รีเซต

เขมรชี้ ไบเดนควรใช้เวลากับผู้นำอาเซียนให้มาก หากมุ่งยกระดับสัมพันธ์จริงจัง

เขมรชี้ ไบเดนควรใช้เวลากับผู้นำอาเซียนให้มาก หากมุ่งยกระดับสัมพันธ์จริงจัง
มติชน
7 พฤษภาคม 2565 ( 13:47 )
47
เขมรชี้ ไบเดนควรใช้เวลากับผู้นำอาเซียนให้มาก หากมุ่งยกระดับสัมพันธ์จริงจัง

นายเกา กิม ฮวน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาใกล้ชิดของสมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ถึงการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 ที่จะมีขึ้นที่กรุงวอชิงตันดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคมนี้ โดยนายเกากล่าวให้ความเห็นว่า ไบเดนควรใช้เวลากับผู้นำอาเซียนให้มากขึ้นในระหว่างการพบปะสุดยอดที่กรุงวอชิงตันในสัปดาห์หน้า หากรัฐบาลสหรัฐมีความจริงจังกับการยกระดับความสัมพันธ์กับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจีนมีอิทธิพลอยู่อย่างมาก ขณะที่ในขณะนี้ยังไม่มีการวางแผนการหารือทวิภาคีระหว่างผู้นำชาติในอาเซียนกับนายไบเดนแต่อย่างใด

 

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ประเทศที่เป็นประธานอาเซียนในปีนี้ กล่าวว่า ผู้นำชาติอาเซียนควรได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพและเสมอภาค และให้โอกาสได้ใช้เวลาที่เป็นประโยชน์กับนายไบเดน

 

“ในฐานะเป็นประเทศใหญ่ ประเทศเจ้าภาพ สหรัฐควรมีน้ำใจกับแขกมากขึ้น ที่บรรดาผู้นำกำลังจะเดินทางไปยังวอชิงตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่(ไบเดน)กำลังจะหารือถึงการยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ให้เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม” นายเกากล่าว โดยอ้างถึงการเสนอให้ยกระดับการมีส่วนร่วมระหว่างสหรัฐและอาเซียน

 

นายเกากล่าวอีกว่า เขาเชื่อว่าเป็นหลักปฏิบัติปกติสำหรับประธานอาเซียน ที่จะได้พบปะกับผู้นำของประเทศเจ้าภาพ ไม่ว่าจะเป็นแบบทางการ หรือไม่เป็นทางการ เพื่อการเจรจาบางอย่าง อย่างไรก็ดี ตนได้รับการบอกกล่าวจากนายแพทริก เมอร์ฟีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกัมพูชาว่า ยังไม่มีกำหนดการหารือทวิภาคี ซึ่งที่เขาทราบการประชุมสุดยอดจะใช้เวลานานอยู่แล้วและนายไบเดนเองก็มีภารกิจมาก

 

ที่ปรึกษาใกล้ชิดของฮุน เซน กล่าวด้วยว่า กัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกับจีน จะไม่เลือกข้างระหว่างสหรัฐและจีน และว่า การลงทุนของสหรัฐในกัมพูชานั้นกำลังเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เขายังกล่าวว่า อาเซียนทำงานร่วมกับทั้งสหรัฐและจีนภายใต้หลักการ”เปิดกว้าง”

 

รอยเตอร์รายงานว่า ทำเนียบขาวสหรัฐยังไม่ได้ให้ความเห็นต่อท่าทีของรัฐมนตรีกัมพูชาเมื่อสอบถามไป แต่นางเจน ซากี เลขานุการฝ่ายสื่อของทำเนียบขาว แถลงกับผู้สื่อข่าวถึงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐที่จะเกิดขึ้นว่า ผู้นำสหรัฐจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้นำอาเซียนในวันพฤหัสบดี(12 พ.ค.) และจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐในวันศุกร์(13 พ.ค.)

โฆษกทำเนียบขาวกล่าวอีกว่า การประชุมสุดยอดดังกล่าวจะเป็นการตระหนักถึงบทบาทสำคัญของอาเซียนในการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต่อความท้าทายเร่งด่วนที่สุดในภูมิภาค และยังเป็นการฉลองวาระครบรอบ 45 ปีของความสัมพันธ์สหรัฐ-อาเซียนด้วย

การประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมผู้นำอาเซียนเป็นครั้งแรกที่กรุงวอชิงตัน และจะเป็นการเยือนทำเนียบขาวเป็นครั้งแรกของสมเด็จฯฮุน เซน ที่ปกครองกัมพูชามาตั้งแต่ปี 2528 ท่ามกลางการเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสหรัฐบ่อยครั้งจากการปราบปรามและจับกุมคุมขังฝ่ายที่เห็นต่าง

นักวิเคราะห์และนักการทูตหลายคนมองว่า ชาติอาเซียนมีความกระตือรือร้นที่จะเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับสหรัฐ แต่รู้สึกผิดหวังกับความล้มเหลวของสหรัฐเกี่ยวกับแผนการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค หลังจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคไป

ต่อประเด็นนี้ นายเกากล่าวว่า กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอินโด-แปซิฟิก(ไอพีอีเอฟ) ของไบเดน ยังคงอยู่ในการดำเนินการให้ความคืบหน้า และสหรัฐให้ความสำคัญกับประเด็นภายในประเทศและวิกฤตในยูเครน โดยเขายังชี้อีกว่า มีรายละเอียดมากมายที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับไอพีอีเอฟ เราเข้าใจดีว่ามีวาระระดับโลกมากมายสำหรับสหรัฐที่ต้องจัดลำดับความสำคัญ แน่นอนว่า ปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่งชาติในอาเซียนอ้างสิทธิพิพาทอยู่กับจีน จะเป็นวาระหนึ่งในการหารือกับไบเดน เช่นเดียวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม

ขณะที่รอยเตอร์ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่ไบเดนจะใช้โอกาสนี้กดดันอาเซียนให้สนับสนุนสหรัฐในการโดดเดี่ยวรัสเซียทั้งทางการทูตและเศรษฐกิจ หลังจากรัสเซียรุกรานยูเครน ต่อประเด็นนี้นายเกากล่าวว่า สมาชิกอาเซียนแต่ละชาติมีจุดยืนที่แตกต่างกันในเรื่องความขัดแย้ง และจุดยืนร่วมกันใดๆ ของอาเซียน จะต้องอยู่บนหลักฉันทามติ

ทั้งนี้ กัมพูชา ที่เป็นประธานอาเซียนในปีนี้ และผู้นำชาติอาเซียนอีก 8 ชาติ รวมถึงสมเด็จฯฮุน เซน คาดว่าจะเดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐครั้งนี้ แต่ไม่รวมผู้นำทหารเมียนมาที่ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมสืบเนื่องจากเหตุรัฐประหารในเมียนมาเมื่อปีที่แล้ว ส่วนฟิลิปปินส์ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในต้นสัปดาห์หน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง