รีเซต

“ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ทำ ณฐพร โตประยูร ทนไม่ได้ แจ้งความดำเนินคดี “ตั้งแต่ผู้บริหารธรรมศาสตร์ยันช่างไฟ”

“ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ทำ ณฐพร โตประยูร ทนไม่ได้ แจ้งความดำเนินคดี “ตั้งแต่ผู้บริหารธรรมศาสตร์ยันช่างไฟ”
บีบีซี ไทย
13 สิงหาคม 2563 ( 20:11 )
271

การชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านตามมาจากฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างกว้างขวาง ล่าสุด "นักร้อง" คดียุบพรรคอนาคตใหม่เตรียมแจ้งความดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ยันช่างไฟและช่างเสียงบนเวที

 

"พ่อผมโดนด่า ผมต้องเอาเรื่องแทนพ่อ ไม่มีใครมาสั่งผมได้" นายณฐพร โตประยูร กล่าวกับบีบีซีไทย

เขาเปิดเผยว่า ในวันที่ 14 ส.ค. จะเดินทางไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปง.) เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้เกี่ยวข้องใน "ขบวนการ 10 สิงหา" ทุกคน เพราะมองว่าความผิดสำเร็จแล้ว

 

 

EPA
สัญลักษณ์ "ชู 3 นิ้ว" ถูกใช้อย่างกว้างขวางใน "แฟลชม็อบ" นักศึกษาเพื่อต่อต้านเผด็จการ

 

นักกฎหมายผู้ไม่ปิดบังตัวตนว่ามีแนวคิดแบบอนุรักษนิยม แจกแจงรายละเอียดพฤติการณ์ของคนกลุ่มต่าง ๆ พร้อมบรรยายลักษณะความผิดเอาไว้ 3 กลุ่ม ดังนี้

  • ตัวการ : นักศึกษาและผู้ขึ้นปราศรัย เข้าข่ายยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพราะ "สิ่งที่นำมาปราศรัยและถ่ายทอดสดไป คนพูดรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเรื่องจริง เพราะสถาบันฯ ไม่สามารถออกมาแก้ตัวได้"
  • ตัวการร่วม : 1) เจ้าของ/ผู้จัดการแสง-สี-เสียง-เครื่องเสียงบนเวที เข้าข่ายสมรู้ร่วมคิดในการกระทำความผิด ส่วนตัวเชื่อว่าต้องมีการตระเตรียมเอาไว้ล่วงหน้า ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถนำรูปที่ไม่สมควรขึ้นฉายบนจอภาพได้ 2) กลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังการชุมนุม ซึ่งตำรวจต้องตามสืบให้ได้ว่า "นักศึกษารับเงินสนับสนุนจากใคร" และ "เวลานักศึกษาพูดก็ไม่ได้พูดเอง แต่ดูโทรศัพท์ตลอดเวลา จึงน่าจะมีคนคอยส่งโพยข้อมูลให้พูด" ซึ่งคนกลุ่มหลังอาจกลายสถานะเป็น "ตัวบงการ" ก็ได้
  • ผู้สนับสนุน : 1) ผู้บริหาร มธ. หากไม่ดำเนินการใด ๆ เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 2) นักวิชาการกว่า 100 คนที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เมื่อ 12 ส.ค. ว่า 10 ข้อเสนอของผู้ชุมนุมมิได้เป็นการละเมิดกฎหมายอาญาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เข้าข่ายผิดประมวลจริยธรรมข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ที่กำหนดให้ "ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" อีกทั้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ได้กำหนดไว้ว่าการใช้เสรีภาพทางวิชาการต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้นต้นสังกัดของอาจารย์เหล่านั้นต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเพื่อเอาผิดต่อไป

 

การชุมนุมของนักศึกษา มธ. และประชาชนจัดขึ้นภายใน มธ. ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี โดยมีนายอานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และนักศึกษาอีกอย่างน้อย 2 คนขึ้นปราศรัยในหัวข้อที่เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

 

อย่างไรก็ตามนายณฐพรยืนยันว่า จะไม่ฟ้องดำเนินคดีกับผู้ใดในมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา เพราะไม่ต้องการนำสถาบันฯ ไปเกี่ยวข้องกับการเมือง อีกทั้งเคยมีพระราชกระแสรับสั่งผ่าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่าไม่ให้ใช้มาตรา 112 เพราะ "ทรงพระเมตตา" ทำให้ไม่มีการดำเนินคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ กับบุคคลใดเลยในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

 

การปรากฏภาพของ 2 ผู้ลี้ภัยการเมืองในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ. และนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม.เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น กลางเวทีปราศรัยของนักกิจกรรม มธ. คือสิ่งที่นายณฐพรบอกว่า "รับไม่ได้ และเป็นการล่วงละเมิดสถาบันฯ อย่างชัดแจ้ง เนื่องจากมีการตัดต่อภาพ และนำภาพคล้ายตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์มาใช้กับบุคคลธรรมดา

 

"หัวใจของคนพวกนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้แล้วในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ว่าเพียงแค่เจตนาก็ถือว่าผิดแล้ว ผมไม่ต้องการกลั่นแกล้งใคร ไม่ได้ลุกขึ้นทำด้วยความเกลียดชังใคร แต่ต้องการให้สังคมรับรู้ว่าการกระทำแบบนี้ไม่ถูกต้องตราบที่รัฐธรรมนูญ 2560 ยังบังคับใช้อยู่" นักกฎหมายวัย 67 ปีกล่าว

 

จาก "ขบวนการปฏิกษัตริย์นิยม" ถึง "ขบวนการ 10 สิงหา"

นายณฐพรได้รับฉายา "นักร้องอาชีพ" หลังเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ในคดีล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่รู้จักในนาม "คดีอิลลูมินาติ" โดยกล่าวหาว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค, นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค, น.ส. พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) มีแนวคิดทัศนคติคลั่งไคล้ปรัชญาตะวันตก และเป็น "ขบวนการปฏิกษัตริย์นิยม" ที่มองว่าการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่สามารถไปด้วยกันได้กับการเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

 

 

แม้ อนค. รอดพ้นจาก "วิบากกรรมภาคแรก" ด้วยมติเอกฉันท์จากศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 21 ม.ค. 2563 แต่ก็ถูกสั่งยุบพรรคในอีก 1 เดือนต่อมา จากคดีหัวหน้าพรรคปล่อยเงินกู้ให้พรรคตัวเอง

ในคราวที่นายณฐพรสร้าง "คดีอิลลูมินาติ" ขึ้นมา เขาระบุว่าทำตาม "หน้าที่ปวงชนชาวไทย" ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญ ให้ "พิทักษ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย"

 

Getty Images
โลโก้สามเหลี่ยมหัวกลับของพรรคอนาคตใหม่ มีความคล้ายคลึงกับสัญลักษณ์ของสมาคมอิลลูมินาติ คำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญระบุ

 

มาครั้งนี้ เขาอ้างถึงตัวบทกฎหมายเดียวกันเพื่อเอาผิด "ขบวนการ 10 สิงหา" และมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นที่ มธ. "เหมือนกันเปี๊ยบ" กับความเคลื่อนไหวที่ปรากฏหลังการก่อตั้งพรรคสีส้ม

 

"เด็กที่ออกมาพูดพวกนี้เป็นแค่ "มวยรับจ้าง" พูดแล้วดัง ไปไหนคนก็ทัก ถ้าสังเกตดู 10 ข้อที่นักศึกษาเรียกร้องมา ก็มาจากกลุ่มคนเก่า ๆ ซึ่งเชื่อว่ามีอยู่ 4-5 คน แต่มีพลังเงินสูง จึงเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องไปสืบสวนสอบสวนให้ได้ว่าเงินมาจากใคร โทรศัพท์หาใคร แล้วสังคมจะรู้ว่าเด็กพวกนี้ไม่ได้พูดเพราะจิตวิญญาณ แต่พูดเพราะมีคนส่งไปให้ ไม่เช่นนั้นตัวบงการก็จะลอยนวล" นายณฐพรกล่าว

 

เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การกลับมาของประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ที่ว่า "พึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร..." ในเวทีชุมนุม มธ. เป็นสำนวนของนักวิชาการคนหนึ่งที่เคยพูดและเขียนไว้ในหนังสือ

 

ปัดรับ "ใบสั่ง"

นายณฐพรตัดสินใจยื่นใบลาออกจากการเป็นคณะที่ปรึกษา นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ด้านการจัดทำกฎหมาย) ช่วงเช้าที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับเจ้ากระทรวง ก่อนออกมาเปิดหน้า-เปิดโปงเครือข่าย 10 สิงหา โดยให้เหตุผลว่าตั้งแต่เกิดมาจนอายุใกล้จะ 70 ปี ไม่เคยเห็นปรากฏการณ์ "ทำร้ายจิตใจคนไทย" ขนาดนี้ในสังคม

 

การลุกขึ้นมา "ต่อสู้ทางกฎหมาย" ของชายผู้นี้ ทำให้สังคมเกิดคำถามว่าได้รับ "ใบสั่ง" จากใครหรือไม่

"ผมพิสูจน์ได้เลยว่าไม่มีใบสั่ง ไปตรวจสอบที่องค์การโทรศัพท์ (บริษัท ทีโอที จำกัด มหาชน) ได้เลยว่ามีผู้ใหญ่คนไหนโทรมาหาผมไหม ผมเชื่อว่าทุกอย่างในโลกนี้พิสูจน์ได้หมด และผมท้าพิสูจน์เลย" เขาบอก

อย่างไรก็ตาม นายณฐพรยอมรับว่า พล.ต.นพ. เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และประธานองค์กรเก็บขยะแผ่นดิน ได้โทรศัพท์มาปรึกษา เพราะไม่สบายใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงแจ้งแผนการทางกฎหมายให้ฟัง

 

"ผมกับหมอเหรียญทองเจอกันตอนเป็นคณะกรรมการสนามม้า (คณะกรรมการราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์) โดยพี่อ้าย (พล.อ. บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ อดีตรองประธานราชตฤณมัยฯ) เป็นคนแนะนำและบอกว่า 'นี่คือมือกฎหมายของประเทศไทยเลยนะ เขาทำคดียุบอนาคตใหม่' หมอเหรียญทองก็เลยโทรมาหาผม ๆ ก็หลุดปากเล่าให้ฟังไป จากเดิมที่ตั้งใจจะทำเงียบ ๆ และหมอก็ขออนุญาตไปโพสต์" นายณฐพรกล่าว

เขายังเล่าความสัมพันธ์ส่วนตัวกับ พล.อ. บุญเลิศ ไว้ด้วยว่ารู้จักกันช่วงที่ เสธ.อ้าย ในฐานะประธานองค์การพิทักษ์สยาม ประกาศจัด "ม็อบแช่แข็ง" เพื่อต่อต้านรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2555 ซึ่งในช่วงนั้นนายณฐพรเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้สนามม้า และยังเป็นผู้จัดการสนามกอล์ฟดุสิตด้วย นั่นทำให้เขามีเครือข่าย "อดีตนายทหาร" ที่มีสายสัมพันธ์อันดีต่อกัน

 

"ตอนนี้ทหารก็เครียด ๆ สิ ทุกคนเครียดหมด คนรุ่นพวกผมรักสถาบันฯ กันทั้งนั้น แล้วมีคนไปทำร้าย เปรียบเหมือนชาวพุทธที่ทนไม่ได้เวลามีฝรั่งไปนั่งบนพระ" นายณฐพรกล่าว

ส่วนกับนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ที่เข้าแจ้งความดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมเมื่อ 10 ส.ค. เช่นกัน ทางนายณฐพรบอกว่า "ไม่รู้จักกันเลย รู้จักแต่ในทีวี แต่ไม่เคยคุยกัน"

 

เมินถูกครหา "ขัดขวางความเปลี่ยนแปลงยุคสมัย"

ในขณะที่ชายวัย 67 ปีเชื่อว่าภารกิจที่เขาทำคือการ "ปกป้องสถาบันฯ" ต่างจากผู้ชุมนุมที่มองว่าการ "ปฏิรูปสถาบันฯ" ต่างหากคือการปกป้องอย่างแท้จริง นั่นทำให้บทบาทของนายณฐพรสุ่มเสี่ยงต่อการถูกมองว่าเป็น "ผู้ขัดขวางความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย" หรือไม่

เกี่ยวกับคำครหานี้ นายณฐพลไม่ยี่หระ เพราะเชื่อว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการทำร้ายจิตใจคนไทยทั้งประเทศ" และย้ำว่าได้ทำตามหน้าที่ของปวงชนชาวไทย "ผมมีหน้าที่ ผมก็ทำหน้าที่ร้องทุกข์เพราะได้รับความเสียหาย ผมทำหน้าที่ของผม ผิดถูกเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่มีสิทธิแทรกแซงใด ๆ ได้"

 

นักกฎหมายรายนี้บอกด้วยว่า ส่วนตัวสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยของขบวนการนักศึกษา และเห็นว่าหากรัฐมนตรีคนไหนที่เด็ก ๆ ไม่ชอบหน้า ก็ควรต้องพิจารณา "ลาออกเพื่อประเทศ" เช่นเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำได้

"หากเพดานเขาหยุดอยู่แค่การแก้รัฐธรรมนูญ การยุบสภา ผมเห็นด้วยล้านเปอร์เซ็นเลย แต่เรื่องสถาบันฯ อย่าไปเกี่ยวข้องได้ไหม สถาบันฯ มีมานานแล้ว จะยกเลิกไปเพื่ออะไร ทำแล้วได้อะไรขึ้นมา"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง