ชง ศบค. ลดเวลากักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน นำร่องประเทศกลุ่มเสี่ยงต่ำ
วันนี้ (6 พ.ย.63) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน จะเริ่มจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยประเมินความเสี่ยงของประเทศต้นทางเปรียบเทียบกับประเทศไทย (Relative Risk Country) เช่น ประเทศที่ความเสี่ยงใกล้เคียงกับไทย เช่น จีน มาเก๊า อัตราการติดเชื้อ 60 ต่อประชากร 1 ล้านคน
ประเทศที่ความเสี่ยงน้อยกว่าประเทศไทย เช่น ไต้หวัน เวียดนาม มีอัตราการติดเชื้อน้อยกว่า 60 ต่อประชากร 1 ล้านคน ถ้ามีต่างชาติจากกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำเข้ามาในไทย 1 ล้านคน การตรวจ RT-PCR ก่อนการเดินทางจะช่วยลดความเสี่ยงประมาณ 50% เมื่อกักตัว 14 วัน มีโอกาสเสี่ยงหลุดรอดหลังจากถูกกักกัน 0.3 คน
ขณะที่ การกักตัว 10 วันมีโอกาสเสี่ยงหลุดรอดหลังจากถูกกักกัน 1.5 คน และจากการเก็บข้อมูลผลการตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ในกลุ่มผู้เดินทางจากประเทศซูดานใต้ จำนวน 77 คน พบผู้ติดเชื้อ 17 คน โดยทั้งหมดตรวจพบในช่วงวันที่ 0-9 ของการกักตัว และพบการติดเชื้อภายใน 7 วันแรกของการกักตัวถึง 15 ราย ดังนั้น การกักกันโรค 10 วัน จึงมีความเพียงพอ
นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยงต่ำ จะต้องยื่นขอวีซ่าท่องเที่ยวประเภทพิเศษและการพำนักในประเทศไทย (Special Tourist Visa : STV2) โดยต้องยื่นเอกสารขอรับวีซ่าที่สถานทูตไทยในประเทศต้นทาง ยื่นเอกสารยืนยันก่อนการเดินทาง ได้แก่ ใบรับรองตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง ใบ Fit to Fly ใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศไทย ประกันวงเงิน 1 แสนเหรียญสหรัฐ และการจองที่พักโรงแรมที่เป็นสถานกักกันที่รัฐกำหนด (Alternative Stare Quarantine : ASQ)
จากนั้นเมื่อถึงประเทศไทยจะเข้าด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ดำเนินการตรวจวัดอุณหภูมิ หากพบว่ามีไข้หรืออาการตามนิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค จะแยกกักเพื่อสอบสวนโรค นำส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาเชื้อ หากไม่มีไข้หลังผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง จะส่งเข้ารับการกักกันใน ASQ ทำการตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง และตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกัน 2 ครั้ง คือ วันแรกที่เข้าโรงแรม วันที่ 5 และ 9 ของการกักตัว
หากผลเป็นบวกจะนำส่งรักษากับโรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญา หากผลเป็นลบในวันที่ 10 จะประเมินและตรวจเอกสารก่อนอนุญาตให้ออกจากสถานที่กักกันในวันที่ 11 หลังออกจากสถานกักกันโรคจะต้องติดตั้งแอปพลิเคชันใช้ติดตามตัว และชี้แจงให้นักเดินทางทราบถึงการติดตามอาการต่ออีก 4 วัน โดยจัดทีมสนับสนุนติดตามผู้เดินทางอย่างใกล้ชิด เน้นการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง โดยผู้เดินทางรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการกักตัวและรักษาพยาบาล คาดว่าจะเริ่มนำร่องใน 1 เดือนข้างหน้า ภายหลังจากที่ ศบค. ให้ความเห็นชอบ.
เกาะติดข่าวที่นี่website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE