สุดทึ่ง !! แบคทีเรียย่อยสลายกระดาษลัง กลายเป็นเชื้อเพลิงไบโอดีเซล
พลังงานเชื้อเพลิงในปัจจุบันมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว สวนทางกับความต้องการใช้งานของประชาชนทั่วโลก แม้มนุษย์พยายามสร้างพลังงานเชื้อเพลิงทดแทน เช่น ไบโอดีเซล ก็อย่างยังผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ อาจเป็นเพราะความยากในการเฟ้นหาวัตถุดิบในการผลิตนั่นเอง
ที่มาของภาพ https://choosesq.com/blog/biodiesel-and-global-warming/
แม้ไบโอดีเซลจะเป็นเชื้อเพลิงทดแทนที่ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลได้ดี อีกทั้งยังสร้างแก๊สเรือนกระจกน้อยกว่า แต่วัตถุดิบในการผลิตส่วนใหญ่มจากน้ำมันพืช (น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง) ที่ใช้แล้วจากการทำอาหาร ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอในการนำมาใช้ผลิตพลังงานเชื้อเพลิงในรถยนต์หรือเครื่องจักรอุตสาหกรรม
ที่มาของภาพ https://scitechdaily.com/microorganism-developed-to-turn-discarded-cardboard-boxes-into-biodiesel/
ดังนั้น ซุนมี่ ลี และทีมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยพลังงานสะอาด แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลีใต้ ได้พัฒนาการผลิตไบโอดีเซลจากเศษกระดาษและกระดาษลัง ด้วยแบคทีเรียที่วิจัยอยู่ในห้องแลป โดยแบคทีเรียเหล่านี้จะเข้าไปจัดการกับส่วนประกอบย่อย ลิกโนเซลลูโลส (Lignocellulose) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่อยู่ในกระดาษนั่นเอง
ทั้งนี้ ปกติแล้วลิกโนเซลลูโลสจะประกอบด้วยหมู่น้ำตาล 2 ชนิด คือ กลูโคสและไซโลส ซึ่งแบคทีเรียตามธรรมชาติส่วนใหญ่จะย่อยได้เฉพาะกลูโคส แต่แบคทีเรียจากห้องแลปของซุนมี่ จะย่อยได้ทั้งกลูโคสและไซโลส ทำให้ได้ผลผลิตเป็นไบโอดีเซลที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และยังช่วยกำจัดขยะกระดาษได้อีกด้วย
ที่มาของภาพ https://scitechdaily.com/microorganism-developed-to-turn-discarded-cardboard-boxes-into-biodiesel/
ซุนมี่คาดว่าในอนาคตจะเริ่มขยับขยายการใช้งานเทคโนโลยีนี้ ไปยังโรงงานผลิตเชื้อเพลิงทั่วโลก เพื่อลดการใช้พลังงานฟอสซิลอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการช่วยโลก ชะลอการปล่อยแก๊สเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Scitechdaily