"โอมิครอนลูกผสม XBB" แซงโค้งขึ้นครองอันดับ 1 หลบภูมิ แพร่เชื้อ ดื้อยา
ศูนย์จีโนมฯ เผยข้อมูล "โอมิครอนลูกผสม XBB" แซงโค้งขึ้นครองอันดับ 1 ในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ติดต่อ และการดื้อต่อยา แนะจับตาไวรัสลูกผสม
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 โดยระบุว่า "โอมิครอนลูกผสม “XBB” แซงโค้งขึ้นครองอันดับหนึ่งในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน การแพร่ติดต่อ และการดื้อต่อยาฉีดแอนติบอดีสังเคราะห์
โดยการนำตำแหน่งกลายพันธุ์บนหนามของโอมิครอนสองสายพันธุ์ย่อย BJ.1 และ BM.1.1.1 มาผสมรวมกัน (ภาพ 5,6) ทั้งนี้สายพันธุ์ย่อยทั้งสองจากฐานข้อมูลโควิดโลก "GISAID" ยังไม่พบในประเทศไทย ปรับปรุง 10/11/2565 เวลา 6:59
จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของโอมิครอน XBB หนึ่งในสมาชิกกลุ่มซุปโอมิครอน (A soup of omicron subvariants) พบมีกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสโคโรนา 2019 ดั้งเดิม (อู่ฮั่น) มากที่สุดคือมากกว่า 100 ตำแหน่ง (ภาพ1) โดยมีการผสมจีโนมบางส่วนที่สร้างหนามแหลม(recombination) ของโอมิครอนสองสายพันธุ์ย่อย คือ BJ.1 และ BM.1.1.1 เข้าด้วยกัน (ภาพ 5,6)
และจากการคำนวณร่วมกับการทดลองในห้องปฏิบัติการบ่งชี้ว่าส่วนหนามแหลมที่มีการผสมผสานตำแหน่งกลายพันธุ์ของ BJ.1 และ BM.1.1.1 เข้าด้วยกัน ช่วยให้โอมิครอนลูกผสม XBB สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและแพร่ติดต่อได้ดีเป็นอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา (ภาพ2) รวมทั้งดื้อต่อยาฉีดแอนติบอดีสำเร็จรูปเกือบทุกประเภท จากฐานข้อมูลโควิดโลก (GISAID) พบสายพันธุ์ย่อย XBB มีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกิดสมาชิกย่อยขึ้นมากมาย (ภาพ3) คือ
XBB.1.1 (30.56%)
XBB.1 (23.23%)
XBB (22.95%)
XBB.3 (12.43%)
XBB.2 (6.34%)
XBB.5 (2.58%) กลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสโคโรนา 2019 ดั้งเดิม (อู่ฮั่น) มากที่สุด คือมากกว่า 120 ตำแหน่ง (ภาพ1)
XBB.3.1 (0.78%)
XBB.1.3 (0.60%)
XBB.4 (0.32%)
XBB.1.2 (0.21%)
จากฐานข้อมูลโควิดโลก (GISAID) เช่นกันพบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB ระบาดไปทั่วโลก เช่น สิงคโปร์ อินเดีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก แคนาดา อิสราเอล มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา ฯลฯ ยังไม่พบในประเทศไทย
สิงคโปร์ 980 ราย (10.849 %)
อินเดีย 563 ราย (1.622%)
ออสเตรเลีย 227 ราย (0.436%)
สหรัฐ 197 ราย (0.026%)
ประเทศอังกฤษ 122 ราย (0.078%)
ออสเตรีย 112 ราย (0.157%)
เดนมาร์ก 111 ราย (0.125%)
บังกลาเทศ 88 ราย (17.495%)
บรูไน 52 ราย (3.002%)
อิสราเอล 48 ราย (0.085%)
เยอรมนี 38 ราย (0.022%)
แคนาดา 34 ราย (0.040%)
ญี่ปุ่น 33 ราย (0.022%)
เบลเยียม 27 ราย (0.094%)
เกาหลีใต้ 22 ราย (0.058%)
ฟิลิปปินส์ 20 ราย (0.509%)
มาเลเซีย 19 ราย (0.224%)
อินโดนีเซีย 18 (0.132%)
ฝรั่งเศส 16 ราย (0.015%)
สวีเดน 12 ราย (0.046%)
เนเธอร์แลนด์ 11 ราย (0.047%)
อิตาลี 11 ราย (0.046%)
สวิตเซอร์แลนด์ 10 ราย (0.081%)
ฮ่องกง 10 ราย (0.400%)
กัมพูชา 1 ราย (0.197%) ฯลฯ
ไวรัสโคโรนา 2019 ลูกผสมเกิดขึ้นสืบเนื่องจากในร่างกายผู้ติดเชื้อมีการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สองสายพันธุ์พร้อมกัน เช่นในกรณีของ “เดลตาครอน” ซึ่งเกิดเป็นลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ “เดลตา” และ “โอมิครอน” เนื่องมาจากในขณะที่มีการสร้างสายจีโนมของลูกหลานไวรัสในเซลล์ติดเชื้อมี “การสร้างจีโนมสายใหม่ข้ามสายจีโนม [template (genome) switching]” ที่ไวรัสใช้เป็น แม่พิมพ์ต้นแบบ
หากในเซลล์นั้นมีไวรัสโคโรนา 2019 เพียงสายพันธุ์เดียวก็ยังเกิด“การสร้างจีโนมสายใหม่ข้ามสายจีโนม” ได้เช่นกันแต่จะไม่เกิดสายพันธุ์ลูกผสมขึ้น ตรงข้ามหากในร่างกายของผู้ติดเชื้อมีการติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ย่อยขึ้นไป โอกาสที่จะเกิดการสร้างจีโนมสายใหม่สลับสายจีโนมจนเกิดเป็นไวรัสลูกผสมจะมีสูงขึ้นโดยเฉพาะในการระบาดไวรัสโคโรนา 2019 ที่ย่างเข้า “ปีที่3” ซึ่งเกิดมีโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติขึ้นพร้อมกันมากกว่า 200 สายพันธุ์ย่อย หรือที่เรียกว่าซุปโอมิครอน (Omicron soup) (ภาพ4-6)
การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อ 2 ปีที่แล้วมีโอกาสจะเกิดสายพันธุ์ลูกผสมได้ยากเพราะการติดเชื้อจะเป็นทีละตระกูลที่ระบาดไปทั่วโลก จากนั้นจะถูกแทนที่ด้วยอีกตระกูลหนึ่ง กล่าวคือ อัลฟา ถูกแทนที่ด้วย เบตา จากนั้น เบตาถูกแทนที่ด้วยแกมมา เดลตา และ โอมิครอน ตามลำดับ แต่ปีที่ 3 เรากลับพบว่าการเกิดโอมิครอนลูกผสมขึ้นอย่างรวดเร็ว (ภาพ2-3) จำเป็นต้องเฝ้าระวังและควบคุมการระบาดมิให้ลูกผสมเหล่านี้กลายพันธุ์จนเกิดเป็นตระกูลใหม่ที่ต่างไปจากตระกูลโอมิครอน ซึ่งยากที่จะทำนายว่าตระกูลใหม่ที่จะอุบัติขึ้นมาจากสายพันธุ์ลูกผสมจะมีการติดเชื้อที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้นหรือไม่"
ที่มา ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics)
ภาพจาก รอยเตอร์