รีเซต

ธปท.จี้ก้นแบงก์พาณิชย์ เร่งช่วยลูกหนี้ ได้รับผลกระทบโควิด-19 ซ้ำเติม

ธปท.จี้ก้นแบงก์พาณิชย์ เร่งช่วยลูกหนี้ ได้รับผลกระทบโควิด-19 ซ้ำเติม
ข่าวสด
24 พฤษภาคม 2564 ( 17:11 )
45
ธปท.จี้ก้นแบงก์พาณิชย์ เร่งช่วยลูกหนี้ ได้รับผลกระทบโควิด-19 ซ้ำเติม

 

ธปท.จี้ก้นแบงก์พาณิชย์ เร่งช่วยลูกหนี้ ได้รับผลกระทบโควิด-19 ซ้ำเติม มาตรการพักหนี้เอสเอ็มอีที่จะหมดอายุ 30 มิ.ย. อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร

 

 

วันที่ 24 พ.ค.64 นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. และสมาคมธนาคารไทย ได้หารือร่วมกันเพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้เร็วขึ้นและกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น หลังจากที่มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อฟื้นฟู (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ) และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ได้ดำเนินการผ่านมาแล้ว 3 สัปดาห์ นับตั้งแต่ 26 เม.ย.64

 

 

ทั้งนี้ ธปท. และสมาคมธนาคารไทย คำนึงถึงปัญหาและความเร่งด่วนที่ต้องช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมมากที่สุด โดยเฉพาะลูกหนี้เอสเอ็มอีขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ยังพอมีศักยภาพและต้องการสภาพคล่องไปประคับประคองกิจการที่ได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากการระบาดระลอกนี้ ธปท. จึงได้ให้สถาบันการเงินเร่งรัดกระบวนการพิจารณา และหาข้อสรุปกับลูกหนี้โดยเร็ว รวมถึงสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานสาขาในการให้ข้อมูลกับผู้ประกอบการ เพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว เพียงพอ และตรงจุด

 

 

โดยจากข้อมูลล่าสุด พบว่า ยอดการให้ความช่วยเหลือจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ มีทั้งสิ้น 1.6 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ 6.7 พันราย คิดเป็นยอดสินเชื่อเฉลี่ย 2.1 ล้านบาทต่อราย โดย 63% กระจายลงไปยังผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ส่วนโครงการพักทรัพย์พักหนี้ มีมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับโอน 753.12 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 2 ราย และอยู่ระหว่างยื่นขอความช่วยเหลือเพิ่มอีก 2 ราย โดยจากการสอบถามไปยังสมาคมโรงแรม พบว่า มีลูกหนี้จำนวนมากที่ให้ความสนใจ และอยู่ระหว่างการเจรจาระหว่างเจ้าหนี้สถาบันการเงินกับลูกหนี้ จึงคาดว่าจะทยอยเข้ามายื่นเพื่อเข้าโครงการพักทรัพย์พักหนี้เพิ่มเติมในระยะถัดไป

 

 

“ช่วงที่ผ่านมา การดำเนินมาตรการอาจยังไม่ทันต่อความคาดหวังของผู้ประกอบธุรกิจ ส่วนหนึ่งเกิดจากแนวโน้มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังซบเซา เนื่องจากมาตรการด้านสาธารณสุขที่ยังเข้มงวดเพราะการแพร่ระบาดระลอก 3 ทำให้ความต้องการสำหรับสินเชื่อฟื้นฟูอาจยังไม่มากนัก ประกอบกับโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เป็นโครงการที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ อีกทั้งยังคงมีรายละเอียดและเงื่อนไขเฉพาะกรณีที่สถาบันการเงินและลูกหนี้จะต้องเจรจาหารือเพิ่มเติม ทำให้การให้ความช่วยเหลือในช่วงต้นจึงอาจจะยังไม่สูงนัก” นายรณดล กล่าว

 

 

อย่างไรก็ดี ยังมีลูกหนี้เอสเอ็มอีอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนและยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเพื่อนำสินเชื่อฟื้นฟูไปเป็นสภาพคล่องเยียวยากิจการ ธปท. จึงขอให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือเชิงรุกมากขึ้น เพื่อให้การช่วยเหลือถูกกลุ่มเป้าหมายทั่วถึงและทันเวลาสำหรับประคับประคองกิจการที่ถูกซ้ำเติมในการระบาดระลอก 3 จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย แล้วจึงค่อยทยอยปรับสู่การให้สินเชื่อที่มีขนาดวงเงินต่อรายที่เพิ่มขึ้นและระยะเวลาที่ยาวขึ้น

 

 

“มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และพักทรัพย์พักหนี้ เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในระดับหนึ่ง เป็นการตอบโจทย์ลูกหนี้ให้ได้รับสภาพคล่อง แต่การตอบโจทย์หลังสถานการณ์โควิดก็เป็นอีกประเด็นที่ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการ ทั้งการปรับตัว การพัฒนาปรับปรุงธุรกิจซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้สอดรับกับโลกหลังโควิด-19” นายรณดล กล่าว

 

 

สำหรับมาตรการพักหนี้เอสเอ็มอีที่จะหมดอายุในวันที่ 30 มิ.ย. 2564 นั้น อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป คาดว่าจะได้ข้อสรุปต้นเดือน มิ.ย. นี้ โดย ธปท. มองว่าการปรับโครงสร้างหนี้จะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาให้ลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง