รีเซต

ออสซี่ตะลึงแมงมุมยักษ์ เขี้ยวคมกัดทะลุเล็บ-พิษสงร้ายแรง

ออสซี่ตะลึงแมงมุมยักษ์ เขี้ยวคมกัดทะลุเล็บ-พิษสงร้ายแรง
ข่าวสด
16 พฤศจิกายน 2564 ( 16:05 )
715

ออสซี่ตะลึงแมงมุมยักษ์ - วันที่ 16 พ.ย. ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญจากสวนสัตว์เลื้อยคลาน Australian Reptile Park ประเทศออสเตรเลีย ตกตะลึงหลังได้รับบริจาคแมงมุมใยกรวยออสเตรเลียที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่ทางสวนสัตว์เคยพบมา

 

แมงมุมดังกล่าวได้รับขนานนามว่า เม็กก้า สไปเดอร์ หรือเจ้าแมงมุมยักษ์ มีความยาว 8 เซนติเมตร (ขาหน้าถึงขาหลัง) เขี้ยวยาวถึง 2 ซม. และขนาดลำตัวยาว 5 ซม. สร้างความตื่นตะลึงให้กับชาวออสเตรเลีย

 

นายไมเคิล เทต เจ้าหน้าที่วิชาการของสวนสัตว์ Australian Reptile Park นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า แมงมุมตัวนี้มีขนาดใหญ่ผิดปกติ หากมีผู้พบเห็นควรนำมันมามอบให้สวนสัตว์เพื่อนำเข้าโครงการผลิตเซรุ่มแก้พิษแมงมุม โดยตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่ต้องการทราบว่าแมงมุมตัวนี้เคยอยู่อาศัยยบริเวณใดของนครซิดนีย์ เพราะอาจมีพวกมันมากกว่านี้

 

ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ออสเตรเลีย ระบุว่า แมงมุมใยกรวยออสเตรเลีย (Australian funnel-web spider) มีขนาดลำตัวเฉลี่ย 1 ถึง 5 ซม. ทำให้แมงมุมตัวล่าสุดที่สวนสัตว์ได้รับบริจาคมานั้นนับว่ามีขนาดใหญ่ แต่ไม่ถือว่าเป็นแมงมุมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาแมงมุมทั้งปวง

 

รายงานระบุว่า แมงมุมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน คือ แมงมุมทารันทูล่า หรือแมงมุมเสียงหวีด จากพฤติกรรมที่พวกมันจะส่งเสียงหวีดออกมาหากรู้สึกถูกคุกคามและพร้อมจะโจมตีตอบโต้ โดยสายพันธุ์ที่พบในออสเตรเลีย (Selenocosmia crassipes) มีขนาดลำตัวถึง 6 ซม. และยาวถึง 16 ซม. หากวัดจากขาหน้าถึงหลัง

แมงมุมทารันทูล่า

 

ส่วนแมงมุมใยกรวย (Atrax robustus) นั้นแม้มีขนาดเล็กกว่า แต่ถือเป็นแมงมุมที่มีพิษสงร้ายแรงที่สุดในบรรดาแมงมุมของออสเตรเลีย เพราะเป็นหนึ่งในแมงมุมที่มีพิษรุนแรงและออกฤทธิ์รวดเร็ว เคยมีผู้ถูกกัดเสียชีวิต 13 ราย ในออสเตรเลียตั้งแต่มีการบันทึกมา

 

กรณีดังกล่าวส่งผลให้ทางการออสเตรเลียริเริ่มโครงการผลิตเซรุ่มต้านพิษแมงมุมเมื่อปี 2524 ทำให้ไม่เคยมีผู้เสียชีวิตจากแมงมุมชนิดนี้อีก แต่แมงมุมชนิดนี้ยังคงเป็นที่หวาดกลัวของชาวนครซิดนีย์ เพราะเป็นท้องถิ่นที่พวกมันอาศัยอยู่

 

ทั้งนี้ แมงมุมตัวดังกล่าวถูกบุคคลนิรนามนำใส่ทับเปอร์แวร์มาทิ้งไว้บริเวณชายฝั่งนครซิดนีย์ โดยเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างสืบหาที่มา โดยหวังว่าจะนำไปสู่การค้นพบพวกมันอีกจำนวนมาก นำมาใช้ผลิตเซรุ่มแก้พิษ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง