รีเซต

สธ.แจงเตรียมปลดโควิดพ้นยูเซป เหตุอาการน้อย-เปิดทางรพ.รักษาผู้ป่วยปกติ

สธ.แจงเตรียมปลดโควิดพ้นยูเซป เหตุอาการน้อย-เปิดทางรพ.รักษาผู้ป่วยปกติ
TNN ช่อง16
14 กุมภาพันธ์ 2565 ( 17:48 )
85

วันนี้ (14 ก.พ.65) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ประชาชนใช้สิทธิรักษาโควิดฟรี (UCEP COVID) มาเป็นระยะเวลา 2 ปี 

ขณะนี้ทั่วโลกมีความรู้เรื่องโควิด-19 มากขึ้น โดยการแพร่ระบาดของโอมิครอนพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ 90% มีอาการน้อย จึงสามารถรักษาในระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) ได้ และมีเพียงประมาณ 10% เท่านั้นที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ดังนั้น ขณะนี้การใช้สิทธิ UCEP จะเข้าสู่ระบบปกติ และยกเลิกการใช้สิทธิรักษาโควิดฟรีในทุกโรงพยาบาล เปลี่ยนเป็นการรักษาตามสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชนแต่ละคน เพื่อสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนักจริงๆ เท่านั้น และเพื่อให้มีเตียงเพียงพอแก่ผู้ป่วยโรคอื่นๆ ด้วย

ปัจจุบันมีการรับรู้ข้อมูลชัดเจนแล้วว่า การระบาดของโอมิครอนมีความรุนแรงน้อย โดยมีผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจน้อยกว่าเดลตา 7 เท่าตัว และมีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าเดลตาถึง 10 เท่า อย่างไรก็ดี แม้อาการป่วยจะลดลง แต่ก็ยังขอความร่วมมือประชาชนในการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ เพื่อป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิต


"วันนี้ หากเดินทางไปโรงพยาบาลเอกชน และตรวจโควิด-19 แล้วพบเชื้อ จะไม่สามารถขอนอนโรงพยาบาลได้เลย หากไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยมาก สามารถรักษาระบบ HI หรือ CI โดยสิทธิ UCEP จะเอาไว้รักษาผู้ป่วยโควิดที่วิกฤตเท่านั้น เช่น มีอาการช็อค หมดสติ หายใจหอบรุนแรง แขนขาอ่อนแรง เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าเราเอาผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย ไปนอนในแสนกว่าเตียงนั้น ผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรคโควิด-19 เช่น ความดัน เบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน ก็จะมีเตียงไม่เพียงพอ เนื่องจากหากนำผู้ป่วยโควิดไปนอนในวอร์ดนั้น คนไข้อื่นๆ จะไม่สามารถนอนร่วมกันในวอร์ดนั้นได้ เช่น มีเตียง 20 เตียง ผู้ป่วยโควิดนอน 1 คน ที่เหลือต้องทิ้งว่างเปล่า" นพ.ธงชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีเตียงเพียงพอในการรับผู้ป่วยวิกฤติกว่า 30,000 เตียง และมีเตียงสีเขียวที่รองรับผู้ป่วยโควิดกว่า 130,000 เตียง ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนมาเป็นเตียงสำหรับดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันที

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ปัจจุบันเป็นการระบาดของโอมิครอน และได้พบปรากฎการณ์บางอย่าง เช่น ประชาชนนิยมไปรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลบางแห่ง เช่น โรงพยาบาลใหญ่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ทำให้โรงพยาบาลเหล่านั้นไม่สามารถรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ ได้

ดังนั้น จึงได้มีการประชุมร่วมกันของอนุกรรมการการรักษาเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 65 ซึ่งเห็นตรงกันว่าควรปรับการรักษาโรคโควิด ให้เป็นการรักษาตามสิทธิการรักษาต่างๆ เช่น สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม สวัสดิการราชการ โดยย้ำว่าไม่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคโควิด-19

สำหรับแนวทางการเข้ารับบริการ การรักษาโรคโควิด-19 ตามสิทธิการรักษา ได้แก่

- กรมบัญชีกลาง เข้ารับการรักษาโรงพยาบาลรัฐ สามารถบิกค่าบริการรักษาสวัสดิการข้าราชการได้

- สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผู้มีสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) สามารถเข้ารับรักษาได้ทุกสถานพยาบาลที่เป็นเครือข่ายของสปสช.

- สำนักงานประกันสังคม อยู่ระหว่างรอเข้าประชุมคณะกรรมการการแพทย์วันที่ 15 ก.พ. 65 ซึ่งคาดว่าจะเสนอในหลักการ คือ สามารถรักษาในเครือข่ายประกันสังคมได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน

- กองเศรษฐกิจสุขภาพ และหลักประกันสุขภาพ ในส่วนของประกันสุขภาพต่างด้าว ให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม เข้ารับการรักษารพ.ตามที่ขึ้นทะเบียน ส่วนคนต่างด้าวไร้สิทธิ ให้เข้ารับการรักษารพ.รัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และสำนักการแพทย์ กทม. สำหรับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ให้เข้ารับการรักษารพ.รัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขตามที่ขึ้นทะเบียน


ทั้งนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะฉุกเฉินวิกฤต (คนไทยทุกสิทธิ รวมถึงบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ) สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยใช้ UCEP ได้

"ผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก จะรักษาในระบบ HI  โดยอยู่ในระบบไหนก็จะมี HI ของระบบนั้นๆ อย่างไรก็ดี ทุกระบบจะอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับการรักษา โดยให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเครือข่ายได้ 

สรุปคือ ยังเป็นการรักษาฟรีตามสิทธิ แต่หากใครประสงค์รักษาที่โรงพยาบาลอื่นๆ หรือเอกชน ถ้าไม่ใช่กรณีฉุกเฉินจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง" นพ.ธเรศ กล่าว.

ภาพจาก แถลงข่าวกระทรวงสาธารณสุข , แฟ้มภาพ AFP



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง