รีเซต

จุรินทร์ เร่งดันอาร์เซ็ปเข้าวาระรัฐสภาสมัยนี้ ให้ทันก.พ.เพื่อให้สัตยาบัน และบังคับใช้จริงกลางปี64

จุรินทร์ เร่งดันอาร์เซ็ปเข้าวาระรัฐสภาสมัยนี้ ให้ทันก.พ.เพื่อให้สัตยาบัน และบังคับใช้จริงกลางปี64
มติชน
16 พฤศจิกายน 2563 ( 15:49 )
96

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน กระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในงานปาฐกถาพิเศษในหัวข้อการประกาศความสำเร็จการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) หลังจาก15 ประเทศสมาชิกอาเซียนและ5 ประเทศคู่ค้านอกอาเซียนได้ลงนามความตกลงอาร์เซ็ปแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่า ในส่วนการให้สัตยาบันของไทย ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 10 พฤศจิกายนแล้ว จากนี้ ตนจะเร่งผลักดันนำวาระการลงนามอาร์เซ็ปเสนอเข้ารัฐสภา เพื่อให้พิจารณาทันประชุมสมัยนี้ ซึ่งเริ่มประชุมเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึง กุมภาพันธ์ 2564 เมื่อผ่านความเห็นชอบจะเข้ากระบวนให้สัตยาบันร่วมกับประเทศอื่น ซึ่งไทยน่าจะเป็นประเทศแรกๆที่ให้สัตยาบันได้ เพื่อให้อาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้ได้ภายในกลางปี 2564

 

“ปัญหาการเมืองในขณะนี้ เชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินหน้ากระบวนการให้สัตยาบันอาร์เซ็ป ผมมั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุน เนื่องจากเชื่อว่าทุกฝ่ายจะเห็นต่อผลประโยชน์ส่วนรวม ที่จากเดิมที่มีการเสียภาษีนำเข้าระหว่างกันในอัตรา 5-40% ก็จะเหลือ 0% ยกเว้นสินค้าที่แต่ละประเทศไม่พร้อมเท่านั้น เพราะหากไม่สำเร็จก็จะส่งผลกระทบทางการค้าของไทย สำหรับผลหวังว่าการลดภาษีระหว่างกันจะเริ่มได้กลางปีหน้า “ นายจุรินทร์ กล่าว

 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า มั่นใจว่าข้อตกลงอาร์เซป จะทำให้ไทยได้ประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งการส่งออกสินค้า บริการและการลงทุน โดยเฉพาะการสนับสนุนสินค้าของไทยที่มีจุดแข็งอย่างสินค้าเกษตรให้สามารถบุกตลาดพร้อมกันใน 14 ประเทศ โดยเฉพาะพืชผลทางการเกษตร มันสำปะหลัง แป้งมัน ยางพารา สินค้าประมง และกลุ่มอาหาร จะเป็นอีกหมวดสำคัญที่ได้รับประโยชน์เต็มที่ ซึ่งช่วยสนับสนุนวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการผลักดันอาหารไทยเป็นอาหารโลก และทำให้ไทยก้าวสู่เป็นผู้นำการส่งออกอาหารอันดับต้นๆ และอันดับหนึ่งของโลกได้ จากปัจจุบันที่อยู่อันดับ 11 ของโลก

 

นอกจากนี้ อาร์เซ็ปเข้ามามีส่วนช่วยอย่างยิ่งในการที่จะทำให้การค้าไทยบรรลุเป้าหมาย และสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศไทยทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย มอเตอร์ไซค์ รวมถึงภาคบริการและการลงทุน ขณะเดียวกัน อาร์เซ็ปจะช่วยให้ไทยสามารถทำตัวเลขทางการค้าการลงทุนโดยเฉพาะก่อสร้าง และธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ รวมถึงเรื่องภาพยนตร์บันเทิงเอนิเมชัน และการทำคอนเทนท์ที่เกี่ยวกับภาคบริการ ที่มีศักยภาพขึ้นมาในระดับโลกได้

 

“ ยังก่อให้เกิดความร่วมมือเรื่องใหม่ เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซ การแข่งขันทางการค้า ตลอดจน การส่งเสริมการคุ้มครองดูแลเอสเอ็มอี และความร่วมมือในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และการเปิดตลาดสินค้าแลกเปลี่ยนในภาคอุตสาหกรรมบางรายการ ซึ่งรัฐเองก็เตรียมความพร้อมในการเรื่องการเยียวยาหากพบว่าอุตสาหกรรมหรือการเกษตรไทยได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีในกรอบอาร์เซ็ป “

 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยต้องเร่งเตรียมตัว เพราะมีเวลาอีกไม่เกิน 6-12 ปี เพื่อรองรับข้อตกลงที่เปลี่ยนแปลงไปบางส่วนและข้อตกลงใหม่ที่เกิดขึ้น ให้สามารถแข่งขันได้ รวมถึงเร่งศึกษากฎระเบียบ โดยกระทรวงพาณิชย์พร้อมจะเข้าไปดูแลให้ข้อมูล เพื่อให้ภาคเอกชนปรับตัวและใช้ประโยชน์ได้ และหลังจากนี้ทั้ง 15 ประเทศต้องทำ 2 เรื่อง คือ การทำให้อินเดียมีโอกาสเข้ามาร่วมมือในอาร์เซ็ปได้ในอนาคต หลังพักเจรจาชั่วคราว และทุกประเทศต้องเร่งให้สัตยาบัน เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ ซึ่งในส่วนอาเซียนต้องให้สัตยาบันเกิน 6 ประเทศ บวกกับประเทศคู่ค้าเกิน 3 ประเทศ

 

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของกระทรวงพาณิชย์ ที่จัดจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดทำโครงการศึกษาเรื่องผลกระทบของการจัดทำความตกลง RCEP และกลยุทธ์การเจรจาที่เหมาะสมสำหรับไทย พบว่า ความตกลง อาร์เซ็ป จะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยและประเทศคู่เจรจาขยายตัว โดยจีดีพีเพิ่มขึ้นจากเดิม 3.99% โดยปริมาณการบริโภคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 4.75 % ปริมาณการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 2.93% ปริมาณการบริโภคภาครัฐเพิ่มขึ้น 1.37 %ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 3.36 % และปริมาณการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น2.93% ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น ภาคีอื่นต่างก็ได้รับผลบวกในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

 

รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม

สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง