รีเซต

"ปุ๋ยนาโน" เลี้ยงแพลงก์ตอนในมหาสมุทร เพิ่มพลังกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์

"ปุ๋ยนาโน" เลี้ยงแพลงก์ตอนในมหาสมุทร เพิ่มพลังกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์
TNN ช่อง16
6 ธันวาคม 2565 ( 23:05 )
209

คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า แหล่งผลิตออกซิเจนขนาดใหญ่ที่สุดบนโลกของเรานั้น มาจากสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร ได้แก่ เหล่าสาหร่ายและแพลงก์ตอนพืช (Phytoplankton) ปริมาณมหาศาล ทว่า ล่าสุดสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาจจะมีบทบาททั้งช่วยผลิตแก๊สออกซิเจนและช่วย "กำจัดคาร์บอนไดออกไซด์" จากชั้นบรรยากาศของโลกได้อีกด้วย !!




นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการแห่งชาติแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ (Pacific Northwest National Laboratory - PNNL) ได้พัฒนา "ปุ๋ย" ชนิดพิเศษ ที่สามารถกระตุ้นให้เหล่าแพลงก์ตอนสามารถตรึงคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศโลกมาใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสงได้มากขึ้น


ปุ๋ยชนิดพิเศษนี้จัดเป็นอนุภาคขนาดจิ๋วระดับนาโน ที่ผ่านกระบวนการด้านพันธุวิศวกรรมมาแล้ว โดยมีชื่อย่อเรียกว่า ปุ๋ย ENP (Engineered Nanoparticles) ซึ่งในอนุภาคนาโนจะประกอบด้วยแร่ธาตุอนินทรีย์หลายชนิด เช่น อลูมิเนียมออกไซด์, ซิลิคอนไดออกไซด์ หรือส่วนประกอบของเหล็ก เป็นต้น 


ที่มาของภาพ Nature

 


สารแต่ละชนิดจะช่วยเร่งการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนพืช ร่วมกับเพิ่มประสิทธิภาพในการสังเคราะห์แสง เช่น ซิลิคอนมีคุณสมบัติในการดูดซับแสงอาทิตย์ จึงช่วยให้แพลงก์ตอนสามารถดูดซับแสงอาทิตย์มาร่วมปฏิกิริยากับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีขึ้น อีกทั้งยังเร่งกระบวนการสังเคราะห์แสงให้คาร์บอนไดออกไซด์ถูกใช้ได้มากขึ้นด้วย


อย่างไรก็ตาม การเติมปุ๋ย ENP ลงในมหาสมุทรไม่สามารถสัมฤทธิ์ผลได้ในครั้งเดียว จำเป็นต้องเติมลงไปเรื่อย ๆ เพื่อเลี้ยงให้แพลงก์ตอนเจริญเติบโตให้ดีพอเสียก่อน นั่นอาจนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายในการผลิตปุ๋ยด้วย ดังนั้น นักวิจัยจึงต้องทดลองในระยะยาวเสียก่อน เพื่อประเมินผลลัพธ์ที่ได้ว่าจะคุ้มกับค่าใช้จ่ายหรือไม่


ที่มาของภาพ Nature

 


ปัจจุบันหลายประเทศยังไม่สามารถลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ตามเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ ส่งผลให้ภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แม้การการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนในมหาสมุทร จะช่วยกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศได้ราว 3-5 หมื่นล้านตันต่อปี แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยชะลอความรุนแรงของภาวะโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพสักเท่าไร


ดังนั้น นักวิจัยเชื่อว่าการเติมปุ๋ย ENP กระตุ้นการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนในมหาสมุทร จะเป็นอีกหนึ่งวิธีการสำคัญที่ช่วยลดปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้ ร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อชะลอภาวะโลกร้อน ถึงกระนั้น ทั้งหมดนี้คงจะไม่สำเร็จหากปราศจากความร่วมมือจากผู้คนทั่วโลกในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง