รวมปัญหา TCAS #ฟ้องศาลเลื่อนสอบ สะท้อนการศึกษาทอดทิ้งเด็กไทย?
ข่าววันนี้ ทำเอา โซเชียลเดือด! นักเรียนแห่ติด แฮชแท็ก #ฟ้องศาลเลื่อนสอบ หลังเกิดดราม่า ไม่เลื่อนสอบ TCAS ทำเด็กเครียดสอบติดกัน
TCAS ระบบสุดปัง หรือสุดพังกันแน่?
TCAS หรือ ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 ออกแบบโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)
ขั้นตอนการคัดเลือกรูปแบบใหม่ เริ่มใช้ในปี 64 ดังนี้
- ขั้นตอนที่ 1 พิจารณาจากผลงานPortfolio
- ขั้นตอนที่ 2 โควตาเน้นคนในพื้นที่ ใช้คะแนนสอบกลาง (O-NET, GAT/PAT , 9 วิชาสามัญ) หรือมหาวิทยาลัยจัดสอบเอง
- ขั้นตอนที่ 3 รับสมัครพร้อมกัน แต่แยกเกณฑ์การคัดเลือก เลือกได้สูงสุด 10 อันดับ
- รูปแบบ Admission 1 เน้นคะแนนสอบ มหาวิทยาลัยกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกเอง ใช้คะแนน O-NET, GAT/PAT, 9 วิชาสามัญ, วิชาเฉพาะ
- รูปแบบ Admission 2 เน้นการเรียนในชั้นเรียน ใช้เกณฑ์กลางในการคัดเลือก แบ่งเป็น 10 กลุ่ม GPAX 20% O-NET 30% GAT/PAT 50% >>เกณฑ์ทั้ง 10 กลุ่ม
ปี 64 เกณฑ์การคัดเลือกเหมือนเดิม ปรับแค่คณะสัตวแพทย์ เพิ่ม PAT 1 10%
- ขั้นตอนที่ 4 มหาวิทยาลัยกําหนดเกณฑ์คัดเลือกรับตรงอิสระ เน้นคนที่ยังไม่มีที่เรียน
หากดูเทรนทวิตเตอร์ตอนนี้คงพบนักเรียน ม.ปลายต่างทวิตความในใจจากปัญหาการสอบ TCAS ปี64 เพราะปีนี้การสอบชนกับสอบปลายภาคของโรงเรียน จัดสอบติดกันเกินไปและผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การเตรียมตัวอ่านหนังสือไม่เต็มที่เท่าที่ควร
ด้านนายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ยืนยัน ไม่สามารถเลื่อนสอบได้ เพราะจะกระทบกับสนามสอบทั่วประเทศ และหน่วยงานกรรมการคุมสอบ เนื่องจากกำหนดการทั้งหมดถูกวางไว้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 แล้ว แม้จะอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 นักเรียนก็จะต้องปรับตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง เพราะโอกาสเป็นของคนที่พร้อมเสมอ
ตารางการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีดังนี้
- GAT PAT สอบ 20-23 มี.ค. 64 และประกาศผลสอบ 23 เม.ย. 64
- O-NET สอบ 27-28 มี.ค. 64 และประกาศผลสอบ 27 เม.ย. 64
- 9 วิชาสามัญ สอบ 3-4 เม.ย. 64 และประกาศผลสอบ 29 เม.ย. 64
- วิชาเฉพาะของแต่ละสถาบัน จะจัดสอบอยู่ในช่วง 6-10 เม.ย. 64
เมื่อสังเกตุจากตารางการสอบพบว่า การสอบติดกันหลายวัน ส่งผลให้เด็กเกิดความเครียด รวมทั้งระบบการสอบที่เปลี่ยนแปลงและซ้ำซ้อน อาจทำให้เด็กต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา แล้วการเปลี่ยนแปลงแบบนี้เป็นปัญหาทางการศึกษาหรือไม่?
ย้อนดูการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กไทย
ปี 2549 ระบบแอดมิชชัน (Admissions) ที่ใช้คะแนนเกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX) และคะแนนจากข้อสอบกลางเอเน็ต (A-NET) และโอเน็ต (O-NET) แต่มาตรฐานการเรียนของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน ทำให้เกรดแตกต่างกัน
ปี 2553 ระบบแอดมิชชัน ระยะที่ 2 ลดคะแนนเกรดลง เปลี่ยนการสอบเอเน็ต มาเป็นแกท/แพท (GAT/PAT) และเพิ่มข้อสอบ 7 วิชาสามัญ
ปี 2556 เพิ่มข้อสอบจาก 7 วิชาสามัญเป็น 9 วิชาสามัญ
ปี 2561 ระบบทีแคส(TCAS) ที่ตั้งแต่เริ่มใช้ก็มีปัญหาเกิดขึ้นมากมายในการสอบ
สรุปรวมปัญหา TCAS ในช่วงที่ผานมา
- ค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบแพง
- เว็บไซต์ขัดข้อง ผู้สมัครเข้าระบบไม่ได้และหาคณะที่เลือกไม่เจอ
- ประกาศผลคะแนนคาดเคลื่อน
- แจ้งตารางสอบล่าช้า
- จัดวันสอบติดกัน หรือตรงกับการสอบภายในโรงเรียน
การสอบ TCAS นี้ จึงเปรียบเสมือนประตูด่านใหญ่ของเด็ก ซึ่งช่วงรอยต่อของการเข้ามหาวิทยาลัยถือเป็นก้าวสำคัญของนักเรียน ม.ปลาย หากมีระบบการศึกษาที่รองรับการเรียนต่อของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจทำให้เด็กได้มีอนาคตในแบบฉบับที่เขาตั้งใจไว้ ไม่ใช่การตั้งใจสอบให้ผ่านเพื่อได้เรียนคณะอะไรก็ได้ที่สอบติด
ข้อมูลจาก : ทรูปลูกปัญญา , www.dek-d.com