รีเซต

กะเพราแดง แหล่งยาดี มีคุณค่าทางอาหารสูง

กะเพราแดง แหล่งยาดี มีคุณค่าทางอาหารสูง
เทคโนโลยีชาวบ้าน
9 พฤศจิกายน 2564 ( 10:37 )
267
กะเพราแดง แหล่งยาดี มีคุณค่าทางอาหารสูง

ในสภาวะวิกฤติโรคระบาด ภัยคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 ไข้เลือดออก หรือแม้แต่ไข้หวัดธรรมดาๆ ที่คนบ้านเราประสบพบเจอมาชั่วนาตาปี เมื่อก่อนการเข้าถึงยารักษาโรค ที่นักการแพทย์คิดค้นขึ้นมา ใช้รักษาคนไข้ให้หายจากโรคภัยหลายๆ อย่าง เข้าถึงยาก เพราะยาหายาก ราคาสูง แม้แต่ในปัจจุบันนี้ก็เช่นเดียวกัน เข้าได้ไม่ทั่วถึง และยาบางตัวก็มีราคาสูงเท่าทองคำ แต่คนเรามันก็ยังเวียนว่ายอยู่ในโลก เกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นนั้น จึงมีการคิดค้น เอาองค์ความรู้สมัยเก่าก่อน ที่เรียกว่า “ภูมิปัญญา” มาใช้ หรือประยุกต์บ้าง โดยเฉพาะภูมิปัญญาด้านยารักษาโรค ที่เรียกกันว่า “สมุนไพร”

 

 

หลายท่านคงรู้จักพืชชนิดนี้ “กะเพรา” พืชที่เป็นทั้งผัก เป็นทั้งสมุนไพร ที่รู้จักกันมี 2 ชนิด คือ กะเพราขาว และกะเพราแดง ทั้ง 2 อย่างเป็นผักมากคุณค่าเหมือนกัน นำมาทำอาหารได้หลายอย่าง แต่กะเพราแดง หายากกว่า ไม่ค่อยมีแพร่หลายเหมือนกะเพราขาว กะเพราแดงมีกลิ่น รส หอมฉุนรุนแรงกว่า นิยมนำมาเป็นยามากกว่านำมาทำอาหาร แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะนำมาทำอาหารไม่ได้ เพียงแต่เป็นผักที่หายากกว่าเท่านั้นเอง ก็มีกระจายไปอยู่ในสวนที่ต่างๆ แต่ไม่ค่อยพบที่ปลูกกันเป็นแปลงเป็นกลุ่มใหญ่ๆ และมีหลายท่านที่นิยมอาหารยอดนิยม เช่น กะเพราไก่ไข่ดาว เขาชื่นชอบแต่ผัดกะเพราขาว เลยยังไม่เคยลิ้มลองรสชาติของกะเพราแดง ว่าแตกต่าง หรือเหมือนกันอย่างไร

 

กะเพราแดง หรือ Red Holy Basil เป็นพืชในวงศ์ LAMIACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ocimum tenufiorum L. ชื่อเรียกอื่นๆ เช่น เชียงใหม่ เรียก กอมก้อดง ภาคกลาง เรียก กะเพราขน กะเพราแดง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียก อีตู่ไทย ชนเผ่าที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน กะเหรี่ยง เรียก กอมก้อดำ พี่น้องรัฐฉาน เรียก ห่อกวอซู ห่อตูปลู อิ่มคิมหลำ และยังมีอีกหลายชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ

 

พืชในตระกูลนี้ นอกจากกะเพราขาว ยังมีแมงลัก โหระพา กะเพราควาย หรือโหระพาช้าง หรือกะเพราญวน หรือจันทร์จ้อ จันทร์หอม หรือเนียมยี่หร่า เป็นพืชล้มลุก แต่มีอายุยืนยาวกว่าพืชผักทั่วไป มีอายุหลายปี เป็นพืชในเขตร้อนในถิ่นโลกเก่า เช่น เอเชีย แอฟริกา พบมากในแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือแถบอาเซียน โดยเฉพาะเมืองไทยเราแพร่ขยายพันธุ์ได้โดยเมล็ด เป็นสมุนไพรในตำรายาไทย ใช้รักษาโรคต่างๆ ได้มากกว่า 10 โรค เป็นผักที่มีกลิ่นหอมฉุน รสเผ็ด ต้น ใบ กิ่ง มีสีคล้ำ สีเขียวอมแดง หรือเขียวอมม่วงแดง ใช้ใบเป็นอาหาร ใช้ทุกส่วนของลำต้นเป็นยารักษาโรคสารพัด

 

 

คุณค่าทางอาหาร และมีสารประกอบในส่วนต่างๆ ของต้นกะเพราแดง ในกะเพราแดง 100 กรัม ประกอบด้วย ไขมัน 0.5 กรัม คาร์โบไฮเดรต 2.3 กรัม โปรตีน 4.2 กรัม เบต้าแคโรทีน 2.5 มิลลิกรัม วิตามินซี 83 มิลลิกรัม สังกะสี 0.15 ไมโครกรัม โครเมียม 2.9 ไมโครกรัม ทองแดง 0.4 ไมโครกรัม เหล็ก 2.32 ไมโครกรัม และยังมีเส้นใยอาหาร น้ำตาล โซเดียม ฟอสฟอรัส นิกเกิล วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามิน วิตามินบี3 วิตามินบี5 วิตามินบี6 วิตามินบี9 วิตามินเอ ฯลฯ

 

กะเพราแดง เป็นที่รู้กันว่า นิยมนำมาทำยาสมุนไพร แต่มีหลายคนที่นิยมนำมาประกอบอาหาร เพราะได้รสชาติที่เรียกว่า แรงกว่า ผัดกะเพราหมู กะเพราไก่ กะเพราเนื้อ ใส่ต้มโคล้งหัวปลา แกงเลียง แกงป่า ต้มยำปลา ต้มยำไก่ ผัดฉ่าปลาหมึก ผัดฉ่าปลาดุก ไข่เจียวใบกะเพรา ข้าวต้มทะเล ใบกะเพราทอดกรอบ ส่วนของใบที่นำมาทำอาหาร เป็นลักษณะใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ใบยอดมีขนอ่อน เนื้อใบบาง ใบเล็กกว่ากะเพราขาว รูปร่างใบรูปรี หรือรีขอบขนาน กว้างยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ปลายใบโคนใบแหลม หรือมน ขอบใบหยัก กลิ่นกะเพราหอมแรงกว่า และกลิ่นชัดเจนกว่า มีระบบรากแก้วที่แข็งแรง ลำต้นแข็งแรง ยิ่งอายุมากจะมีต้นที่โตและแข็งแรงมาก คนที่รู้วิธีการปลูกดูแลรักษาต้นกะเพรา สามารถที่จะปลูกและเลี้ยงต้นกะเพราได้ให้มีต้นสูงท่วมหัว พุ่มใหญ่ อายุยืนหลายปี

 

 

สรรพคุณทางยาของกะเพราแดง รักษาอาการวิตกกังวล เครียด ซึมเศร้า ช่วยป้องกันรักษาดวงตา ป้องกันแก้วตาขุ่น ฟื้นฟูจอประสาทตา บำรุงสายตาช่วยในการมองเห็น ลดอาการบวมของเส้นประสาทตาจากการป่วยโรคเบาหวาน รักษาอาการกรดไหลย้อน แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นหน้าอก แก้คลื่นเหียนอาเจียน รักษาแผลในกระเพาะ ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ซางตานขโมย ตำผสมยามหาหิงคุ์ ทาสะดือเด็กแก้ปวดท้อง ช่วยเพิ่มน้ำนมสตรีหลังคลอด รักษากลาก เกลื้อน รักษาโรคหูด น้ำคั้นจากใบกะเพราแดงช่วยขับเหงื่อ ขับเสมหะ แก้ไข้ ขับลม แก้ปวดหลัง หยอดแก้ปวดหู กะเพราผงชงดื่มบำรุงธาตุ และลดน้ำตาลในเลือดในปัสสาวะ เมล็ดแช่น้ำพองเป็นเมือกใช้พอกตาเมื่อมีขี้ผงฝุ่นเข้าตาไม่ให้ขอบตาช้ำบวม น้ำมันกะเพราใช้ป้องกันและไล่ยุงได้

 

 

ปลูกกะเพราแดงไว้ที่บ้านสักต้นหนึ่ง นอกจากจะเป็นพืชอาหาร เป็นสมุนไพรใช้รักษาโรคในยามจำเป็นแล้ว กะเพราแดง ยังเป็นไม้ประดับให้ความสวยงาม เป็นไม้ที่ชาวฮินดูเคารพเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นไม้ที่เกี่ยวพันถึงนางลักษมี พระชายาพระวิษณุ หรือองค์พระนารายณ์ ใช้ในพิธีกรรมบูชาพระวิษณุ ชาวฮินดูจึงเรียกกะเพรา ว่า TULASI แปลว่า ไม่มีสิ่งใดเปรียบเทียบได้ หรืออยู่ในฐานะสูงส่ง ชาวคริสต์ ถือว่าเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน ด้วยถือว่าเป็นลูกไม้ที่งอกออกมาจากหลุมศพพระเยซู และที่น่าสนใจ มีในวรรณกรรมโบราณ ว่าถึงตัวเอกในละคร ที่ตั้งใจรดน้ำต้นกะเพราด้วยหยดน้ำตา เป็นสัญลักษณ์ของความรู้สึกแห่งความฉุน ความโกรธ ความรัก ความอาลัย รักในใบ “กะเพราแดง”

 

บทความที่เกี่ยวข้อง :

เปิดลิสต์ 13 ประโยชน์ของ กะเพรา เมนูสิ้นคิด ที่มีฤทธิ์เป็นยา!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง