รีเซต

“หมูเถื่อน” : “ยาพิษ” คุกคามเกษตรกรและสุขภาพคนไทย

“หมูเถื่อน” : “ยาพิษ” คุกคามเกษตรกรและสุขภาพคนไทย
TNN ช่อง16
1 สิงหาคม 2565 ( 10:32 )
129

หลังกรมปศุสัตว์ประกาศอย่างเป็นทางการว่าประเทศไทยพบโรค ASF เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ยังผลให้หมูในประเทศหายไปจากระบบ 50% เกิดภาวะเนื้อหมูขาดแคลน แต่กลายเป็นช่องทางให้ “ผู้ร้าย” หาประโยชน์บนความทุกข์ร้อนของคนไทยฉวยโอกาส “ลักลอบ” นำ “หมูเถื่อน” เข้ามาขายหวังฟันกำไรเป็นกอบเป็นกำจากราคาที่ปรับสูงขึ้นจากอุปทานที่หายไป

“หมูเถื่อน” ที่ลักลอบนำเข้าเหล่านี้ เป็น “ยาพิษ” ทั้งกับคนไทยและเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ ก็เพราะว่าเนื้อหมูที่ต้นทางมาจากประเทศทางตะวันตก เช่น เยอรมัน ตุรกี บราซิล นั้น ยังอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงได้ ซึ่งเป็นสารก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ที่ประเทศไทยห้ามใช้มานานมากกว่า 20 ปี เพื่อคุ้มครองคนไทยให้มีอาหารปลอดภัยบริโภค และยังบั่นทอนแรงจูงใจของเกษตรกรไทยไม่เดินหน้าต่อนำหมูรุ่นใหม่เข้าเลี้ยง ด้วยหมูลักลอบนำเข้า เป็นตัวการทำลายเสถียรภาพราคาในประเทศ ทำให้กลไกตลาดบิดเบือน เพราะเนื้อหมูนำเข้ามีต้นทุนที่ต่ำกว่าจึงสามารถขายถูกกว่าหมูไทยได้  


ทั้งนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง จากประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของอาหารสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าเพื่อขาย และกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะคุณสมบัติ และส่วนประกอบของวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์ พ.ศ.2545 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ.2546 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์แม้ภาครัฐตรวจตราและจับกุมเข้มงวด “หมูเถื่อน” มาตั้งแต่ต้นปี เจาะกลุ่มห้องเย็นในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น สมุทรสาคร สงขลา ชลบุรี ราชบุรี นครปฐม อุบลราชธานี มุกดาหาร เป็นต้น แต่ก็ยังมีเล็ดลอดเข้ามาต่อเนื่องทุกภูมิภาคแบบ “ตรวจเมื่อไหร่ก็เจอ” ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ของกลางถูกยึดและสืบหาผู้กระทำไปดำเนินคดี แต่ “ผู้ร้าย” ก็คือผู้ร้าย ที่หนีรอดไปได้ และยังคงใช้กลเม็ดสำแดงเท็จเป็นอาหารทะเลหรืออาหารสัตว์ (แบบเดิมๆ) หลบหลีกการตรวจสอบแบบไม่เกรงกลัวโทษทัณฑ์ ปริมาณที่เจอมีตั้งแต่หลัก 1,000 กิโลกรัม ถึง 1 ล้านกิโลกรัม ล่าสุดเจ้าหน้าที่จากกองสารวัตรและกักกัน ร่วมกับด่านกักกันสัตว์เพชรบุรี และด่านกักกันสัตว์นครปฐม ตรวจพบซากสัตว์ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศจำนวน 5 รายการ รวม 64,000 กิโลกรัม โดยไม่มีใบอนุญาตนำเข้า 3 รายการ และไม่ทราบแหล่งที่มา 2 รายการ ที่ห้องเย็นจังหวัดสมุทรสาคร และก่อนหน้านี้การจับกุมที่ห้องเย็นในจังหวัดอุบลราชธานี เช่นกัน

ร้ายไปกว่านั้น “หมูเถื่อน” ถูกนำไปขายปะปนกับหมูดีของไทยบนเขียงหมูในตลาดสด ตีตราเป็นหมูไทยแบบแยกไม่ออกด้วยตาเปล่า ยิ่งเศรษฐกิจขาลงช่วงนี้ ราคาถูกเป็นแรงจูงใจสำคัญในการเลือกซื้อของผู้บริโภค หารู้ไม่ว่า “ของถูกไม่มีดี ของดีไม่มีถูก” เพราะของถูกที่ซื้อไปอาจมีของแถมเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งติดไปด้วย 


ฟากเกษตรกรผู้เลี้ยง มองว่าสถานการณ์กำลังจะดีอยู่แล้ว ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล หวังจะฟื้นฟูกิจการนำหมูรุ่นใหม่เข้าเลี้ยงต่อเนื่อง แต่มีอันต้องทบทวนแผนให้รอบคอบว่า หากหมูลักลอบนำเข้าที่ขายต่ำกว่าราคาหมูไทยได้ยังมีให้เห็นไม่ขาดสาย ต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น 30% โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แม้ราคาจะปรับลดจาก 13.50 บาทต่อกิโลกรัม เหลือ 12 บาทต่อกิโลกรัม แต่ก็ยังคงสูง รวมถึงต้นทุนพลังงานที่ยังหาเสถียรภาพไม่ได้ แม้น้ำมันดิบจะปรับลดลงแต่ยังอยู่ในระดับ 98-100 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ซึ่งมีผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง ทั้งสิ้น   แต่ราคาตลาดถูกบิดเบือน  เงินที่ลงทุนไปไม่คุ้มค่าแน่นอน ที่สำคัญหมูเถื่อน เป็นพาหะสำคัญในการนำเข้าโรคระบาดมาสู่ประเทศไทย ไม่เพียงแต่โรค ASF ยังรวมถึงโรคระบาดอื่นๆ เช่นกัน ซึ่งเป็นการทำลายการพัฒนาภาคปศุสัตว์และเศรษฐกิจไทยที่เดินหน้ามาอย่างต่อเนื่องถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐ จะต้องเล่นใหญ่บทบาท “ตำรวจจับผู้ร้าย” เพราะเชื่อแน่ว่าสายสืบของท่านมีเบาะแสชี้เป้าได้แม่นยำ ผลการจับกุมที่ผ่านมาเข้าตาประชาชน เห็นได้ว่าทุกห้องเย็นที่ไปตรวจสอบไม่เคยพลาดเป้าจับหมูเถื่อนได้คาหนังคาเขา ผู้บริโภคมั่นใจได้กินหมูปลอดโรคและปลอดภัย ทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจส่งเสริมให้เกษตรกรมั่นใจในการเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ในการฟื้นฟูการผลิตสุกรกลับสู่ภาวะปกติภายในสิ้นปีนี้

ในฐานะ “พลเมืองดีของประเทศ” ขอฝากคนไทยให้ช่วยเป็นหูเป็นตา เพื่อปกป้องคนไทยด้วยกันได้ด้วยการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำลายแหล่งนำเข้าหมูเถื่อน สามารถแจ้งได้ที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือ สายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง