รีเซต

BYD แก้เกมกำแพงภาษีอเมริกา ด้วยการส่งออกรถจากเม็กซิโกแทน เพราะไม่เสียภาษีกว่า 25%

BYD แก้เกมกำแพงภาษีอเมริกา ด้วยการส่งออกรถจากเม็กซิโกแทน เพราะไม่เสียภาษีกว่า 25%
แบไต๋
2 มกราคม 2567 ( 13:05 )
54

จากรายงานของ New York Times ระบุว่าในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนส่งออกมากขึ้นกว่า 851% ไม่แปลกใจว่าทำไมแบรนด์อย่าง BYD ถึงสามารถสร้างยอดขายรถ xEV ได้แซงหน้า Tesla เป็นครั้งแรก รวมถึงส่งออกรถชนะค่ายญี่ปุ่นแบบขาดลอย

แต่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ กำแพงภาษี โดยเฉพาะในประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกาและเป็นตลาดรถอันดับ 2 ของโลก จึงมีผลต่อการทำราคาตัวรถโดยตรง ล่าสุด BYD เหมือนจะมีไม้เด็ดไว้แก้เกมอเมริกา โดยมุ่งเป้าไปที่โซนอเมริกาเหนืออย่างเม็กซิโก ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการรุกตลาดอเมริกามากขึ้นในอนาคต

เรื่องนี้ไม่ได้พูดลอย ๆ เพราะมีสถิติจากสมาคมผู้จัดจำหน่ายยานยนต์แห่งเม็กซิโก (Mexican Association of Automotive Distributors) ระบุว่า มีการส่งออกรถจีน (ทั้ง ICE และ xEV) จากเม็กซิโกไปยังอเมริกาในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 มากขึ้นกว่า 62.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2022

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ เม็กซิโกอยู่ในข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอเมริกา, เม็กซิโกและแคนาคา (USMCA) จึงทำให้การนำเข้านั้นแทบจะปลอดภาษี จึงยิ่งกระตุ้นให้ผู้ผลิตจีน ไม่ว่าจะเป็น BYD (โรงงานกำลังอยู่ในช่วงก่อตั้ง คาดว่าแล้วเสร็จภายในปี 2024), Chery หรือ MG ต่างสนใจที่จะตั้งโรงงานทางตอนใต้ชายแดนของอเมริกา-เม็กซิโก

ปัจจุบันรถ EV ที่ผลิตในจีนจะต้องเสียภาษีนำเข้ากว่า 25% พูดง่าย ๆ ว่า หากตัวรถที่จีนมีราคา 690,000 บาท การส่งออกรถ EV ไปขายที่อเมริกาที่มีกำแพงภาษีสูง อาจจำเป็นต้องทำราคาตัวรถเพิ่มขึ้นไปอีกเกือบสองแสนบาทเลยทีเดียว แต่หากผู้ผลิตจีนย้ายไปผลิตรถ EV ที่เม็กซิโกแล้วส่งออกไปยังอเมริกา อาจยังสามารถขายราคาเดิมที่ 690,000 บาทได้ เพราะภาษีนำเข้าจากเม็กซิโกเหลือเพียง 2.5% และยังมีข้อตกลงที่ว่าผู้ผลิตรถสามารถนำรถเข้าแบบปลอดภาษีได้ หาก 3 ใน 4 ของอะไหล่ตัวรถผลิตในประเทศที่ส่งออกด้วย

นอกจากนี้ไม่ได้มีเพียง BYD เจ้าเดียวที่อาศัยประโยชน์จากการค้าเสรีของอเมริกา อย่าง Polestar แบรนด์ EV หรูในเครือของ Geely สัญชาติจีน แต่เดิมผลิตรถในโรงงาน Renault ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ แต่ด้วยภาษีนำเข้าอเมริกากว่า 27.5% ทำให้ Polestar เริ่มมองหาลู่ทางใหม่ ซึ่งบังเอิญเป็นเจ้าของเดียวกับ Volvo ทำให้ Geely เริ่มวางแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตในโรงงานเดิมของ Volvo ที่รัฐเซาต์ แคโรไลนาแทน ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยลดภาษีนำเข้าไปได้มาก

คำถามสำคัญในเวลานี้คือจะเกิดอะไรขึ้นกับเม็กซิโกต่อไป เม็กซิโกจะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV ของจีน เพื่อส่งออกไปยังอเมริกาหรือไม่ เพราะปัจจุบันเม็กซิโกถือว่าเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ของอเมริกาและยุโรปอยู่แล้ว รวมถึงมีโรงงานผลิตรถยนต์อันดับ 7 ของโลก จนมีฉายาว่า ดีทรอยต์แห่งลาตินอเมริกาใต้ (ไทยเองก็เคยได้ชื่อว่าดีทรอยต์แห่งเอเชียเหมือนกันนะ) เราต้องมาดูว่าอเมริกาจะแก้เกมนี้อย่างไร เพราะล่าสุดดูเหมือน Tesla จะตามไปเปิดโรงงานที่เม็กซิโกแล้วเช่นกัน..มันซะเหลือเกิน

 

ที่มา Fortune

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง