รีเซต

ธปท. เปิดกำไรแบงก์พาณิชย์ ปี 64 ทะยาน 1.8 แสนล้าน หลังสินเชื่อเติบโต 6.5% ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

ธปท. เปิดกำไรแบงก์พาณิชย์ ปี 64 ทะยาน 1.8 แสนล้าน หลังสินเชื่อเติบโต 6.5% ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
ข่าวสด
21 กุมภาพันธ์ 2565 ( 17:55 )
72
ธปท. เปิดกำไรแบงก์พาณิชย์ ปี 64 ทะยาน 1.8 แสนล้าน หลังสินเชื่อเติบโต 6.5% ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

ข่าววันนี้ นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2564 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3.03 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 19.9% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 8.89 แสนล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 162.6% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 189.2%

 

ทั้งนี้ ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2564 ขยายตัวที่ 6.5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 5.1% โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัว 7.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขยายตัวในเกือบทุกประเภทธุรกิจ สะท้อนความต้องการเงินทุนของภาคธุรกิจตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับสินเชื่อที่ให้แก่ภาครัฐที่ยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีขยายตัวต่อเนื่อง จากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเป็นสำคัญ

 

สำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 4% โดยสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวได้ต่อเนื่องตามความต้องการสภาพคล่องของภาคครัวเรือน สินเชื่อรถยนต์ทรงตัวสอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวในอัตราชะลอลงตามอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยที่ปรับลดลงจากปีก่อน

 

ทั้งนี้ ในส่วนของคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2564 ในภาพรวมค่อนข้างทรงตัวจากปีก่อน เป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เป็นสำคัญ โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan: NPL หรือ stage 3) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.3 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.98% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยง ด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 6.39% ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่ 6.62%

 

นางสาวสุวรรณี กล่าวอีกว่า ในปี 2564ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 1.81 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 23.6% โดยหลักจากค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลงจากการกันสำรองในระดับสูงในปีก่อน ประกอบกับการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.81% จากปีก่อนที่ 0.69%

 

ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อยตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ และการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ย ทำให้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ลดลงมาอยู่ที่ 2.46%จากปีก่อนที่ 2.63%

 

“ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคุณภาพสินเชื่อในภาพรวมค่อนข้างทรงตัวจากปีก่อน ขณะที่ผลประกอบการปรับดีขึ้นจากปีก่อน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19” นางสาวสุวรรณี กล่าว

 

นางสาวสุวรรณี กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าจากวิกฤติที่หนักและยาวนาน มีความไม่แน่นอนสูง การฟื้นตัวไม่เท่าเทียม ก็อาจส่งผลให้มีลูกหนี้บางกลุ่มทยอยเป็นหนี้เสียมากขึ้น โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มที่ไปไม่ไหวจริง ๆ เช่น ลูกหนี้ธุรกิจกลุ่มที่ปิดกิจการ เลิกกิจการหรือติดต่อไม่ได้ เป็นต้น แต่เชื่อว่าจากการบริหารจัดการและความพยายามของ ธปท. ในการผลักดันให้สถาบันการเงินยังคงช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังไปต่อได้ โดยช่วงต้นอาจมีการปรับโครงสร้างหนี้ ลดการผ่อนชำระลงให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดต่ำลง ซึ่งมาตรการแก้หนี้ระยะยาว (3 ก.ย.) มีผลถึงสิ้นปี 2566 ระหว่างนี้สถาบันการเงินและลูกหนี้สามารถเร่งเจรจาเพื่อหาทางออกได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่าช่วยลูกหนี้ได้ ไม่เช่นนั้นหนีเสียน่าจะปรับเพิ่มขึ้นมากกว่านี้

 

อย่างไรก็ดี มองว่าความต้องการสินเชื่อในระบบสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่าเศณษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ก็หวังว่าลูกหนี้จะดีขึ้นด้วย มีการขยายกิจการ และน่าจะช่วยให้มีความต้องการสินเชื่อเพิ่มเติม ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็มีปัจจัยบวกจากภาพรวมเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4/2564 การใช้มาตรการควบคุมโรคที่น้อยลง และสถาบันการเงินมีการควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลดีกับระบบธนาคารพาณิชย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง