รีเซต

เตือนคนไทยอย่าประมาทโควิด "โอไมครอน" แม้ป่วยรุนแรงน้อยแต่แพร่เชื้อเร็วมาก

เตือนคนไทยอย่าประมาทโควิด "โอไมครอน" แม้ป่วยรุนแรงน้อยแต่แพร่เชื้อเร็วมาก
TNN ช่อง16
7 ธันวาคม 2564 ( 09:34 )
103
เตือนคนไทยอย่าประมาทโควิด "โอไมครอน" แม้ป่วยรุนแรงน้อยแต่แพร่เชื้อเร็วมาก

วันนี้ (7ธ.ค.64) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า  7 ธันวาคม 2564...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 418,375 คน ตายเพิ่ม 4,758 คน รวมแล้วติดไปรวม 266,599,105 คน เสียชีวิตรวม 5,276,361 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมัน รัสเซีย และฮังการี

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.03 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.47

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นมากถึงร้อยละ 60.41 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 64.39 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก

...สำหรับสถานการณ์ไทยเรา

เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 4,000 คน สูงเป็นอันดับ 23 ของโลก

หากรวม ATK อีก 1,157 คน ก็ขยับเป็นอันดับ 17 ของโลก

ยอดรวม ATK จะเป็นอันดับ 5 ของเอเชีย รองจากตุรกี เวียดนาม อินเดีย และจอร์แดน

...อัพเดต 3 เรื่อง

1. สถานการณ์ระบาดของโอไมครอนในแอฟริกาใต้

ชัดเจนว่าในไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โอไมครอนระบาดอย่างรวดเร็ว มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นมาก โดยกราฟการระบาดชันกว่าเดลต้าอย่างมาก แสดงถึงสมรรถนะในการแพร่ที่สูงกว่าเดลต้า 

ปัจจุบันอัตราการเพิ่มของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของแอฟริกาใต้อยู่ราว 25%

จำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลนั้นสูงขึ้นชัดเจน ทำให้ภาระของระบบสาธารณสุขสูงขึ้นมากในพื้นที่ระบาด

ช่วงเวลาเหลื่อมระหว่างติดเชื้อกับนอนโรงพยาบาลนั้น (Lag time between infection and hospitalization) น่าจะอยู่ระหว่าง 5-7 วัน

ในขณะนี้ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้เสียชีวิตว่าจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด จำเป็นจะต้องติดตามต่ออีก 1-2 สัปดาห์ น่าจะสรุปได้ว่าอัตราตายน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้จริงหรือไม่ คาดการณ์ว่าถ้าเป็นไปในลักษณะนี้อัตราตายจะน้อยกว่าเดิมอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง 

2. ข้อมูลจากสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับโอไมครอน

หากดูอัตราของจำนวนการติดเชื้อใหม่ต่อจำนวนคนที่ป่วยจนต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล จะพบว่าดูจะมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าระลอกก่อนหน้า นั่นแปลว่าโอกาสติดเชื้อแล้วป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลดูจะลดลงกว่าเดิม

ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจต้องติดตามต่อไปอีกระยะเช่นกันว่า จำนวนติดเชื้อโอไมครอนที่กำลังเพิ่มขึ้นนั้น ลักษณะของประชากรที่ติดเชื้อในสหราชอาณาจักรนั้นเป็นเช่นไร เหมือนและต่างจากแอฟริกาใต้หรือไม่ และหากมีการแพร่กระจายมากขึ้นกว่านี้ จะยังคงอัตราเดิมให้เห็นหรือไม่

3. ข้อมูลจากอิสราเอลเกี่ยวกับผลจากการฉีดกระตุ้นเข็มสาม (mRNA vaccine)

เราทราบกันดีว่าอิสราเอลรณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มสามของ Pfizer/Biontech ไปก่อนหลายประเทศทั่วโลก

ข้อมูลจาด Yaniv Erkich และ Ido Irani วิเคราะห์จำนวนการติดเชื้อโควิด-19 ต่อประชากร 100,000 คน จำแนกตามช่วงอายุและจำนวนวัคซีนที่ได้รับ (ไม่ฉีดวัคซีน, 2 เข็ม และ 3 เข็ม) ตั้งแต่ธันวาคม 2563 เป็นต้นมา

พบว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้นดูจะลดโอกาสการเป็นโรคโควิด-19 ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้หากมองในแง่ดีจะพบว่า การที่ประชากรในประเทศฉีดวัคซีนมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้จำนวนประชากรกลุ่มเสี่ยงลดลง และน่าจะบรรเทาการระบาดในภาพรวมได้ อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการติดตามเรื่องระดับภูมิคุ้มกันที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และวางแผนเรื่องการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นระยะ

...สำหรับไทยเรา 

เน้นย้ำว่า อย่าประมาท เพราะยังไม่ถึงเวลาสรุปประเมินเรื่องอัตราตายของสายพันธุ์โอไมครอน 

และแม้อัตราตายจะน้อยกว่าเดิม หรือป่วยรุนแรงน้อยกว่าเดิม แต่หากแพร่เร็วขึ้นมากจนทำให้คนติดเชื้อมากขึ้นอย่างมากทั้งคนฉีดวัคซีนครบ ไม่ครบ หรือยังไม่ได้ฉีดก็ตาม ผลกระทบในแง่จำนวนคนนอนโรงพยาบาลและจำนวนผู้เสียชีวิต แบบ absolute numbers จริงนั้นก็จะมากกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้าที่รุนแรงกว่าแต่แพร่น้อยกว่าก็ได้

...In certain circumstances, the substantial increase in transmission could cancel out the decrease in severity...

การป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด เป็นกิจวัตร เป็นสิ่งจำเป็น

ใส่หน้ากากนะครับ เว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร

ด้วยรักและห่วงใย



ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ภาพจาก reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง