รีเซต

จินตนาการสุดล้ำ ! ยูทูบเบอร์ย้อนเวลาเกือบ 50 ปี ด้วยการจำลองระบบส่งจรวดของสหภาพโซเวียต

จินตนาการสุดล้ำ ! ยูทูบเบอร์ย้อนเวลาเกือบ 50 ปี ด้วยการจำลองระบบส่งจรวดของสหภาพโซเวียต
TNN ช่อง16
27 ตุลาคม 2566 ( 04:03 )
95

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1974 สหภาพโซเวียตเคยเสนอไอเดียระบบส่งจรวดอเล็กเซเยฟ/ซูคอย อัลบาทรอส (Alexeyev/Sukhoi Albatros) ซึ่งก็คือการปล่อยตัวกระสวยอวกาศจากหลังเครื่องบินอวกาศ และเครื่องบินอวกาศ ก็จะบรรทุกอยู่บนเรือไฮโดรฟอยล์อีกที (เรือไฮโดรฟอยล์เป็นเรือประเภทหนึ่งที่ใช้ไฮโดรฟอยล์ (ปีกใต้น้ำ) เพื่อยกตัวเรือขึ้นจากน้ำ ลดการลาก และปล่อยให้แล่นด้วยความเร็วสูงเหนือผิวน้ำ) แต่แน่นอนว่านี่เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น ยังไม่ถูกสร้างขึ้นมาจริง ๆ แต่ช่องยูทูบที่ชื่อเฮซกรายาร์ท (Hazegrayart) ได้นำไอเดียของสหภาพโซเวียต มาจำลองให้เห็น ด้วยการสร้างวิดีโอเรนเดอร์ ว่าถ้ามันเกิดขึ้นจริง หน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร 


ตามข้อมูลของเว็บไซต์เกี่ยวกับอวกาศอย่างแอสโทรเนาติกซ์ (Astronautix) บอกว่าระบบอเล็กเซเยฟ/ซูคอย อัลบาทรอส เป็นระบบปล่อยกระสวยอวกาศ 3 ขั้นตอน และสามารถส่งกระสวยขึ้นสู่อวกาศได้โดยไม่ต้องใช้แท่นยิงหรือแม้แต่รันเวย์ และทุกขั้นตอนสามารถกู้คืนทรัพยากรและนำกลับมาใช้ใหม่ได้


ระบบการส่งกระสวยอวกาศนี้มีฐานล่างสุดเป็นเรือบรรทุกไฮโดรฟอยล์ยาว 70 เมตร หนัก 2,000 ตัน เรียกว่า “อัลบาทรอส โมเมนตัม บล็อก (Albatros Momentum Block)” บนเรือจะมีเครื่องบินอัลบาทรอสปีก 3 เหลี่ยม ยาว 91 เมตร น้ำหนัก 1,250 ตัน เชื้อเพลิงเต็มถัง มีแรงขับ 7.84 ล้านกิโลนิวตัน บนหลังของเครื่องบินอัลบาทรอส ได้บรรทุกกระสวยอวกาศอัลบาทรอส ราเกโตแพลน (Albatros Raketoplan) ยาว 49 เมตร นำ้หนัก 320 ตัน มีแรงขับ 1.96 ล้านกิโลนิวตัน 


โดยหลักการในการปล่อยกระสวยอวกาศขึ้นไป เครื่องบินจะทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนเรือ หลังจากออกตัวแล้ว ความเร็วจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งเรือมีความเร็วอยู่ที่ 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในเวลาไม่ถึง 2 นาที ขณะเดียวกันจุดนี้จะเป็นจุดที่เหมาะสมที่เครื่องบินจะถูกปล่อยให้แยกออกจากหลังเรือไฮโดรฟอยด์ หลังจากนั้นเครื่องบินจะพากระสวยทะยานขึ้นไปยังอวกาศต่อ จากนั้นกระสวยอวกาศจะดีดตัวออกและพุ่งขึ้นไปยังวงโคจรด้วยแรงขับจากจรวดในตัวกระสวยอวกาศเอง ส่วนเครื่องบินที่พาขึ้นไปส่งก็จะร่อนกลับมาลงจอดในพื้นโลก 


ฟังดูเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ แต่มันเป็นไปได้ยาก เพราะเมื่อเรือไฮโดรฟอยด์เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 113 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมันก็จะเกิดปัญหา เพราะความเร็วระดับนี้จะทำให้เกิดโพรงอากาศ (Cavitation) เพราะเกิดความดันต่ำเหนือปีกใต้น้ำ จากนั้นจะนำไปสู่การเกิดคลื่นกระแทก ซึ่งนั่นอาจส่งผลให้เรือไฮโดรฟอยด์เกิดความเสียหาย


ดังนั้นระบบส่งจรวดนี้จึงไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่อย่างไรก็ตาม ช่องยูทูบ Hazegrayart ก็ได้สร้างวิดีโอภาพจำลองขึ้นมา ว่าหากมันเกิดขึ้นจริงแล้วจะเป็นอย่างไร ซึ่งสามารถรับชมได้ผ่านวิดีโอที่อยู่ด้านล่างนี้



ที่มาข้อมูล NewatlasYoutube

ที่มารูปภาพ Youtube

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง