เปิดสูตรวัคซีน "ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า" สู้โควิดสายพันธุ์เดลต้า
วันนี้ (9 ก.ค.64) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดผลการศึกษาขั้นต้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา จากอินเดีย โดยระบุว่า
ในขณะที่วัคซีนชนิดอื่นๆ เช่น mRNA หรือ Protein subunit ยังไม่มี การบริหารวัคซีนที่มี 2 ชนิด คือ ซิโนแวค หรือ ซิโนฟาร์ม และแอสตร้าเซนเนก้า จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องรีบหาคำตอบว่าสูตรไหนจะป้องกันสายเดลต้าได้
จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ซิโนแวค 2 เข็ม แม้ระดับ Neutralize antibody ขึ้น 80-90% แม้ว่าจะวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธ์ุอัลฟ่าได้บ้าง แต่ไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้เลย
แต่ในคนที่ได้แอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็ม และมีระดับ Neutralize antibody ที่สูงเกิน 90% สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้ดีระดับหนึ่ง
และผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อ B.1.1.7 เมื่อระลอก 3 ที่ผ่านมา เมื่อได้รับการกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเข็มเดียว ให้ระดับการป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้เทียบเท่าแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม
ส่วนผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อ B.1.1.7 อีกคน แม้ว่าจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธ์ุอัลฟ่าที่สูงแต่กับเดลต้ามีน้อยมาก
ดังนั้น วัคซีนสูตรผสม "ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า" ให้ระดับการป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้ดีกว่า ซิโนแวค 2 เข็ม แต่ไม่เท่าแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม
สุดท้าย ที่ดูแนวโน้มดีสุด คือ ผู้ที่ได้ "ซิโนแวค 2 เข็ม + แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม" ที่เป็นอาสาสมัครในการทดสอบ มีระดับภูมิคุ้มกัน Neutralize antibody สูง 99% รวมถึง ค่า IC50 ต่อสายพันธุ์ เดลต้า ในระดับสูงสุด
จากข้อมูลการศึกษาเบื้องต้น แม้ว่าในประเทศไทยจะยังไม่มีวัคซีน mRNA แต่สำหรับบุคลากรด่านหน้าผู้เสียสละ ซึ่งได้รับซิโนแวคเป็นส่วนมากในช่วงแรก แต่ระดับการป้องกันตอนนี้คงไม่เพียงพอต่อไวรัสกลายพันธุ์เดลต้า ดังนั้น การใช้แอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้น ก็น่าจะเพียงพอให้ปลอดภัยในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนชนิด mRNA
ข้อมูลจาก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha