รีเซต

สำรวจประโยชน์ 'ไทย' ได้รับหลังเปิดอาร์เซ็ป เดินเครื่อง 1 มกราคม 2565

สำรวจประโยชน์ 'ไทย' ได้รับหลังเปิดอาร์เซ็ป เดินเครื่อง 1 มกราคม 2565
มติชน
3 มกราคม 2565 ( 11:28 )
57

เมื่อวันที่ 3 มกราคม นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ หลังเปิดอาร์เซ็ปว่า ในภาพรวมคาดว่าเมื่อความตกลง RCEP มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2565 จะทำให้ความตกลง RCEP เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากประเทศไทยจะสามารถขายสินค้าและบริการได้มากขึ้น โดยสามารถส่งออกไปยังตลาด RCEP ซึ่งมีขนาดใหญ่และมีศักยภาพ ครอบคลุมประชากรกว่า 1 ใน 3 ของโลก ตลอดจนสามารถดำเนินธุรกิจภายใต้สภาวะแวดล้อมที่มีความโปร่งใส ชัดเจน และอำนวยความสะดวก ทำให้สามารถลดต้นทุนและวางแผนธุรกิจได้

 

ทั้งนี้ ความตกลง RCEP เป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย และเป็น FTA ฉบับที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีประชากรรวมกัน 2,300 ล้านคน (30.2% ของประชากรโลก) มี GDP รวมมูลค่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (33.6% ของ GDP โลก) และมูลค่าการค้ารวม 10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (30.3% ของมูลค่าการค้าของโลก) สำหรับในช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย. 64) การค้าของไทยกับกลุ่มประเทศ RCEP มีมูลค่ารวม 2.83 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไป RCEP มูลค่า 1.33 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจาก RCEP มูลค่า 1.50 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

นางอรมนกล่าวต่อว่า ความตกลง RCEP จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและโอกาสในการส่งออกทั้งสินค้าและภาคบริการ ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น ส่งเสริมบทบาทของไทยในฐานะห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญของภูมิภาค นอกจากนี้ RCEP จะช่วยให้เกิดการค้าระหว่างกันมากขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศที่ไม่เคยมี FTA ระหว่างกัน เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อไทยในทางอ้อมอีกด้วย อีกทั้งความตกลง RCEP จะช่วยสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยในตลาด RCEP ได้มากขึ้นจาก FTA ที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากสมาชิก RCEP ยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ ในส่วนของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะลดและยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากไทย เพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ในสินค้า เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ได้สร้างโอกาสสิทธิพิเศษทางสินค้าเพิ่มขึ้น จะช่วยสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าของภาคธุรกิจไทยในตลาด RCEP จากการที่ 90-92% ของสินค้าส่งออกไทยจะไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าเมื่อส่งไปที่ตลาด RCEP โดยเฉพาะจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นได้เปิดตลาดเพิ่มเติมให้กับสินค้าของไทย ตัวอย่างรายการสินค้าที่ไทยได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดเพิ่มเติม อาทิ

 

1.เกาหลีใต้ จะลดภาษีศุลกากรให้กับผลไม้สดหรือแห้ง (อาทิ มังคุด และทุเรียน) และผลไม้และลูกนัตอื่นๆ แช่แข็ง จาก 8-45% เหลือ 0% ภายใน 10-15 ปี น้ำสับปะรด จาก 50% เหลือ 0% ภายใน 10 ปี และสินค้าประมง อาทิ ปลาสด/แช่เย็น แช่แข็ง และปลา/กุ้งแห้ง ใส่เกลือหรือแช่น้ำเกลือ จาก 10-35% เหลือ 0% ภายใน 15 ปี

 

2.ญี่ปุ่น จะลดภาษีศุลกากรให้กับผักปรุงแต่ง อาทิ มะเขือเทศ ถั่วบีน หน่อไม้ฝรั่ง และผงกระเทียม จาก 9-17% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี สับปะรดแช่แข็ง จาก 23.8% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี และกาแฟคั่ว จาก 12% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี

 

3.จีน จะลดภาษีศุลกากรให้กับสับปะรดปรุงแต่ง น้ำสับปะรด น้ำมะพร้าว และยางสังเคราะห์ จาก 7.5-15% เหลือ 0% ภายใน 20 ปี ชิ้นส่วนยานยนต์ (อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างหรือให้สัญญาณ และที่ปรับกระจกในรถยนต์) ลวดและเคเบิ้ล สำหรับชุดสายไฟที่ใช้ในรถยนต์ จาก 10% เหลือ 0% ภายใน 10 ปี

 

นางอรมนกล่าวอีกว่า นอกเหนือจากเรื่องการเปิดตลาดสินค้าที่เพิ่มขึ้นแล้ว ความตกลง RCEP จะช่วยยกระดับมาตรฐานและอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการมากขึ้นในเรื่องต่างๆ อาทิ พิธีการศุลกากรง่ายขึ้นและการอำนวยความสะดวกทางการค้ามีมากขึ้น มีการเพิ่มเติมเนื้อหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าในปัจจุบันมากขึ้น ลดความยุ่งยากและซับซ้อน เช่น การกำหนดเวลาตรวจปล่อยสินค้า ณ ด่านศุลกากร สำหรับสินค้าเร่งด่วนและเน่าเสียง่ายต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าทั่วไปภายใน 48 ชั่วโมง เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการที่พึ่งพาการนำเข้า-ส่งออกสามารถวางแผนล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสามารถยื่นเอกสารและข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าก่อนที่สินค้าจะมาถึงในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย

 

สำหรับแนวปฏิบัติด้านมาตรฐานสินค้ามีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งในเรื่องมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง ภายใต้ความตกลง RCEP ประเทศสมาชิกได้ตกลงร่วมกันให้มีข้อผูกพันที่มีรายละเอียดแนวทางการปฏิบัติของประเทศผู้นำเข้าที่ชัดเจนมากกว่าความตกลง SPS และ TBT ภายใต้ WTO และภายใต้ความตกลง FTA อื่นๆ ที่ผ่านมา เช่น การกำหนดมาตรฐานและ/หรือมาตรการใหม่ๆ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และส่งเสริมให้มีการยอมรับมาตรฐานระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยปรับประสานมาตรฐานและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมในภูมิภาคให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

มีการกำหนดระยะเวลาที่หน่วยงานของประเทศผู้นำเข้าที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานเป็นภาษาอังกฤษ เปิดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากประเทศสมาชิกสามารถให้ข้อคิดเห็นต่อมาตรการใหม่ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้า รวมถึงมีระยะเวลาในการปรับตัวที่เหมาะสม ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกร ผู้ผลิต และผู้ส่งออกของไทยมีระยะเวลาในการปรับตัวได้อย่างทันท่วงทีในกรณีที่ประเทศสมาชิกมีการเปลี่ยนแปลงหรือนำมาตรการใหม่ๆ มาใช้

 

มีการกำหนดจุดติดต่อเพื่อการประสานงาน และในกรณีที่เกิดปัญหาทางเทคนิค ก็จะมีช่องทางในการประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการนำมาตรการมาใช้ โดยจะต้องมีการตอบสนองภายในระยะเวลาที่กำหนด 30-60 วัน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคและผลกระทบความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ

 

ทั้งนี้ ข้อผูกพันที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการส่งออกของประเทศผู้นำเข้าได้สะดวกขึ้น

 

นางอรมนกล่าวด้วยว่า ยังเป็นโอกาสขยายห่วงโซ่อุปทานจากการสะสมถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น RCEP จะช่วยเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้วัตถุดิบจากประเทศสมาชิกที่มีมากถึง 15 ประเทศ (อาเซียน 10 ประเทศ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์) มาผลิตและส่งออกไปตลาด RCEP โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และการใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกันในแต่ละสินค้า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและความยุ่งยากในการบริหารจัดการ เช่น ผู้ผลิตน้ำผลไม้จากไทย สามารถซื้อวัตถุดิบที่ไทยอาจขาดแคลนจากสมาชิก RCEP เข้ามาผลิตและส่งไปจำหน่ายแก่สมาชิก RCEP อื่นๆ โดยได้สิทธิในเรื่องการลดภาษีนำเข้าเหมือนการใช้วัตถุดิบในประเทศ รวมถึงวัตถุดิบพื้นฐานหลายชนิดของไทยก็น่าจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแป้งมันสำปะหลัง ยางพารา ที่นำไปผลิตเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวหรือด้ายยางวัลแคไนซ์ อาจรวมถึงผลไม้ชนิดต่างๆ ที่จะถูกซื้อไปเป็นวัตดุดิบในการแปรรูปมากขึ้น

 

ในด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้ามีความชัดเจนและตรงกระบวนการผลิตจริงมากขึ้น RCEP ถือเป็น FTA ฉบับแรกของอาเซียนที่มีการจัดทำกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules หรือ PSRs) กับทุกรายการสินค้า เพื่อสะท้อนกระบวนการผลิตที่แท้จริง และสามารถได้รับสิทธิการยกเว้นภาษีศุลกากร โดยสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าภายใต้ RCEP อาทิ อาหารปรุงแต่ง อาหารสัตว์เลี้ยง รองเท้า และเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก รวมไปถึงปลาทูน่ากระป๋อง ที่ไทยนำเข้าวัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากแหล่งนอกภูมิภาค ก็จะสามารถผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดและได้รับสิทธิการลดภาษีนำเข้าได้ง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับความตกลง FTA ก่อนหน้า เช่น ไทย-ญี่ปุ่น อาเซียน-ญี่ปุ่น และอาเซียน-เกาหลีใต้ ที่จำกัดวัตถุดิบให้มาจากประเทศภาคีด้วยกันเท่านั้น

 

“อีกเรื่อง RCEP สร้างโอกาสในการขยายตลาดการค้าบริการและการลงทุนในไทยและภูมิภาคมากขึ้น โดยความตกลงกำหนดให้ประเทศสมาชิกลดหรือยกเลิกกฎระเบียบและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการและการลงทุนระหว่างกันเช่น ข้อกำหนดเรื่องสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติ เงื่อนไขด้านสัญชาติของผู้ให้บริการ ข้อจำกัดในด้านประเภทของผู้ให้บริการ และข้อจำกัดด้านสัดส่วนและสัญชาติของกรรมการบริหาร ซึ่งทำให้นักลงทุนจากประเทศสมาชิกไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และสามารถให้บริการหรือเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิกได้โดยสะดวกขึ้น โดย 1.ด้านกฎระเบียบ โดยเป็นการยกระดับกฎระเบียบภายในประเทศให้มีมาตรฐาน โปร่งใส และเป็นธรรม ไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการค้าบริการและการลงทุนโดยไม่จำเป็น เช่น กฎระเบียบในด้านขั้นตอนการขอรับใบอนุญาต การเปิดเผยข้อมูล และการตรวจสอบคุณวุฒิ/คุณสมบัติของผู้ให้บริการ ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนไทยสามารถจัดตั้งกิจการและลงทุนในประเทศของสมาชิกได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

 

“2.ด้านการเปิดตลาด การเปิดตลาดของประเทศคู่เจรจาจะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในประเทศภาคี RCEP ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ โดยสาขาที่มีการเปิดตลาดเพิ่มเติมให้กับไทย อาทิ จีน (บริการด้านสังคมสำหรับผู้สูงอายุ) เกาหลีใต้ (เกมส์ออนไลน์) ออสเตรเลีย (โรงพยาบาล) ในทางกลับกัน การเปิดตลาดของไทยในสาขาที่มีความขาดแคลน มีความต้องการการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น วิจัยและพัฒนา บริการปกป้องสิ่งแวดล้อม การศึกษา ซ่อมบํารุงชิ้นส่วนอากาศยาน/ เรือขนาดใหญ่/อุปกรณ์ขนส่งทางราง การผลิตหุ่นยนตสําหรับอุตสาหกรรม ก็จะช่วยดึงดูด การลงทุนจากต่างชาติ เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นในประเทศ และต่อยอดเป้าหมายการส่งเสริมอุตสาหกรรม S curve ตามนโยบายรัฐบาล” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง