รีเซต

เทียบอาการลองโควิด "โอมิครอน" กับ "เดลต้า" เปิด 2 ตัวช่วยลดอาการหนัก

เทียบอาการลองโควิด "โอมิครอน" กับ "เดลต้า" เปิด 2 ตัวช่วยลดอาการหนัก
TNN ช่อง16
17 เมษายน 2565 ( 12:12 )
126


วันนี้ (17 เม.ย.65) รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ผ่าน TNN ช่อง 16 ระบุว่า อาการลองโควิด (Long Covid) จากการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเป็นสถานการณ์ที่วงการแพทย์กำลังจับตา ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลหลังพบการระบาดประมาณ 4 เดือน

เบื้องต้นจากข้อมูลยังสันนิษฐานได้ว่าอาการลองโควิดจากการติดเชื้อโอมิครอนจะน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า โดยประเมินจาก 3 ปัจจัย ประกอบด้วย

1.ความรุนแรงของโรค ซึ่งพบว่าโอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าเดลต้าประมาณ 5 -10 เท่า ส่งผลต่อจำนวนผู้ป่วยหนัก เสียชีวิต ในสัดส่วนที่มีอัตราต่ำกว่า

2.การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลทั้งในไทย และ ต่างประเทศ พบว่าอาการติดเชื้อของผู้ฉีดวัคซีนจะน้อยกว่าผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีน

3.มีการใช้ยาต้านไวรัสเพิ่มขึ้นในช่วงโอมิครอนระบาด ซึ่งแพทย์คาดการณ์ว่าให้ยาเร็วอาจจะมีส่วนช่วยอาการลองโควิดน้อยลง 

ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะระบุว่าผู้ป่วยเกิดอาการลองโควิดหรือไม่ คือกรณีที่ผู้ป่วยยังมีอาการยืดเยื้อยาวนานเกิน 3 เดือน โดยตัวชี้ขาดขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของร่างกาย และ ความพร้อมทางด้านจิตใจ

สิ่งสำคัญในการป้องกัน หรือ ลดอาการลองโควิด คือ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และการได้รับยาต้านไวรัสในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะยิ่งมีอาการป่วยรุนแรงก็จะยิ่งพบอาการลองโควิดได้ง่ายขึ้น  

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ยังประเมินด้วยว่า สถานการณ์ปัจจุบันตัวเลขผู้ป่วยอาการปอดอักเสบรุนแรงประมาณ 2,000 กว่าคน หากยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นไปถึง 2,500-3,000 คน จะทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจะขึ้นไปถึง 150-200 คนต่อวัน

และยังส่งผลต่อศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยในภาพรวม เพราะปัจจุบันการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดต้องใช้ศักยภาพของการรักษาราวร้อยละ 15 จากการรักษาโรคทั้งหมด ถ้ายอดติดเชื้อเพิ่มก็จะมีการดึงศักยภาพการรักษาเพิ่มขึ้น ซึ่งพบว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในต่างจังหวัดเริ่มมีปัญหาในการดูแลรักษาคนไข้แล้ว.


ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง