รีเซต

จีนยื่นใบสมัครเข้าร่วม"ซีพีทีพีพี" หวังเพิ่มอิทธิพลในภูมิภาค ญี่ปุ่นขอหารือสมาชิกก่อน

จีนยื่นใบสมัครเข้าร่วม"ซีพีทีพีพี" หวังเพิ่มอิทธิพลในภูมิภาค ญี่ปุ่นขอหารือสมาชิกก่อน
มติชน
17 กันยายน 2564 ( 13:24 )
182

รอยเตอร์ รายงานเมื่อวันที่ 17 กันยายนนี้ว่า กระทรวงพาณิชย์จีนเผยแพร่แถลงการณ์เมื่อตอนดึกวันที่ 16 กันยายนนี้ระบุว่า จีนได้ยื่นใบสมัครเข้าร่วมเป็นชาติสมาชิกของ “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” หรือ “ซีพีทีพีพี” อย่างเป็นทางการแล้ว โดยนาย หวัง เหวินเถา รัฐมนตรีพาณิชย์จีน ได้ยื่นใบสมัครดังกล่าวพร้อมจดหมายผ่านนายแดเมียน โอคอนเนอร์ รัฐมนตรีการค้าของประเทศนิวซีแลนด์ 1 ใน 11 ชาติสมาชิกของซีพีทีพีพีพี เมื่อวันที่ 16 กันยายน โดยนายหวังและนายโอคอนเนอร์ ได้หารือกันถึงขั้นตอนต่อๆไปของการสมัครสมาชิกดังกล่าวผ่านระบบการประชุมทางโทรศัพท์อีกด้วย

 

 

ซีพีทีพีพี เป็นความตกลงด้านเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งเกิดขึ้นหลังจาก ความตกลงทีพีพี ที่เป็นความคิดริเริ่มของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา ที่ตั้งเป้าจะใช้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านอิทธิพลของจีน ต้องล่มลงเมื่ออดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่รับตำแหน่งต่อมา ประกาศถอนสหรัฐอเมริกาออกจากการเป็นสมาชิก ทำให้ 11 ชาติที่เหลือต้องมาปรับลดข้อกำหนดแล้วเปลี่ยนความตกลงใหม่เป็น ซีพีทีพีพี เมื่อปี 2018 โดยสมาชิก 11 ชาตินั้นรวมถึง ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, แคนาดา, ชิลีและนิวซีแลนด์ อยู่ด้วย

 

 

ทั้งนี้ หากสามารถเข้าร่วมในความตกลงซีพีทีพีพีนี้ได้ จะส่งผลให้อิทธิพลทางเศรษฐกิจและการค้าของจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นมหาศาล หลังจากที่ได้ร่วมลงนามเป็นภาคีสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป) ที่เป็นความตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรี 15 ชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา

 

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 กันยายน รัฐบาลญี่ปุ่นในฐานะ ประธานซีพีทีพีพีในปีนี้ แถลงถึงกรณีการสมัครเป็นสมาชิกของจีนว่า ทางญี่ปุ่นในฐานะประธาน จะได้หารือกับชาติสมาชิกทั้งหมดต่อไปว่าจะสนองตอบต่อการขอเป็นสมาชิกของจีนอย่างไร แต่ไม่ได้ระบุถึงกำหนดเวลาในการหารือดังกล่าวไว้แต่อย่างใด

 

 

นาย ยาสึโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีเศรษฐกิจญี่ปุ่น กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ทางการญี่ปุ่นเชื่อว่า ทางซีพีทีพีพี มีความจำเป็นต้องชี้ขาดว่า จีนมีความพร้อมที่จะดำเนินการเพื่อบรรลุถึงมาตรฐานสูงอย่างยิ่งที่ ซีพีทีพีพีกำหนดไว้หรือไม่ ก่อนที่จะเปิดโอกาสให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

 

 

ทั้งนี้ ทางการจีนพยายามล็อบบี้ เพื่อเข้าร่วมเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกซีพีทีพีพี มาตั้งแต่สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกไป โดยเฉพาะการดำเนินความพยายามเพื่อล็อบบี้ต่อออสเตรเลีย ด้วยการอ้างว่า การรับจีนเข้าเป็นสมาชิกจะช่วยให้จีนและออสเตรเลียสามารถร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้มีศักยภาพมหาศาล แม้ว่า ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศทั้งสองจะเสื่อมทรามลงมากในระยะหลังก็ตาม

 

 

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อังกฤษ ก็เริ่มต้นการเจรจาเพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงซีพีทีพีพี ในขณะที่ทางการไทยก็แสดงท่าทีให้ความสนใจต่อการเป็นสมาชิกของความตกลงนี้เช่นเดียวกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง