รีเซต

ผลประโยชน์ของจีนในเมียนมา โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ผลประโยชน์ของจีนในเมียนมา โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร
TNN ช่อง16
18 กุมภาพันธ์ 2564 ( 04:27 )
156

ไม่ว่าเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมาจะมีต้นสายปลายเหตุอย่างไรหลายคนก็เกิดคำถามว่า ทำไมจีนจึงให้ความสำคัญกับเมียนมามากมายขนาดนี้ ...


ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ จีนและเมียนมาเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นใกล้ชิดกันยิ่ง โดยทั้งสองประเทศมีเส้นพรมแดนระหว่างกันที่ทอดยาวมาจากตอนเหนือที่ติดอินเดียมาถึงตอนใต้ที่ติดกับลาวในระยะทางกว่า2,100 กิโลเมตร 


สำหรับจีนแล้ว ความยาวของพรมแดนจีน-เมียนมาดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง10% ของเส้นพรมแดนโดยรวมของจีน เหตุเพราะจีนเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่และมีพรมแดนรายรอบกับถึง 16 ประเทศ

แต่หากพิจารณาลึกลงไปก็พบว่า เมียนมามีนัยความสำคัญสูงมากกับมณฑลยูนนานเพราะเส้นพรมแดนจีน-เมียนมาเกือบทั้งหมดเป็นของมณฑลยูนนาน


นอกจากนี้ ในเชิงยุทธศาสตร์ จีนยังได้กำหนดให้ยูนนานเป็นอีกสะพานหลักในการเชื่อมโยงกับอาเซียน เมียนมาจึงมีนัยความสำคัญต่อการเชื่อมโยงระหว่างจีน-อาเซียนในมุมมองของจีน


ในทางกลับกัน เส้นพรมแดนจีน-เมียนมาดังกล่าวมีความยาวคิดเป็นถึงราว 1 ใน 3 ของพรมแดนโดยรวมของเมียนมา(เมียนมามีเส้นพรมแดนกับ 3 ประเทศหลัก ได้แก่ ไทย จีน และอินเดีย ตามลำดับ) จึงนับว่ามีความสำคัญในเชิงเปรียบเทียบค่อนข้างสูง


ประการสำคัญ ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ จีนพยายามทุกวิถีทางในการเปิดเส้นทางลงทะเลเพื่อเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศในระยะยาว และเมียนมาเป็นประตูเข้าออกทางตอนใต้ผ่านอ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดียที่สั้นที่สุด


ในประเด็นความมั่นคงนี้เมียนมาเป็นทั้งลูกค้าและพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาว เราจึงเห็นจีนทุ่มสนับสนุนการพัฒนาความพร้อมด้านบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานด้านการทหารแก่เมียนมาอย่างต่อเนื่อง

เมียนมาเป็นลูกค้าอาวุธและยุทโธปกรณ์รายใหญ่ของจีนในหลายปีที่ผ่านมา เครื่องบินรบ รถถัง และกองเรือรบที่เมียนมาจัดหาส่วนใหญ่เมดอินไชน่า ขณะเดียวกัน จีนยังช่วยฝึกอบรมและสนับสนุนการซ้อมรบให้แก่ทหารเมียนมา



เราได้ยินข่าวการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อยกระดับเป็นฐานทัพเรือในซิตเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ที่ยาวเหยียดคุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านซีกตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ และการปรับปรุงเส้นทางถนนราว 900 กิโลเมตรเชื่อมโยงซิตเวกับย่างกุ้ง อดีตเมืองหลวงที่มีฐานทัพเรือหลักตั้งอยู่


อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การพัฒนาความมั่นคงบริเวณหมู่เกาะโคโค่ในอ่าวเบงกอล ซึ่งในอดีตเคยเป็นกรณีพิพาทเรื่องสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของระหว่างเมียนมาและอินเดียโดยจีนสนับสนุนการก่อสร้างท่าเรือและสนามบินเพื่อการทหาร รวมทั้งฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และติดตั้งระบบเรดาห์เพื่อแสวงหาข่าวกรองทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามความเคลื่อนไหวทางการทหารของอินเดียในพื้นที่


ลองนึกภาพตามผมไปก็อาจพบว่า เมื่อจีนช่วยพัฒนาระบบการป้องกันประเทศและระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมาจนเกิดเป็นรูปธรรมแล้ว ภัยคุกคามที่เราเคยได้ยินว่าชาติตะวันตกพยายามปิดล้อมจีนจะถูกเปลี่ยนสถานะเป็นว่า อินเดียซึ่งเป็นพันธมิตรของชาติตะวันตก จะเป็นฝ่ายที่ถูกจีนปิดล้อมภายในสิ้นทศวรรษนี้ 


จีนได้วางแผนและใช้เวลากับการวางแต่ละเม็ดในกระดานหมากล้อมเชิงยุทธศาสตร์อย่างสุขุมเยือกเย็นและลุ่มลึกยิ่ง เพราะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ทุ่มเททรัพยากรเพื่อพัฒนาความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับหลายประเทศในเอเชียใต้ อาทิ ศรีลังกา มัลดีฟ และปากีสถาน รวมทั้งประเทศทางตอนเหนือของอินเดีย และตะวันออกกลาง


ในด้านเศรษฐกิจ เมียนมาก็มีความสำคัญต่อจีนค่อนข้างสูงเมียนมามีจำนวนประชากรราว 55 ล้านคน แม้ยังเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำอยู่ในปัจจุบัน แต่ความต้องการของเมียนมาก็เหมาะกับสินค้าจีนที่มีราคาถูก และสอดคล้องกับระดับมาตรฐานการครองชีพของคนท้องถิ่น 


ขณะเดียวกัน เมียนมายังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และใกล้จีน อาทิ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ไม้สัก โลหะมีค่า และพลอยสี โดยเฉพาะอย่างยิ่งทับทิมและหยก


จึงไม่ต้องแปลกใจที่เราเห็นจีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของเมียนมา โดยมูลค่าการค้าโดยรวมขยายตัวในอัตราที่สูงตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเกินดุลการค้าของจีนที่มีต่อเมียนมาก็กำลังเปลี่ยนสถานะอย่างรวดเร็ว อันเนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติจากเมียนมาไปยังจีน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ และพลอยสี


แต่ไม่ว่าเราจะมองการค้าจีน-เมียนมาในมุมมองของ Zero-Sum หรือ Positive-Sum Game ผมก็ยังเห็นว่า จีนได้รับประโยชน์ในหลายด้านจากการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับเมียนมาอยู่ดี

ขณะที่ในด้านการลงทุน นับแต่เมียนมาออกกฎหมายการลงทุนของต่างชาติเมื่อปี 1988 การลงทุนของต่างชาติในเมียนมาก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีอัตราการขยายตัวสูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

 

การส่งออกทรัพยากรธรรมชาติไปจีนดังกล่าวก็มีลักษณะพิเศษในประเด็นนี้ กล่าวคือ กิจการจีนเข้าไปมีบทบาทในการลงทุนทำธุรกิจต้นน้ำในเมียนมาอยู่เป็นจำนวนมาก โดยกิจการของจีนในหลากหลายรูปแบบได้เปิดเกมส์เจรจาและจัดสรรผลประโยชน์กับเมียนมาในรายสินค้ากันอย่างลุ่มลึก


จากข้อมูลของธนาคารโลกพบว่าจีนเข้าไปลงทุนในเมียนมาเป็นอันดับ 2รองจากสิงคโปร์ในปัจจุบันโดยส่วนใหญ่เป็นกิจการจากมณฑลยูนนาน


นอกจากศักยภาพด้านแหล่งวัตถุดิบและตลาดแล้ว เมียนมายังมีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นฐานการผลิตและกระจายสินค้าในภูมิภาคในระยะยาว


ในเชิงภูมิศาสตร์ เมียนมาตั้งอยู่ระหว่างจีนและอินเดีย ซึ่งมีประชากรมากที่สุดอันดับ 1 และ 2 ของโลก ตามลำดับรวมทั้งไทย ซึ่งเป็นประตูในการเชื่อมสู่ตลาดอาเซียนในวงกว้าง ทั้งนี้ จีน อินเดีย และอาเซียนมีประชากรรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกในปัจจุบัน และเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจใหญ่เหล่านี้เติบโตในอัตราเฉลี่ย 2 เท่าตัวของโลก เป็นทั้งตลาดและฐานการผลิตใหญ่ไปพร้อมกัน 


กลุ่มเศรษฐกิจนี้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และเป็นดั่ง “3 ไข่แดง” ที่หอมหวลในอนาคตแถมยังมีศักยภาพที่จะก้าวเป็นกลุ่มผู้นำเศรษฐกิจโลกในไม่กี่ปีข้างหน้า 


ในด้านอุปทานเมียนมายังมีแรงงานราคาถูกเป็นจำนวนมาก โดยมีสัดส่วนคนในวัยทำงานต่อประชากรโดยรวมที่สูง แรงงานเหล่านี้บางส่วนยังออกไป “ขุดทอง” แสวงหาความมั่งคั่งที่มากกว่าจากต่างประเทศ และส่งเงินกลับประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นคนของประเทศอื่นในอาเซียนที่กระทำมาในอดีต 


ด้วยความพร้อมด้านปัจจัยการผลิตในหลายส่วนของเมียนมา เมื่อผนวกเข้ากับความต้องการที่มากมายและหลากหลายของจีน ก็ทำให้ภาคการผลิตดั้งเดิมในจีนที่เป็นอุตสาหกรรมทรัพยากรและแรงงานไร้ฝีมือเข้มข้นและหาที่ยืนลำบากในจีนต้องหาแหล่งลงทุนใหม่ที่มีปัจจัยการผลิตพร้อมสรรพที่ใกล้บ้าน เพื่อสามารถรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคาในตลาดจีน


เมียนมานับเป็นหนึ่งในประเทศที่ตอบโจทย์ดังกล่าว ความใกล้ชิดในทางภูมิศาสตร์ดังกล่าว และสิทธิปประโยชน์ด้านภาษีอากรที่จีนให้แก่สินค้านำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็ช่วยให้การกระจายฐานการผลิตจากจีนไปยังเมียนมาเกิดง่ายขึ้นไปอีก




นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจีนที่ย้ายฐานการผลิตไปยังเมียนมาก็อาจได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมทางการเงินและการคลังจากรัฐบาลจีน ผ่านนโยบายบุกโลก BRI และอื่นๆ

ประการสำคัญ สินค้าที่ผู้ประกอบการจีนผลิตขึ้นในเมียนมาและส่งกลับไปจำหน่ายในตลาดจีน หรือส่งต่อไปยังอินเดีย และอาเซียน จะมีความได้เปรียบในด้านลอจิสติกส์อีกด้วย นอกจากนี้ สินค้าเหล่านี้ยังอาจได้รับ “จีเอสพี” สิทธิพิเศษทางการค้าจากหลายประเทศตะวันตก 


ยิ่งหากเราพิจารณาถึงแรงกดดันจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ และมาตรการกีดกันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เมียนมาก็ยิ่งเป็นประเทศที่จีนให้ความสนใจเข้าไปลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น


ในด้านธุรกิจบริการเมียนมามีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่ดียิ่ง หากระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวได้รับการพัฒนา เมียนมาจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจอีกมากมายในระยะยาว 


อย่างไรก็ดี การเข้าไปรุกขยายตลาดเมียนมาของจีน ทำให้เราเห็นหลายเมืองของเมียนมาเต็มไปด้วยคนจีน สินค้าจีน และป้ายโฆษณาภาษาจีน จนบางคนที่แวะเวียนเข้าไปเมืองเหล่านี้ยังคิดว่าพลัดหลงเข้าไปเมืองจีนก็มีซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารจีนจำนวนมากผุดขึ้นในหลายเมืองใหญ่ของเมียนมา ธุรกิจเหล่านี้เป็นช่องทางที่นำไปสู่การเพิ่มอุปสงค์สินค้าจีนตามมา อันนำไปสู่การส่งออกวัตถุดิบอาหารและเครื่องดื่มจากจีน รวมทั้งการเผยแพร่วัฒนธรรมจีน


ทศวรรษนี้อาจถือเป็นการฟื้นตัวของความนิยมในวัฒนธรรมจีนของชาวเมียนมา อาทิ ระบบอาวุโส ความนิยมในสินค้า และวัฒนธรรมการรับประทานอาหารจีน ไม่ต้องแปลกใจที่การเดินทางไปเมียนมาในครั้งหน้า ท่านจะสังเกตเห็นคนเมียนมาใช้ตะเกียบคล่องขึ้น หรือแม้กระทั่งดื่มน้ำเย็นน้ำแข็งน้อยลง 


ยิ่งหากเราพิจารณารวมถึงโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จีนเข้าไปขายบริการวิศวกรรมก่อสร้างและเทคโนโลยีในเมียนมาด้วยแล้ว ก็จะพบว่า ผลประโยชน์ของจีนในเมียนมามีอยู่สูงยิ่ง และจะเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต


ในช่วงที่ผ่านมา จีนได้จัดสรรเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำแก่รัฐบาลเมียนมาเพื่อลงทุนในสารพัดโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ก่อสร้างเขื่อน สะพาน ถนน ท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรมหลายฝ่ายเห็นว่า โครงการเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างมากกับจีน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม 


ตัวอย่างเช่น โครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติระยะทาง 2,380 กิโลเมตรจากรัฐยะไข่ไปยังมณฑลยูนนานก็ช่วยให้จีนสามารถนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางโดยไม่ต้องขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งอีกด้วย


ขณะที่โครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำอิรวดี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักและเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญที่สุดของประเทศ ก็ถูกวางแผนเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนหลายประเทศในภูมิภาค อาทิ ไทย อินเดีย และบังคลาเทศ แต่ส่วนใหญ่ก็จะถูกส่งไปยังจีน โครงการนี้ก็ถูกกระแสต่อต้านจากคนท้องถิ่นและถูกดองเค็มต่อเนื่องในช่วงหลายปีหลัง


นักวิชาการบางท่านตั้งข้อสังเกตว่า นับแต่รัฐบาลเมียนมา ภายใต้การนำของอองซาน ซูจีขึ้นบริหารประเทศ เมียนมาพยายามถ่วงดุลอำนาจโดยขยับเข้าหาชาติตะวันตกมากขึ้น ส่งผลให้ความสัมพันธ์กับจีนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่ราบรื่น และกระทบต่อแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมาที่เคยวางไว้จนทำให้อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่มีการทำรัฐประหารในเมียนมาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


ประการสำคัญ จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่า จีนมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากกว่าครึ่งหนึ่งในเมียนมา จีนยังต้องการยกระดับความสัมพันธ์กับเมียนมาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและมุ่งสานต่อการดำเนินโครงการตามนโยบาย BRI ให้เกิดเป็นรูปธรรม

 

การเดินทางเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเมื่อกลางเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ก็ตอกย้ำถึงการให้ความสำคัญยิ่งกับเมียนมาเป็นอย่างดี


เพราะนอกจากโอกาสฉลองครบรอบ 70 ของการสถาปนาทางการทูตระหว่างจีนและเมียนมา นี่ยังเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ20 ปีที่ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนเยือนเมียนมาหลังจากที่เจียง เจ๋อหมินเยือนอย่างเป็นทางการเมื่อคราวก่อน


การเดินทางเยือนในครั้งนี้ยังนำไปสู่การลงนามในบันทึกความเข้าใจและความตกลงจำนวนกว่า 30 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การค้า การผลิต เขตเศรษฐกิจพิเศษ และอื่นๆ ตามแผนแม่บทการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา


โครงการสำคัญที่ค้างคาอยู่ถูกนำมาปัดฝุ่นและสานต่ออีกครั้ง อาทิ ท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษจ้าวผิ่วรถไฟความเร็วสูงระหว่างมูเซกับมัณฑะเลย์เมืองใหม่ย่างกุ้งขนาด 30,000 ไร่ที่ตั้งอยู่ด้านซีกตะวันตกของฝั่งแม่น้ำ และเขตพัฒนาเศรษฐกิจมยิจีนา เมืองเอกของรัฐคะฉิ่นซึ่งเป็นเขตเหนือสุดของเมียนมา

 

รวมทั้งเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจชายแดนจีน-เมียนมาร์ใน 3 เมืองชายแดนจีน-เมียนมาได้แก่ กันปิเกติ เมืองชายแดนที่เป็นประตูการค้าสำคัญในรัฐคะฉิ่น เมืองฉิ่นฉ่วยฮอ และเมืองมูเซในรัฐฉานที่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกสุดของเมียนมาติดกับมณฑลยูนนาน



นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจอันดับ 2 ของเมียนมาร์กับเมืองจ้าวผิ่วในรัฐยะไข่

 

หากทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น จีนจะมีเส้นทางขนส่งทางถนน รถไฟ และทางท่อจากชายแดนจีน-เมียนมายาวพาดผ่านเมียนมาลงถึงเมืองจ้าวผิ่วในซีกตะวันตกเฉียงใต้ก่อนสิ้นทศวรรษนี้




นอกจากนี้ จีนยังกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตผ่านวัคซีนโควิด-19 หรือเป็นวาระ“เส้นทางสายไหมด้านสุขภาพ” โดยตกลงที่จะเร่งช่วยเหลือเรื่องวัคซีนและการต่อสู้เชื้อโควิด-19 เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของเมียนมา และลดความเสี่ยงที่จะกระจายตัวสู่จีนตามแนวพรมแดนจีน-เมียนมาที่ยาวเหยียดพอๆ กับไทย-เมียนมา


มองออกไปข้างหน้า จีนยังหวังให้ปัญหาโควิด-19 ของเมียนมายุติลงเพื่อให้การจะเป็นประเทศผู้ประสานงานของอาเซียนใน 3 ปีข้างหน้าดำเนินไปอย่างราบรื่น จีนหวังเปลี่ยนโมเมนตัมของกรณีพิพาทเรื่องพื้นที่ทับซ้อนระหว่างจีนกับหลายประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนไปจะสู่การพัฒนาระหว่างกัน โดยมีเมียนมาเป็นต้นแบบ


เมียนมาจึงเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในด้านเศรษฐกิจที่ครบเครื่อง ทั้งตลาด แหล่งทรัพยากร แหล่งลงทุน และอื่นๆ ที่มีศักยภาพสำหรับจีนในระยะยาว


ผมเชื่อมั่นว่า จีนจะต้องการเพิ่มระดับความร่วมมือกับเมียนมา ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ และใช้ประโยชน์จากพัฒนาการของกรอบความร่วมมือจากความเป็นประเทศเพื่อนบ้าน กรอบ FTA อาเซียน-จีนไปสู่ RCEP ในอนาคตซึ่งตอกย้ำว่า จีนและเมียนมาจะมีระดับการพึ่งพาทางเศรษฐกิจระหว่างกันที่มากขึ้นในระยะยาว


แต่การขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและซอฟท์พาวเวอร์ของจีนในเมียนมาจากนี้ไปก็ต้องดำเนินไปอย่างระมัดระวังยิ่ง เพราะจีน-เมียนมาก็มีประเด็นความขัดแย้งเกิดขึ้นเป็นระยะ และเกิดกระแสต่อต้านจีนบ่อยและมากขึ้นในระยะหลัง 


แม้กระทั่งการยึดอำนาจครั้งล่าสุดก็อาจทำให้ความรู้สึกเชิงลบของคนเมียนมาที่มีต่อจีนเป็นทุนเดิมขยายวงได้ การเดินขบวนไปยังบริเวณหน้าสถานทูตจีนในกรุงเนปิดอว์เมื่อหลายวันที่ผ่านมาก็เป็นภาพสะท้อนหนึ่ง

แม้ว่ารัฐบาลทหารได้ประกาศใช้เวลาในการจัดระเบียบการเมืองของประเทศเป็นเวลา1 ปีอาจไม่ทำให้การพัฒนาความร่วมมือในอาเซียนหยุดชะงักมากหรือนานนัก แต่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจกับประเทศที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคในวงกว้างได้


รัฐบาลจีนจึงยึดหลักการเดิมของการไม่แทรกแซงกิจการภายในของต่างประเทศ โดยเรียกร้องให้ฝ่ายทหารและพรรคเอ็นแอลดีพูดคุยหารือกันภายใต้กรอบของกฎหมาย และห้ามมิให้คนจีนในเมียนมาไปยุ่งย่ามในเรื่องการเมืองท้องถิ่น 


จีนต้องการเห็นความสงบกลับคืนสู่เมียนมา เพราะนั่นหมายถึงการสานต่อการดำเนินหลายนโยบายที่จีนผลักดันอยู่ให้เกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างต่อเนื่อง


รัฐบาลจีนตระหนักดีว่า การเมืองในเมียนมามีจุดเด่นในเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และอยู่ระหว่างการเปลี่ยนถ่าย แม้จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสายทหาร แต่ก็พยายามรักษาสมดุลในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับทั้งสองค่ายของเมียนมา 


เพราะจีนก็คิดเผื่อไว้ว่า หากเอนเอียงให้ฝ่ายทหารจนออกนอกหน้า ก็อาจทำให้กระแสความไม่พอใจของคนท้องถิ่นต่อจีนขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งหากการเมืองพลิกผันและพรรคเอ็นแอลดีกลับมามีอำนาจ จีนก็อาจเสียศูนย์และต้องใช้เวลาอีกนานในการกอบกู้สถานการณ์ได้


จีนและเมียนมาไม่อาจแยกจากกันในเชิงภูมิศาสตร์ และพึ่งพาระหว่างกันสูงยิ่งในเชิงเศรษฐกิจ ประการสำคัญเมียนมามียุทธภูมิที่สำคัญกับจีนมากในด้านความมั่นคง ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยหรือรัฐบาลทหาร ผมก็เชื่อมั่นว่า จีนจะยังคงให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับเมียนมาต่อไปในอนาคต และเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรที่ดีระหว่างกันในระยะยาว


จีนจะยังคงกอดเมียนมาแน่น และไม่ต้องการให้ประเทศใดมาพรากไปจากอ้อมอกอย่างแน่นอน... 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง