ศาลสูงสุดเยอรมนีชี้ กฎหมายลดโลกร้อนละเมิดสิทธิ ผลักภาระไปยังคนรุ่นใหม่
ศาลสูงสุดเยอรมนีชี้- วันที่ 29 เม.ย. บีบีซี รายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญสูงสุดเยอรมนีมีคำพิพากษา ให้กฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของประเทศ เป็นการละเมิดเสรีภาพพื้นฐานด้วยการผลักภาระในการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ไปยังเยาวชนคนรุ่นใหม่ และให้รายละเอียดไม่เพียงพอเกี่ยวกับการลดการปล่อย CO2 หลังสิ้นสุดในปี 2573
"บทบัญญัติดังกล่าวจะทำให้ภาระในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ตกไปอยู่หลังปี 2573 อย่างหวนคืนไม่ได้" ศาลรัฐธรรมนูญสูงสุดเยอรมนีระบุ ทำให้รัฐบาลเยอรมนีตอนนี้จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายภายในสิ้นปีหน้า
คำพิพากษามีขึ้น 1 สัปดาห์ หลังสหภาพยุโรป หรืออียู เปิดเผยเป้าหมายทะเยอทะยานครั้งใหม่ของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภายใต้กฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบระหว่างรัฐสมาชิกและรัฐสภาอียูเมื่อปี 2562
สหภาพยุโรปจะลดการปล่อยคาร์บอนอย่างน้อย 55% ภายในปี 2573 เทียบเท่าระดับของปี 2543 เป็นไปตามข้อตกลงภูมิอากาศปารีสเมื่อปี 2559 ที่มีจุดมุ่งหมายให้อุณหภูมิโลกสูงไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส และคงที่ 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันผลกระทบเลวร้ายสุดของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีระบุว่า มาตรการปัจจุบันเป็นการละเมิดเสรีภาพของผู้ร้องทุกข์ ซึ่งบางคนยังเป็นเยาวชนมาก เนื่องจากมาตรการดังกล่าวชะลอการดำเนินการมากเกินไปที่จำเป็นต้องบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสจนถึงหลังปี 2575
เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ การลด CO2 ที่ยังมีผลบังคับหลังปี 2573 จะต้องบรรลุผลอย่างรวดเร็วมากขึ้นและในเวลาสั้นๆ หากเยอรมนีใช้สิทธิอย่างเต็มที่ปล่อย CO2 ตามที่ได้รับอนุญาตภายในเวลานี้ คนรุ่นใหม่ในอนาคตอาจต้องเผชิญการสูญเสียอิสรภาพอย่างร้ายแรง
"เสรีภาพแทบทุกอย่างอาจได้รับผลกระทบจากภาระผูกพันในการลดการปล่อยมลพิษในอนาคต เนื่องจากเกือบทุกพื้นที่ของชีวิตมนุษย์ยังเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและถูกคุกคามด้วยข้อจำกัดหลังปี 2573" ศาลรัฐธรรมนูญสูงสุดเยอรมนีระบุ