รีเซต

ฝีมือคนไทย! เสื้อเกราะกันกระสุนจากขยะรีไซเคิล จากงานวิจัยสู่การมีส่วนร่วมของชุมชน | TNN Tech Reports

ฝีมือคนไทย! เสื้อเกราะกันกระสุนจากขยะรีไซเคิล จากงานวิจัยสู่การมีส่วนร่วมของชุมชน | TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
4 ธันวาคม 2566 ( 16:40 )
55
ฝีมือคนไทย! เสื้อเกราะกันกระสุนจากขยะรีไซเคิล จากงานวิจัยสู่การมีส่วนร่วมของชุมชน | TNN Tech Reports



ขยะพลาสติก ถือเป็นหนึ่งปัญหามลพิษที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากมีการใช้งานจำนวนมาก ในขณะที่วิธีการกำจัดขยะพลาสติกยังมีข้อจำกัด เนื่องจากเป็นวัสดุที่หากนำไปเผาไหม้ จะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งสาเหตุของภาวะโลกร้อน และหากฝังกลบจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 450 ปี ในการย่อยสลาย


ซึ่งปัจจุบัน ขยะพลาสติกหลายชนิดได้ถูกนำไปรีไซเคิล  ปรับปรุงคุณภาพ นำกลับมาใช้ใหม่ และการอัปไซเคิล หรือการนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีประโยชน์หรือมูลค่า 


หนึ่งในนั้นก็คือ ขยะพลาสติกจากไฟหน้ารถ ซึ่งถูกนำมาอัปไซเคิลกลายเป็นส่วนผสมสำคัญในการทำเสื้อเกราะป้องกันกระสุน  ภายใต้งานวิจัยที่นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. 


เสื้อเกราะกันกระสุนจากขยะรีไซเคิล


นอกจากขยะจากไฟหน้ารถแล้ว ยังมีการนำขยะพลาสติกจากรองเท้ายาง ที่เก็บมาจากพื้นที่ชายทะเล จ.กระบี่ และพลาสติกจากถุงที่ใช้ในการฟอกไต ซึ่งเป็นขยะที่เกิดขึ้นทุกวัน มาใช้เป็นส่วนประกอบของเสื้อเกราะกันกระสุนนี้ด้วย 


งานวิจัยนี้ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนหลายฝ่าย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งเหล่าพลทหาร ประสบปัญหาจากการใช้งานเสื้อเกราะป้องกันภัยที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก เป็นอุปสรรคต่อการใช้งาน จากแนวคิดทั้งหมด จึงเป็นที่มาของต้นแบบนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุน 


จุดเด่นของเสื้อเกราะอยู่ที่น้ำหนักซึ่งเบากว่าเกราะแบบทั่วไปประมาณ 4-5 กิโลกรัม  และด้วยวัสดุที่มีส่วนประกอบจากขยะที่ไม่มีมูลค่า จึงส่งผลให้ราคาของเสื้อเกราะจะต่ำลงหากได้รับการต่อยอดผลิตในระดับอุตสาหกรรม


และอีกจุดเด่นสำคัญที่ทำให้เสื้อเกราะนี้ มีความแตกต่างเป็นเอกลักษณ์ไทยอย่างชัดเจนก็คือ มีส่วนประกอบของผ้าทอมือ จากฝีมือกลุ่มแม่บ้านชุมชน ตำบลวังตะคร้อ อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย  โดยผ้าทอนี้เปรียบเสมือนชายผ้าของแม่ ซึ่งจากการศึกษา พบว่านายทหารจะพกติดตัวไปด้วยในเวลาที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ ส่งผลในด้านกำลังใจ


วิธีการสร้างเสื้อเกราะกันกระสุน


ลักษณะของเสื้อเกราะจะประกอบไปด้วยชั้นวัสดุหลัก ๆ 2 ชั้น คือ


  1. ชั้นนอกที่ใช้กันกระสุน มีส่วนประกอบของขยะพลาสติกไฟหน้ารถ และถุงจากการล้างไต 

  2. ด้านในจะเป็นชั้นของแผ่นรองที่อยู่ติดกับลำตัว ซึ่งใช้รับแรงกระแทก โดยมีส่วนประกอบจากขยะรองเท้ายาง ซึ่งทั้ง 2 ชั้นจะใส่ประกับกันในเสื้อกั๊ก


ขณะที่ขั้นตอนกว่าจะได้มาเป็นต้นแบบเสื้อเกราะกันกระสุนจากขยะรีไซเคิล จะเริ่มจาก


  1. การวัดร่างกายของพลทหาร เพื่อออกแบบเสื้อเกราะ โดยแผ่นด้านหน้ากับด้านหลัง จะมีลักษณะไม่เหมือนกัน แผ่นด้านหน้าจะมีความโค้ง ส่วนแผ่นหลังจะตั้งตรงรับกับสรีระผู้ใช้งาน

  2. เป็นขั้นตอนการรวบรวมขยะพลาสติก โคมไฟหน้ารถ  รองเท้ายาง และถุงพลาสติกจากการฟอกไต มาบดรวมกันจนละเอียดและใช้เรซิ่นเป็นตัวเชื่อมขึ้นรูป

  3. จากนั้นเป็นขั้นตอนของการทอผ้าจากฝีมือแม่ เพื่อนำมาห่อหุ้มสำหรับแผ่นรับแรงกระแทก

  4. การนำวัสดุทุกอย่างมาใส่รวมกันในเสื้อกั๊ก


อนาคตของเสื้อเกราะกันกระสุนจากขยะรีไซเคิล


ปัจจุบัน เสื้อเกราะนี้สามารถป้องกันกระสุนได้ โดยผ่านการทดสอบยิงโดยทหารหน่วยกองร้อยลาดตระเวนระยะไกล ที่ 4 ค่ายสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ด้วยใช้อาวุธปืนขนาด 9 มม. และ 11 มม. ทดสอบยิงใน 3 ระยะ คือ ที่ระยะ 7 เมตร  10 เมตร และ  15 เมตร  ผลการยิงไม่ทะลุชุดเกราะ


แม้ว่าเสื้อเกราะจะผ่านการทดสอบ สามารถป้องกันการยิงได้  แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอีกหลายอย่างที่จะต้องได้รับการพัฒนา เพื่อให้สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาให้มีน้ำหนักเบาขึ้น การสนับสนุนเรื่องเงินทุน และเทคโนโลยีการผลิต  รวมถึงข้อกฎหมายที่ทำให้บุคคลทั่วไปไม่สามารถครอบครอง เสื้อเกราะ ได้ เนื่องจากเป็นยุทธภัณฑ์ควบคุม ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 ซึ่งกำหนดให้มีได้เฉพาะส่วนงานราชการ เช่น ทหาร ตำรวจ เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม แม้ว่านวัตกรรมเสื้อเกราะป้องกันกระสุนนี้จะยังเป็นเพียงงานวิจัยต้นแบบ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของนักวิจัยและนวัตกรไทย ที่ไม่เพียงแต่พัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานเท่านั้น แต่ยังเป็นการผนวกความร่วมมือหลายภาคส่วน ทั้งทหารจากกองทัพภาคที่ 3  ภาคการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยนเรศวร และพลเรือนกลุ่มชุมชนแม่บ้านทอผ้า จนนำไปสู่การสร้างรายได้ และที่สำคัญ หากในอนาคตได้รับการสนับสนุนต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ นวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนนี้ จะถือเป็นผลลัพธ์ของหนึ่งในแนวทางจัดการที่จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกเหลือทิ้งในสิ่งแวดล้อมได้

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง