เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (22 เม.ย.2565)
ข่าววันนี้ สถานการณ์วิกฤต "รัสเซียยูเครน" ล่าสุดหัวหน้าผู้แทนเจรจาของยูเครนเผย ยูเครนพร้อมเปิดการเจรจารอบพิเศษกับทางรัสเซียโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ อ่าน : เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (21 เม.ย.2565)
เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (22 เม.ย.2565)
รัสเซียชี้ พร้อมหยุดยิงเปิดทางอพยพในมารีอูโปล หากทหารยูเครนยกธงขาว
ท่ามกลางสถานการณ์คุมเชิงระหว่างกองทัพรัสเซียที่ปิดล้อมเขตอุตสาหกรรม โรงงานเหล็กอาซอฟสตัล ในเมืองมารีอูโปล ของยูเครน จุดที่ยังคงมีกองกำลังทหารยูเครนราว 2,000 นายปักหลักยึดพื้นที่เอาไว้อย่างเหนียวแน่น
ล่าสุดกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 22 เมษายน ระบุว่า กองทัพรัสเซียพร้อมที่จะหยุดยิงและเปิดทางให้มีการอพยพพลเรือนออกจากโรงงาน หากทหารยูเครนยกธงขาวยอมแพ้
“เราขอประกาศอีกครั้งว่ารัสเซียพร้อมทุกเมื่อที่จะหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมในการอพยพพลเรือนออกจากพื้นที่” แถลงการณ์ระบุ และว่า การหยุดยิงจะเริ่มต้นขึ้นด้วยการยกธงขาวของกองกำลังยูเครนในพื้นที่โดยรอบรวมถึงในพื้นที่อาซอฟสตัล
“หากพบสัญญาณดังกล่าวไม่ว่าจะส่วนใดของโรงงานอาซอฟสตัล กองทัพรัสเซียจะหยุดความเป็นปฏิปักษ์ลงในทันทีและจัดการให้มีการออกจากพื้นที่อย่างปลอดภัย” แถลงการณ์ระบุ ขณะที่พลเรือนสามารถเลือกได้ว่าจะเดินทางไปยังพื้นที่ซึ่งควบคุมโดยยูเครนหรือรัสเซียก็ได้ ขณะที่ทหารยูเครนที่ยอมแพ้จะได้รับการรับรองความปลอดภัย
โดยแถลงการณ์ดังกล่าวจะถูกสื่อสารไปยังกองกำลังของยูเครนในอาซอฟสตัล ผ่านช่องสัญญาณวิทยุทุกช่องทุกๆ 30 นาที
ทั้งนี้นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เพื่องประกาศชัยชนะในการ “ปลดปล่อย” มารีอูโปล หลังจากรัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียรายงานว่ากองทัพรัสเซียสามารถยึดครองมารีอูโปล เอาไว้ได้ทั้งหมดยกเว้นพื้นที่อุตสาหกรรมโรงงานผลิตเหล็กอาซอฟสตัล ซึ่งยังคงมีทหารยูเครนปักหลักอยู่หลายพันนาย พร้อมกับพลเรือนจำนวนหนึ่ง
นายพลหมีขาวเผย รัสเซีย วางแผนคุม "ดอนบัส-ยูเครนตอนใต้" เต็มรูปแบบ
เอเอฟพี รายงานความคืบหน้าการทำสงครามในยูเครนของรัสเซียที่ยืดเยื้อเกือบ 2 เดือนแล้ว ล่าสุด สื่อรัสเซียรายงานคำพูดของพลเอกรุสตัม มินเนคาเยฟ รองผู้บัญชาการฆณฑลทหารกลางของรัสเซียว่า รัสเซีย กำลังวางแผนเข้าควบคุมภูมิภาคดอนบัสและยูเครนตอนใต้อย่างเต็มรูปแบบ เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการทหารระยะที่สองในยูเครน
นอกจากนี้ รัสเซีย วางแผนที่จะสร้างทางเดินบนบกเพื่อเชื่อมต่อระหว่างแหลมไครเมียซึ่งถูกผนวกเข้ากับรัสเซียเมื่อปี 2557 กับภูมิภาคดอนบัส ทางตะวันออกของยูเครนด้วย
"ตั้งแต่เริ่มต้นปฏิบัติการพิเศษระยะที่สอง ซึ่งเปิดฉากแล้วเมื่อ 2 วันก่อน หนึ่งในภารกิจของกองทัพรัสเซียคือจัดตั้งการควบคุมอย่างเต็มรูปแบบเหนือภูมิภาคดอนบัสและยูเครนตอนใต้ นี่จะเป็นการเปิดทางเดินบนบกของแหลมไครเมีย เช่นเดียวกับผลกระทบต่อสถานที่สำคัญของเศรษฐกิจยูเครน" พล.อ.มินเนคาเยฟกล่าวที่การประชุมประจำปีของสหภาพโรงงานอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ แห่งแคว้นสเวียร์ดลอฟสค์ เขตสหพันธ์อูรัล ประเทศรัสเซีย
ผู้บัญชาการฆณฑลทหารกลางของรัสเซียเสริมว่า การควบคุมยูเครนตอนใต้จะเปิดการเข้าถึงภูมิภาคทรานส์นีสเตรีย ที่เป็นส่วนแยกของมอลโดวาซึ่งทหารรัสเซียประจำการอยู่แล้ว และติดกับพรมแดนยูเครนตะวันตกเฉียงใต้
ด้านกระทรวงกลาโหมรัสเซียชี้แจงกับ บีบีซี ว่ากำลังตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว
ข้อมูล : มติชน
ธนาคารโลกระบุ ยูเครนเสียหายแล้ว 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF จัดประชุมประเมินความต้องการความช่วยเหลือทางการเงินของยูเครนเมื่อวานนี้ (21 เมษายน) นอกรอบการประชุมธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟประจำฤดูใบไม้ผลิ
เดวิด มาลพาส ประธานธนาคารโลก ประเมินเบื้องต้นความเสียหายทางกายภาพของยูเครน ได้แก่บรรดาโครงสร้างพื้นฐานและอาคารบ้านเรือน ประมาณ 60,000 ล้านดอลลาร์แล้วจนถึงขณะนี้ และเตือนว่า ความเสียหายจะเพิ่มขึ้นอีกตราบใดที่สงครามยังไม่ยุติ
ประธานธนาคารโลกระบุด้วยว่า นี่เป็นเพียงการประเมินความเสียหายเบื้องต้นแบบหยาบ ๆ และแคบ ๆ ยังไม่รวมความเสียหายทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่เกิดจากปฏิบัติการรัสเซีย ที่จะยังคงเพิ่มขึ้นตราบใดที่สงครามยังดำเนินต่อไป
ด้านประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน แถลงทางออนไลน์ ต่อการประชุมนอกรอบธนาคารโลก-ไอเอ็มเอฟดังกล่าวว่า ยูเครนต้องการเงิน 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน เพื่อชดเชยความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปฏิบัติการในยูเครน และอีกหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อฟื้นฟูบูรณะยูเครนหลังสงคราม
ผู้นำยูเครนเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ที่ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย และอายัดสินทรัพย์ของรัสเซียเอาไว้แล้ว ให้นำเงินเหล่านั้น ออกมาช่วยฟื้นฟูบูรณะยูเครนหลังสงคราม และใช้จ่ายเป็นค่าเสียหายให้แก่ประเทศอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการรัสเซีย
พร้อมกับเรียกร้องให้ประชาคมโลกตัดขาดรัสเซียออกจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศต่าง ๆ ทันที รวมถึงธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟด้วย และขอให้ทุกประเทศจะต้องเตรียมตัดความสัมพันธ์ทั้งหมดกับรัสเซียในทันที
ด้าน เจเน็ท เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ซึ่งเข้าร่วมการประชุมนี้ด้วย ระบุว่า สหรัฐฯ จะเพิ่มความช่วยเหลือโดยตรงที่ไม่ใช่ทางการทหารต่อยูเครน เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เป็น 1,000 ล้านดอลลาร์ และรัสเซียควรต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูบูรณะยูเครนด้วย เพราะชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูบูรณะยูเครนจะต้องเป็นจำนวนเงินมหาศาล
อย่างไรก็ตาม การที่สหรัฐฯ จะนำทุนสำรองของธนาคารกลางรัสเซีย ที่สหรัฐฯ ได้ยึดไว้ นำมาใช้ฟื้นฟูบูรณะยูเครนนั้น เป็นเรื่องสำคัญ ที่จำเป็นต้องคิดอย่างละเอียดรอบคอบถึงผลที่จะตามมา และจะต้องมีการหารือและเห็นพ้องกันจากหลาย ๆ ฝ่ายด้วย
การประชุมธนาคารโลก-ไอเอ็มเอฟครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ทางการเงินระดับสูงจากหลายประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการประชุม
ด้านนายกรัฐมนตรี เดนีส ชไมฮาล ของยูเครน ซึ่งเข้าร่วมการประชุมนี้ด้วยตนเอง กล่าวว่า ตัวเลข GDP ของยูเครนจะติดลบร้อยละ 30-50 เนื่องจากจนถึงขณะนี้ยูเครนสูญเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมไปแล้ว 560,000 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ตัวเลขความสูญเสียของเศรษฐกิจยูเครนดังกล่าว เกินกว่าขนาดของเศรษฐกิจยูเครนไปแล้วมากกว่า 3 เท่า โดยยูเครนมีขนาดเศรษฐกิจ 155,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2020
นายกรัฐมนตรียูเครนกล่าวต่อไปว่า ยูเครนต้องการแผนฟื้นฟูบูรณะประเทศ ที่ไม่ต่างจาก “แผนการมาร์แชล” เมื่อสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ช่วยฟื้นฟูบูรณะยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ทุ่มอีก 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศมาตรการช่วยเหลือด้านความมั่นคงเพิ่มเติม จำนวน 800 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 27,113 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนยูเครน ขณะที่ยูเครนเผชิญหน้ากับการโจมตีครั้งใหม่ทางภาคตะวันออกของประเทศ
ไบเดนให้คำมั่นส่งอาวุธทั้งปืนครกหลายสิบกระบอก, กระสุนปืน 144,000 ลูก และโดรนด้านยุทธวิธีอีกหลายลำ ซึ่งเขาเรียกร้องให้รัฐสภาสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความช่วยเหลือให้ยูเครนด้วย
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนหนึ่ง ซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวกับ Reuters ว่า มาตรการช่วยเหลือด้านอาวุธชุดใหม่ มีขนาดเท่ากับที่ประกาศไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คือ 800 ล้านดอลลาร์ แต่รายละเอียดยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ นอกจากนี้ รัฐบาลของไบเดน ยังประกาศด้วยว่า จะห้ามเรือที่เกี่ยวข้องกับรัสเซีย เข้าเทียบท่าเรือของอเมริกา ซึ่งเป็นมาตรการล่าสุดในการกดดันรัสเซีย กรณีการบุกยูเครน
ด้านรัสเซียแถลงว่า เข้าสู่ระยะใหม่ของปฏิบัติการทางทหาร และกำลังพยายามอย่างเป็นระบบเพื่อ “ปลดปล่อย” ภูมิภาคดอนบาส ภาคตะวันออกของยูเครน ด้านประเทศตะวันตก คาดการณ์ว่า การปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียอาจต้องใช้เวลาหลายเดือน
กองทัพสหรัฐฯ ไม่ได้เข้าร่วมสู้รบในยูเครน แต่เกี่ยวข้องทางอ้อม ด้วยการส่งอาวุธ, ฝึกและให้เงินสนับสนุนกองทัพยูเครน
รัฐบาลรัสเซียประกาศ “ปลดปล่อย” เมืองมารีอูโปลได้สำเร็จแล้ว
ตอนนี้ ทหารชุดสุดท้ายของยูเครนในเมืองมารีอูโปล ทางตอนใต้ของประเทศ ปักหลักอยู่ในพื้นที่โรงงานเหล็กอาซอฟทัล ท่ามกลางการปิดล้อมของทหารรัสเซียที่ขยับเข้ามาใกล้เรื่อย ๆ
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงชื่นชมรัฐมนตรีกลาโหม เซอเกย์ โชอิกู ที่สามารถเข้าควบคุมเมืองมารีอูโปลได้สำเร็จ หลังพยายามเข้าควบคุมมานานหลายสัปดาห์
ผู้นำรัสเซียสั่งให้ปิดล้อมพื้นที่โรงงาน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของทหารยูเครนในเมืองนี้ ถึงขั้นที่ อย่าปล่อยให้ทหารคนใดหลุดรอดไปได้ แต่สั่งว่า อย่าพึ่งดำเนินการโจมตีใด ๆ
ด้านนายกเทศมนตรีเมืองมารีอูโปล วาดีม บอยเชนโก ระบุว่า ยังเหลือประชาชนกว่า 200 คน ที่รอการอพยพออกจากเมืองผ่านเส้นทางมนุษยธรรม เพราะรถบัสเข้ามาไม่ถึง
ไม่เพียงเท่านั้น เขาระบุว่า ยังมีประชาชนอีกกว่า 1 แสนคนติดค้างอยู่ในเมืองที่ตกอยู่ในการควบคุมของรัสเซีย
วาดีม เปิดเผยว่า ไม่แน่ชัดว่ามีทหารยูเครนกี่คนที่ยังอยู่ในโรงเหล็กดังกล่าว แต่ประเมินว่าอาจมากถึง 1,000 คน เขายังย้ำว่า ไม่ว่าปูตินจะพูดอย่างไร มารีอูโปลก็เป็นเมืองของยูเครน
ข้อมูล : TNN World
ภาพ : Reuters
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
กดเลย >> community แห่งความบันเทิง
ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี