เร่งซอฟต์โลนต.ค.ฟื้นAAV แบงก์ผวาความเสี่ยงรายได้
ทันหุ้น – สู้โควิด – คลังยังเดินหน้าหาซอฟต์โลนการบิน เร่งเจรจาแบงก์พาณิชย์ ไม่เอาแบงก์รัฐอุ้มฝ่ายเดียว เชื่อได้ตามกรอบ ต.ค.นี้ ด้านแบงก์พาณิชย์ ยังไม่เห็นภาพดี หวั่นศักยภาพรายได้ เจาะจงปล่อยเป็นรายๆ ได้ นักวิเคราะห์เชื่อ “วัคซีน” ช่วยได้ แนะเก็งกำไร AAV เหตุมีรายได้ในประเทศชัดเจนเก็งสินเชื่อเป้า 2.06 บาท
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดหาวงเงินสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบินที่มีผลกระทบต่อสภาพคล่อง ว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางกาดำเนินงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ไม่เฉพาะธนาคารของรัฐบาลเท่านั้น เบื้องต้นจะเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา คือภายในเดือนตุลาคมนี้
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ ท่านนายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดให้มีมาตราการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบินภายในเดือนตุลาคม 2563 แต่จะเป็นไปตามกรอบเวลาหรือไม่ ก็ต้องรอดูเพราะการที่ตัวแทนนักเศรษฐศาสตร์เข้ามาพบ ซึ่งก็มีตัวแทนจากธปท.ด้วย ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนเสนอแนะการบริการจัดการวงเงินสินเชื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายไว้หลายประการ เบื้องต้นอาจพิจารณาให้ธนาคารพาณิชย์ในสังกัดกระทวงการคลังดำเนินการนำร่องธนาคารพาณิชย์อื่นๆ
นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า กระทรวงการคลังสามารถพิจารณาขยายระยะเวลา ยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบินออกไปถึงเดือนมีนาคม 2565 ได้ทันที แต่กรณีภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินยังคงไว้ตามที่กระทรวงการคลังได้อนุมัติการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงฯ ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563
@แบงก์ยังห่วงเรื่องรายได้
แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมการบิน ระบุ ผู้ประกอบการสายการบินอยู่ระหว่างรอแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนจากทางภาครัฐบาล รวมถึงธนาคารพาณิชย์ อาทิ หลักเกณฑ์การให้สินเชื่อ, หลักประกัน, หลักทรัพย์ค้ำประกัน ฯลฯ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้ายื่นความประสงค์ขอรับ Soft Loan ตามความจำเป็นของแต่ละสายการบิน ยอมรับว่าการทยอยเปิดให้บริการเที่ยวบินในประเทศ ทำให้มีกระแสเงินสดเข้ามาเสริมสภาพคล่องภายในองค์กรเท่านั้น จึงยังต้องการสภาพคล่องเข้ามาช่วยในระยะสั้น
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า การพิจารณาให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำกับผู้ประกอบการธุรกิจการบินนั้น หลักเกณฑ์สำคัญที่พิจารณาคือ “ศักยภาพการสร้างรายได้” ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต
“ความต้องการบินที่ลดลงทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นปัจจัยกดดันที่ต้องยอมรับว่ากำลังผลิตเกินความต้องการ และผู้ประกอบการเองก็ยังคงทำสงครามราคาอย่างต่อเนื่อง การพิจารณาให้วงเงินก็น่าจะต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ คงมองที่ศักยภาพรายบริษัททั้งในปัจจุบัน ว่าให้วงเงินไปแล้วจะเสริมให้มีแรงส่งต่อไปในอนาคต เพราะกว่าคนจะกลับมาเดินทางปกติก็ต้องมีวัคซีน ฉีดไปแล้วสัก 6 เดือน คือต้องมั่นใจแล้วว่าป้องกันได้ผล ดังนั้นคงให้เป็นรายบริษัท ให้ช่วยทั้งหมดคงต้องหารือกันให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนกว่านี้”
@เลือกAAVเป้า2.06บ.
นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) ระบุ แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินจะทยอยฟื้นตัวตามความเชื่อมั่นของประชาชนในการเดินทางข้ามประเทศ ซึ่งมีปัจจัยหนุนคือพัฒนาการของวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นหลัก แต่การทยอยเปิดเส้นทางบินในประเทศ ควบคู่กับความพยายามเปิดรับชาวต่างชาติของรัฐบาล ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดสภาพคล่องหมุนเวียนในธุรกิจ
พร้อมกันนี้ แนะนำการลงทุนในหุ้นกลุ่มสายการบิน ว่า นักลงทุนควรพิจารณา สัญญาณการฟื้นตัวของรายได้จากการให้บริการในประเทศที่ชัดเจน, การพัฒนาวัตซีนโควิด-19, ความเชื่อมั่นในการเดินทาง แนะนำ ซื้อ” AAV ราคาเหมาะสม 2.06 บาท
“AAV มีฐานลูกค้าคนไทยเป็นหลัก ดังนั้นการเปิดเส้นทางบินในประเทศทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดเข้ามาเสริมสภาพคล่องอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนกรณีที่ธนาคารจะพิจารณาให้วงเงินสินเชื่อถือหรือไม่ถือเป็นปัจจัยหนุนในอนาคต”