รีเซต

ข้อควรรู้ ก่อนใช้สิทธิบัตรทอง "ฟอกไต" ฟรี 2 วิธี มีข้อดี-ข้อจำกัดอย่างไร?

ข้อควรรู้ ก่อนใช้สิทธิบัตรทอง "ฟอกไต" ฟรี 2 วิธี มีข้อดี-ข้อจำกัดอย่างไร?
TNN ช่อง16
10 กุมภาพันธ์ 2565 ( 14:01 )
896

วันนี้ (10 ก.พ.65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจาก แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และสมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ระบุถึงนโยบายผู้ป่วยไตสิทธิบัตรทองตัดสินใจร่วมกับแพทย์เพื่อเลือกวิธีการฟอกไตที่เหมาะสมได้ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 

องค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการรักษาพยาบาลดังกล่าว ได้แก่ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และสมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่าเป็นนโยบายที่ช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงและมีสิทธิ์เลือกการฟอกไตที่เหมาะสมกับตน สอดคล้องกับวิถีชีวิต ภายใต้บริบทข้อบ่งชี้ทางการแพทย์โดยการเลือกวิธีฟอกไตที่เหมาะสม โดยจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบด้าน ดังนี้

การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis หรือ HD) เป็นการฟอกไตที่ต้องนำเลือดออกจากเส้นเลือดผ่านตัวกรอง (dialyzer) และเครื่องฟอกเลือด ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดทำเส้นเลือดสำหรับการนำเลือดออกจากร่างกายระหว่างการฟอกเลือดก่อน ผู้ป่วยจำเป็นต้องมาโรงพยาบาล 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ หรือมากกว่าหากมีปัญหาเพิ่มเติม

ข้อดี คือ ไม่ต้องทำเอง อาศัยพยาบาลไตเทียมที่ต้องผ่านการฝึกอบรมเฉพาะทางให้การรักษา ใช้เวลาฟอกเฉลี่ย 4 ชม.ต่อครั้ง

ข้อเสีย คือ ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล/คลินิกไตเทียมบ่อย เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง มีปัญหาความดันตกได้ง่าย หรือหากมีโรคประจำตัวรุนแรงเช่น โรคหัวใจบางชนิด ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนระหว่างการฟอกเลือด

การล้างไตทางช่องท้อง (peritoneal dialysis หรือ PD) เป็นการฟอกไตที่อาศัยผนังในช่องท้องเป็นตัวกรองในการเอาของเสียของจากร่างกาย ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดวางสายล้างไตที่ผนังหน้าท้องก่อน เพื่อเป็นช่องทางลำเลียงน้ำยาเข้าออกจากร่างกาย สามารถทำได้เองที่บ้านมี 2 แบบ คือทำเอง (เรียก CAPD) หรือใช้เครื่องอัตโนมัติ (เรียก APD)

ข้อดี คือ ทำเองได้ที่บ้านไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลบ่อย มีโอกาศติดเชื้อน้อยมากหากทำถูกต้องตามขั้นตอน ไม่เสี่ยงต่อความดันตกขณะฟอก

ข้อเสีย คือต้องพกเอาน้ำยาติดตัวหากเดินทางไปต่างจังหวัดหรือพักค้างคืนที่อื่น อาจติดเชื้อหากทำผิด/ข้ามขั้นตอน หรือมีการปนเปื้อน

การเลือกวิธีฟอกไตใดควรพิจารณาปัจจัยรอบด้าน เช่น โรคประจำตัว ระยะทางระหว่างบ้านและโรงพยาบาล ความเชี่ยวชาญของบุคลากร ค่าใช้จ่ายแฝง (เช่นค่าเดินทางไป - กลับ ระหว่างโรงพยาบาล/คลินิกไตเทียมสัปดาห์ละ 2 - 3 รอบ หรือมากกว่าหากมีปัญหา) เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองวิธียังไม่มีความแตกต่างของความยืนยาวของชีวิตผู้ป่วยฟอกไตอย่างชัดเจน ในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) การเลือกวิธีการรักษาที่อยู่กับบ้านเป็นหลัก (home-based therapy) โดยการล้างไตทางช่องท้อง เป็นวิธีการที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อขณะฟอกเลือด.


ข้อมูลจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ภาพจาก แฟ้มภาพต่างประเทศ โดย AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง