รีเซต

‘ฌอน’ กับเงินบริจาคดับไฟป่า และกฎหมายควบคุมการเรี่ยไรเงิน

‘ฌอน’ กับเงินบริจาคดับไฟป่า และกฎหมายควบคุมการเรี่ยไรเงิน
TrueID
29 มิถุนายน 2563 ( 11:25 )
470
‘ฌอน’ กับเงินบริจาคดับไฟป่า และกฎหมายควบคุมการเรี่ยไรเงิน

 

จากกระแสดราม่าของไลฟ์โค้ชชื่อดัง "ฌอน บูรณะหิรัญ" ที่เป็นทั้งนักเขียน นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ นำเสนอแนวคิด และปรัชญาการใช้ชีวิต มีผู้ติดตามในโซเชียลมีเดียช่องทางต่าง ๆ หลายล้านคนเรื่องการเรี่ยไรเงินบริจาคที่สร้างความคลางแคลงใจ สงสัยให้กับประชาชน วันนี้ทาง TrueID News จะไล่เหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มแรก รวมถึงเกร็ดความรู้ในด้านกฎหมายการเรี่ยไรเงินบริจาคที่หลายคนอาจไม่ทราบว่ามีข้อกฎหมายบังคับอยู่ด้วยเช่นกัน

 

  • ทีมอาสาดับไฟป่าดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ส่งข้อความไปหาเพจ "แหม่มโพธิ์ดำ" ให้ช่วยถาม "ฌอน บูรณะหิรัญ" ว่า เห็นเปิดรับบริจาคเงินช่วยดับไฟป่า แต่ไม่เคยเปิดเผยยอดบริจาค และทีมดับไฟป่าไม่เคยได้รับเงินหรือสิ่งของอะไรจากฌอนเลย พยายามติดต่อเพื่อสอบถามฌอนทุกช่องทาง แต่ติดต่อไม่ได้
  • “ควีน” (แอดมินเพจแหม่มโพธิ์ดำ) จึงเอาข้อความของทีมอาสาดับไฟป่ามาโพสต์ ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนและเป็นดราม่าเรื่องใหม่ของฌอน 
  • โพสต์รับบริจาคเงินช่วยดับไฟป่าของฌอน พบว่าโพสต์ไว้เมื่อ 30 มีนาคม 2563 ตอนแรกให้บริจาคผ่านกองทุนลมหายใจเชียงใหม่ แต่ในวันเดียวกันก็เปลี่ยนเป็นให้บริจาคเข้าบัญชีของฌอนโดยตรง โดยอ้างว่าผู้ใหญ่แนะนำให้เปลี่ยน แล้วตนจะเอาเงินไปซื้อของเอง
  • จากนั้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ฌอนได้โพสต์ภาพไปร่วมงานโครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด-19 ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และระบุว่าได้พูดคุยกันเรื่องไฟป่าเชียงใหม่ด้วย
  • นักข่าวจึงไปสอบถามผู้ว่าฯ เชียงใหม่เรื่องที่ฌอนเปิดรับบริจาคเงินดับไฟป่า ผู้ว่าฯ บอกว่าไม่เคยรับบริจาคหรือทำกิจกรรมร่วมกับฌอน และส่วนตัวก็ไม่รู้จักว่าเป็นใคร ส่วนเรื่องที่เจ้าหน้าที่อาสาดับไฟป่าทวงถามเงินบริจาคจากฌอนนั้น ทางจังหวัดไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นการกระทำส่วนบุคคล
  • ต่อมาเพจของฌอนได้โพสต์ชี้แจงเรื่องเงินบริจาคพร้อมภาพประกอบอีกกว่า 40 ภาพ เป็นภาพการทำกิจกรรมเกี่ยวกับป่าไม้ ไฟป่า โควิด-19 ภาพจากสื่อต่าง ๆ และเอกสารทางการเงิน
  • โดยฌอนระบุว่า เริ่มรับบริจาคตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม - 1 พฤษภาคม 2563 ได้ยอดบริจาคทั้งสิ้น 875,741.53 บาท ทุกกระบวนการมีการตรวจสอบ และเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ก็ได้นำหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริจาคไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 เชียงใหม่
  • สำหรับเงินบริจาคกว่า 8 แสนบาทนี้ ฌอนบอกว่านำมาใช้จ่ายโดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ กำลังคน กำลังสมอง และกำลังทรัพย์ เช่น สร้างความเข้าใจปัญหา ทำสื่อเพื่อสร้างการตระหนักรู้ และการลงพื้นที่
  • หลังจากที่มีโพสชี้แจงยังคงมีเสียงเรียกร้องให้ฌอนแสดงความโปร่งใส ด้วยการแสดงรายการเดินบัญชีทั้งหมดว่ามีคนโอนเข้ามากี่ครั้ง เป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ และนำไปใช้ในการดับไฟป่าจริง ๆ เท่าไหร่กันแน่

 

ซึ่งในการขอรับบริจาคหรือเรี่ยไรนั้น มีกฎหมายควบคุมมานานแล้ว แต่น้อยคนที่จะทราบขั้นตอนในการขออนุญาตทำการเรี่ยไร โดยมาตรา 4 ในพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไรพุทธศักราช 2487 ให้ความหมายว่า “การเรี่ยไร” หมายความรวมตลอดถึงการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการ ซึ่งมีการแสดงโดยตรงหรือโดยปริยาย ว่ามิใช่เป็นการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการธรรมดา แต่เพื่อรวบรวมทรัพย์สินที่ได้มาทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้ในกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นด้วย

 

การขออนุญาตทำการเรี่ยไร ในที่สาธารณะ และสื่อต่าง ๆ จะจัดให้มีได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรแล้ว โดยจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และจะต้องระบุวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน กำหนดวิธีการที่จะทำการเรี่ยไร จำนวนเงิน สถานที่ทำ และวิธีการเก็บรักษาหรือทำบัญชีเงิน รวมถึงจะต้องกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการเรี่ยไรและระยะเวลาสิ้นสุดไว้อย่างชัดเจน

 

เมื่อได้รับอนุญาตจะได้ใบอนุญาตซึ่งจะต้องติดตัวอยู่ในขณะทำการเรี่ยไร โดยผู้ที่ขออนุญาตจะต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป จิตไม่ฟั่นเฟือน ไม่เป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ ไม่เคยต้องโทษลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ รับของโจรหรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายลักษณะอาญา และพ้นโทษมาแล้วยังไม่ครบห้าปี ตามมาตรา 11

แต่ถ้าการเรี่ยไรเงินบริจาคมีเจตนาในการฉ้อโกงจะมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 หรือมาตรา 343 ด้วยการแสดงข้อความ อันเป็นเท็จ ต่อประชาชน หรือ ด้วยการปกปิด ความจริง จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

 

ข้อมูล : Poetry of Bitch   

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง