าว อีก 5-6 เดือน ปริมาณเนื้อหมูในตลาดจะมีจำนวนน้อยลงและเนื้อหมูจะขาดตลาด และในเดือนมกราคม 2565 ปัญหาที่เกษตรกรเคยเตือนเกิดขึ้นจริง
“ผมเข้าใจว่า กรมปศุสัตว์ ได้รับทราบถึงโรคระบาด และพยายามควบคุมโรคในวงจำกัดไม่ให้เกษตรกรและประชาชนได้รับผลกระทบ แต่รายละเอียดต้องให้กรมปศุสัตว์ชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ อีกครั้งว่าได้ดำเนินการอย่างไรหลังจากที่รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มเกษตรกร โดยในสัปดาห์หน้าเมื่อมีการประชุมสภาฯ ผมจะนำเรื่องนี้เข้ากรรมาธิการฯ เพื่อติดตามปัญหา และเป็นเรื่องแรกที่ต้องพิจารณาเร่งด่วน และขอเรียกร้องให้กรมปศุสัตว์ชี้แจงให้ชัดเจนจากข้อมูลทางวิชาการที่พบว่ามีโรคระบาดในสุกรเกิดขึ้นจริง แต่กลับไม่มีการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นายอัครเดช กล่าว
นายอัครเดช กล่าวต่อว่า จากปัญหาโรคระบาดที่เกิดขึ้นพบว่าปริมาณหมูที่เข้าสู่ตลาดหายไป 30-40% ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ปัญหาสำคัญ คือ เกษตรกรรายย่อย และรายกลาง ล้มหายตายจาก หลังจากเจอโรคระบาดและไม่กล้าเลี้ยงลูกหมู เพราะไม่สามารถมีมาตรการควบคุมโรคได้ดีเท่ากับเกษตรกรรายใหญ่ที่มีฟาร์มแบบปิด ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรทำเร่งด่วน คือ การสร้างหลักประกันความเสี่ยง หากเกษตรกรรายย่อยและรายกลาง กลับมาเลี้ยงหมูรอบใหม่ และเจอโรคระบาด รัฐบาลต้องรับประกัน และมีการชดเชยให้เกษตรกร นอกจากมาตรการที่หาทุนให้เกษตรกรอย่างเดียว โดยรัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ ต้องเร่งแก้ปัญหา และต้องทำทันที