รีเซต

Delta” อันตรายต่อแม่และเด็กในครรภ์...สิ่งที่หญิงตั้งครรภ์ต้องรู้เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์นี้

Delta” อันตรายต่อแม่และเด็กในครรภ์...สิ่งที่หญิงตั้งครรภ์ต้องรู้เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์นี้
TNN World
3 สิงหาคม 2564 ( 10:38 )
71
Delta” อันตรายต่อแม่และเด็กในครรภ์...สิ่งที่หญิงตั้งครรภ์ต้องรู้เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์นี้
Editor’s Pick: “Delta” อันตรายต่อแม่และเด็กในครรภ์...สิ่งที่หญิงตั้งครรภ์ต้องรู้เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์นี้
ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Delta กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดไปทั่วโลกเรียบร้อยแล้ว และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในบางประเทศ ก็ส่งเสียงเตือนถึงผลกระทบต่อสตรีมีครรภ์ด้วย
 
 
 
เรียกร้องหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีน
 
 
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับสูงของอังกฤษหลายคน ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เรียกร้องให้หญิงมีครรภ์เข้ารับวัคซีนต้านโควิด โดยชี้ให้เห็นข้อมูลใหม่ว่า มีคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอังกฤษ เพราะติดไวรัสโควิดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และ 98% ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO แถลงก่อนหน้านี้แล้วว่า ผู้หญิงมีครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยอาการรุนแรง เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ในวัยเดียวกัน และความเสี่ยงอาจสูงขึ้นอีกหากติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Delta ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แพร่เชื้อง่ายและเร็วและสามารถทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยรุนแรงมากขึ้นเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม
 
 
 
“Delta” เพิ่มอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์จริงหรือไม่?
 
 
ไม่ต้องสงสัยว่า ไวรัสโควิดสายพันธุ์ Delta แพร่เชื้อง่ายขึ้นและทำให้อาการป่วยรุนแรงมากขึ้นสำหรับทุกคน รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์
 
 
ข้อมูลล่าสุดที่รวบรวมโดยระบบเฝ้าระวังเกี่ยวกับสูติเวชของสหราชอาณาจักร (UKOSS) แสดงให้เห็นว่าจำนวนหญิงมีครรภ์ที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นในสหราชอาณาจักร เพราะสายพันธุ์ Delta
 
 
“เมื่อเทียบกับโควิดสายพันธุ์เดิมแล้ว ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ทั้ง Alpha และ Delta ทำให้อาการป่วยหนักมากขึ้นในสตรีมีครรภ์” แอนดรูว์ เชนแนน ศาสตราจารย์ด้านสูตินารีเวช ของมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน ระบุในแถลงการณ์ที่ส่งถึงศูนย์สื่อวิทยาศาสตร์ของสหราชอาณาจักร
 
 
เขากล่าวเพิ่มเติมว่า มีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่า 50% ที่ผู้หญิงมีครรภ์ป่วยโควิดต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ, รักษาตัวในห้องผู้ป่วยหนักและมีโรคปอดบวมแทรก
 
 
ข้อมูลของ UKOSS มุ่งเน้นเจาะจงเฉพาะสตรีมีครรภ์เท่านั้น ที่ป่วยเพิ่มขึ้นและมีอาการรุนแรง อย่างไรก็ตาม UKOSS ก็บอกว่า ผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ประชากรทั่วไปในสหราชอาณาจักร ติดเชื้อโควิดเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น
 
 
 
ลูกในครรภ์มีความเสี่ยงอย่างไรหรือไม่?
 
 
การศึกษาก่อนหน้านี้ พบว่า การติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลลัพธ์ด้านลบสำหรับทั้งแม่และทารกในครรภ์ ความเสี่ยงเหล่านี้ ประกอบด้วย ภาวะครรภ์เป็นพิษ, การติดเชื้อ, การเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู และแม้กระทั่งการเสียชีวิต
 
 
จากผลการศึกษาในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเผยแพร่ในวารสารกุมารเวชศาสตร์ JAMA Pediatrics พบว่า สตรีมีครรภ์กว่า 2,000 คน ในสถานพยาบาล 43 แห่ง ใน 18 เมือง มีความเสี่ยงสูงขึ้นที่ทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัสจะคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักแรกเกิดต่ำเช่นกัน
 
 
ข้อมูลใหม่ของ UKOSS ยังพบด้วยว่า 1 ใน 5 ของสตรีมีครรภ์ ที่ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคโควิดรุนแรง คลอดก่อนกำหนด และโอกาสในการคลอดด้วยวิธีการผ่าคลอด หรือ C-section เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และ 1 ใน 5 ของทารกที่เกิดกับมารดาที่ติดเชื้อไวรัสโควิด ก็ต้องถูกนำตัวเข้ารักษาในแผนกทารกแรกเกิดเช่นกัน
 
 
 
การฉีดวัคซีนปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์หรือไม่
 
 
ไม่...ผลการศึกษาและข้อมูลในโลกของความเป็นจริง พบว่า ไม่มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยอะไรเป็นพิเศษสำหรับสตรีมีครรภ์ หรือทารกในครรภ์ ในการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด
 
 
กิลล์ วอลตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารราชวิทยาลัยผดุงครรภ์ (Royal College of Midwives) หรือ RCM ในสหราชอาณาจักร ระบุในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งในวันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า สตรีมีครรภ์หลายแสนคนทั่วโลก ได้รับวัคซีนต้านโควิด, มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันตัวเองให้รอดพ้นจากไวรัสโควิด และยังลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการป่วยรุนแรง หรืออันตรายต่อทารกในครรภ์
 
 
 
นานาประเทศแนะนำหญิงมีครรภ์ฉีดวัคซีน
 
 
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC, คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการฉีดวัคซีนและภูมิคุ้มกันในสหราชอาณาจักร และกลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันของออสเตรเลีย ทั้งหมดต่างแนะนำให้สตรีมีครรภ์เข้ารับการฉีดวัคซีนต้านโควิด ขณะที่ WHO บอกว่า สตรีมีครรภ์ควรจะรับวัคซีน เพราะการฉีดวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าเกิดความเสี่ยง เช่นหากพวกเธออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง
 
 
หลายประเทศให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนให้สตรีมีครรภ์เป็นอันดับแรก รัฐบาลออสเตรเลีย ระบุว่า ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และอายุ 16 ปีขึ้นไปควรรับวัคซีนในขณะนี้ แม้ว่าการฉีดวัคซีนในออสเตรเลียจะเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งปัจจุบันนี้ มีเพียงกลุ่มคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไปเท่านั้นในประชาชนทั่วไป ที่มีสิทธิฉีดวัคซีน ส่วนในรัฐออนแทรีโอ และบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ก็ให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนในกลุ่มสตรีมีครรภ์ก่อนเช่นกัน
 
 
แต่ภาพรวมทั่วโลก จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ (JHU) พบว่า ปัจจุบันนี้ มีเพียง 20 ประเทศที่แนะนำให้ใช้วัคซีนต้านโควิดในสตรีมีครรภ์ ขณะที่อีก 39 ประเทศอนุญาต และยังมีอีก 33 ประเทศที่อนุญาตให้ฉีดวัคซีนได้ในบางสถานการณ์ เช่นหากสตรีมีครรภ์ เผชิญความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโควิด เพราะงานของเธอ หรือมีโรคประจำตัว ซึ่งอาจทำให้มีอาการป่วยรุนแรง
 
 
ข้อมูลของ JHU ระบุด้วยว่า มี 51 ประเทศที่ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนในผู้หญิงท้อง หรือฉีดได้เฉพาะเงื่อนไขบางประการเท่านั้น หลายประเทศ ซึ่งรวมทั้งเยอรมนี ที่อ้างขาดข้อมูลด้านความปลอดภัยอยู่ในกลุ่มนี้ เพราะสตรีมีครรภ์ไม่ได้เข้าร่วมในการทดลองเรื่องความปลอดภัย
 
 
 
จะให้นมลูกอย่างไร?
 
 
WHO แนะนำผู้หญิงที่จะให้นมลูก ควรฉีดวัคซีน และบอกว่า ผู้หญิงไม่ควรหยุดให้นมลูกเนื่องจากการฉีดวัคซีน เพราะการฉีดวัคซีนไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงใด ๆ ต่อทารก
 
 
 
วัคซีนไม่เป็นอันตรายต่อรก หรือทำให้มีบุตรยาก
 
 
เรื่องราวเกี่ยวกับผลกระทบทำให้มีบุตรยากและเป็นอันตรายต่อรกในครรภ์ จากการฉีดวัคซีนโควิด ที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย นักวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจนว่า สิ่งเหล่านี้ไม่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับ ไม่มีพื้นฐานทางชีวภาพใดสนับสนุนคำกล่าวอ้างที่ว่า วัคซีนโควิด-19 สามารถทำอันตรายต่อรกในครรภ์ ซึ่งเป็นอวัยวะที่ให้ออกซิเจนและสารอาหารแก่ทารกที่กำลังเติบโตในระหว่างตั้งครรภ์
 
 
นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนที่ชวนให้คิดว่า วัคซีนชนิดใหม่นี้ จะทำให้เกิดปัญหามีบุตรยาก ในทำนองเดียวกัน มันเป็นไปไม่ได้ที่จะติดเชื้อโคโรนาไวรัสจากวัคซีน เพราะวัคซีนไม่ได้บรรจุไวรัสโควิด-19 ที่มีชีวิต “คุณไม่สามารถติดไวรัสโควิด จากวัคซีนได้ และไม่สามารถส่งต่อเชื้อไวรัสไปสู่ลูกน้อยผ่านทางนมแม่ได้” จากคำแนะนำอย่างเป็นทางการของสำนักงานบริการสาธารณสุขแห่งชาติของสหราชอาณาจักร
 
 
ในความเป็นจริง การวิจัยพบว่า สตรีมีครรภ์ส่วนใหญ่ ที่ฉีดวัคซีนโควิดของ Pfizer/BioNTech และ Moderna สามารถส่งต่อแอนติบอดีป้องกันไวรัสไปยังทารกด้วย โดยวัดได้จากน้ำนมแม่และรก
 
 
ด้วยเหตุนี้ สหราชอาณาจักรจึงเรียกร้องให้สตรีมีครรภ์รีบฉีดวัคซีนต้านโควิดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะไวรัสสายพันธุ์เดลต้า เพิ่มความเสี่ยงมีโอกาสป่วยรุนแรง

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง