รีเซต

เปิด 20 อาชีพแห่งโลกอนาคต ตลาดต้องการหลังยุคโควิด-19

เปิด 20 อาชีพแห่งโลกอนาคต ตลาดต้องการหลังยุคโควิด-19
TNN ช่อง16
7 ธันวาคม 2563 ( 08:45 )
332
เปิด 20 อาชีพแห่งโลกอนาคต ตลาดต้องการหลังยุคโควิด-19

จากมาตรการควบคุมการป้องกันการระบาดโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังคงอยู่ และผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ได้เร่งกระบวนการ Digitalization และ เร่งกระบวนการนำเครื่องจักรมาแทนคน (Automation) มากขึ้น ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Double Disruption ที่ส่งผลกระทบต่อแรงงานทั่วโลกโดยตรง

 

เรามาดูแนวโน้มตลาดงานในอนาคตว่า แรงงานยุคใหม่จะต้องมีทักษะอะไรติดตัวบ้าง เพื่อที่จะอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยจากการะบาด และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้ 

 

เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ได้ออกมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้สถานที่ทำงานและธุรกิจที่ไม่จำเป็นต่างๆ ต้องปิดทำการ จนส่งผลให้อัตราการว่างงานในหลายประเทศสูงเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่าช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลก ในช่วงปี 2550-2551 เสียอีก โดยเฉพาะใน "สหรัฐอเมริกา" ที่มีอัตราว่างงานสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 14.7% ในเดือนเมษายนผ่านมา

 


อย่างไรก็ดี ล่าสุด ตัวเลขว่างงานในหลายประเทศทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวบ้างแล้ว หลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ โดยตามข้อมูลจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุว่า อัตราว่างงานสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนลดลงเหลือ 6.7% แล้วนับว่าฟื้นตัวดีกว่า ยุโรปมีที่อัตราว่างงานเฉลี่ยสูงถึง 8.4 % ในเดือนตุลาคม อย่างมาก

 

สำหรับสถานการณ์จ้างงานภาพทั่วโลกในปีนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ (IMF) ได้ประเมินว่า น่าจะมีประชากรประมาณ 15 เปอร์เซนต์ ใน 35 ประเทศทั่้วโลก เสี่ยงที่จะถูกพัก หรือปลดออกจากงาน พร้อมทั้งประเมินด้วยว่า อัตราว่างงานประเทศไทย ในปีนี้และปีหน้าน่าจะอยู่ที่ 1.0 เปอร์เซนต์ ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2562

 


ขณะที่ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี (OECD) ก็เคยได้ประเมินไว้เช่นกันว่า อัตราว่างงานของประเทศสมาชิก 34 ประเทศ น่าจะสูงถึง 12.6 เปอร์เซนต์ ในปีนี้ ก่อนจะฟื้นตัวอยู่ที่ 8.9 เปอร์เซนต์ ภายในสิ้นปีหน้า ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า มีการระบาดที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องชะลอตัว 2 ระลอก

 


สำหรับผู้คนที่ยังสามารถรักษาเก้าอี้ หรือหางานใหม่ในช่วง COVID-19 ไว้ได้ ในรายงาน The Future of Jobs ของสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum  ได้แบ่งลูกจ้างที่สามารถอยู่รอดได้ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 

 


1. "แรงงานจำเป็น"  (essential workers) เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พนักงานจัดส่ง ลูกจ้างร้านขายอาหาร เกษตรกร และผู้ผลิตสินค้าทางการแพทย์

2. "พนักงานที่ทำงานทางไกล" (remote workers) หรือผู้ที่ทำงานจากบ้าน

3. "แรงงานพลัดถิ่น" (displaced workers) ซึ่งหมายความถึง ผู้ที่ต้องโยกย้ายออกจากงานเดิมในระยะสั้น หรือระยะยาว ซึ่งส่วนใหญ่คือ ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก อย่างเช่น อุตสาหกรรมการบริการ ค้าปลีก การเดินทาง และการท่องเที่ยว

 



เพื่อให้เห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ADP Research Institute ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านการจัดการทรัพยากรบุคคลในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมศิลปะ บันเทิง และสันทนาการ รวมไปถึง บริการที่พักและอาหาร กลายเป็นกลุ่มที่กลายเป็น แรงงานพลัดถิ่น (displaced workers) มากที่สุด รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจให้เช่า ลิสซิ่ง และอื่นๆ 

 

ขณะที่ อุตสาหกรรมบริการทางการเงินและการประกันภัย ขายปลีก ภาครัฐ สาธารณสุข การดูแลสุขภาพ และก่อสร้าง กลับเป็นธุรกิจที่มีผู้โยกย้ายงานเข้าไปทำมากที่สุด

 

 เพื่อรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ World Economic Forum พบว่า ภาคธุรกิจส่วนใหญ่เลือกที่จะเร่งกระบวนการดิจิทัลไลเซชั่น (Digitalization) ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนหรือเสริมสร้างการทำงาน ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมากที่สุดกว่า 84 เปอร์เซนต์ รองมาคือ การให้โอกาสพนักงานเลือกที่จะทำงานทางไกล 83 เปอร์เซนต์ 

 

การเร่งกระบวนการนำเครื่องจักรมาใช้แทนคน หรือ Automation ถึง 50 เปอร์เซนต์ รวมไปถึง การเพิ่มและสร้างทักษะแรงงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลประมาณ 42 เปอร์เซนต์ 

 

ขณะที่ มีบริษัทเพียง 28 เปอร์เซนต์เท่านั้น ที่เลือกจะลดจำนวนแรงงานชั่วคราว และอีก 13 เปอร์เซ็นต์เลือกที่จะปลดพนักงานถาวร

 


จากการสำรวจของ World Economic Forum จะเห็นได้ว่า ภาคธุรกิจจำนวนมาก เลือกที่จะรับเอาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ เพื่อรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมต่างๆ จึงมาสู่ @ คำถามที่สำคัญต่อมา คือ เทคโนโลยีอะไรที่บริษัทต่างๆ มีแนวโน้มจะรับเอามาใช้มากที่สุด และเราในฐานะ "แรงงาน" ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควรจะปรับตัว reskill หรือ upskill ด้านไหนเพื่อให้ตอบโจทย์กับเทคโนโลยีที่กำลังมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ตามผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจทั่วโลกเกี่ยวกับ เทคโนโลยีอะไรที่พวกเขานะจะรับเอามาใช้ ภายในปี 2568 (ค.ศ. 2025) ของ World Economic Forum พบว่า Cloud computing มีแนวโน้มที่จะถูกนำมาใช้มากที่สุด มากกว่า 80% รองลงมาคือ Big data analytics, Internet of things, ปัญญาประดิษฐ์ (AI), ขณะที่ การเข้ารหัสข้อมูลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญอย่างมากในวันนี้ ก็มีแนวโน้มที่จะถูกใช้เพิ่มมากขึ้นถึง 29 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อปี 2561

 


จากแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะถูกนำมาใช้ภายในปี 2568 นำไปสู่คำตอบสำคัญของวันนี้ว่า "ตำแหน่งอะไรที่นายจ้างกำลังต้องมากขึ้น" และ "ตำแหน่งอะไรที่นายจ้างต้องการลดลง" ซึ่งรายงาน Jobs of Tomorrow report ของ The World Economic Forum ได้สรุป 20 อันดับแรกมาแล้ว ได้แก่

 

งานเป็นที่ต้องการมากขึ้น20 อันดับแรก

 

1.นักวิเคราะห์ข้อมูลและData Scientists

2.ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ Machine Learning

3.ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data

4.ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและกลยุทธ์ดิจิทัล

5.ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการอัตโนมัติ

6. ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาธุรกิจ

7.ผู้เชี่ยวชาญด้านการแปลงดิจิทัล

8.นักวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยข้อมูล

9.นักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่น

10.ผู้เชี่ยวชาญด้าน Internet of Things

11.Project  Managers

12.ผู้จัดการฝ่ายบริหารและบริการธุรกิจ

13.ผู้เชี่ยวชาญด้านฐานข้อมูลและเครือข่าย

14.วิศวกรหุ่นยนต์

15.ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์

16.นักวิเคราะห์การจัดการและองค์กร

17.วิศวกร FinTech

18.ช่างกลและช่างซ่อมเครื่องจักร

19.ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาองค์กร

20.ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความเสี่ยง





 

งานเป็นที่ต้องการน้อยลง 20 อันดับแรก


1.พนักงานป้อนข้อมูล

2.เลขานุการฝ่ายบริหารและผู้บริหาร

3.พนักงานบัญชีและดูแลเงินเดือน

4.นักบัญชีและผู้ตรวจสอบบัญชี

5.แรงงานในโรงงาน

6.ผู้จัดการฝ่ายบริการธุรกิจและบริหาร

7.เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลและบริการลูกค้า

8.ผู้จัดการทั่วไปและฝ่ายปฏิบัติการ

9.ช่างซ่อมเครื่องจักรกล

10.พนักงานบันทึกข้อมูลคลังวัสดุ

11.นักวิเคราะห์การเงิน

12.พนักงานบริการไปรษณีย์

13.ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์วิทย์-เทคฯ

14.ผู้จัดการสัมพันธ์

15.พนักงานธนาคาร

16.พนักงานขายแบบ door-to-door

17.ผู้ติดตั้งและซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์-โทรคมนาคม

18.ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคล

19.ผู้เชี่ยวชาญด้านการฝึกอบรมและพัฒนา

20.คนงานก่อสร้าง

 




จะเห็นได้ว่า "งานที่ต้องการความเชี่ยวชาญ" (Professional Jobs) และ "งานด้านเทคโนโลยี" (Technology Jobs)  ล้วนแต่เป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ตรงกันข้ามกับ "งานที่ใช้ทักษะน้อย" (Low Skilled Jobs) อย่างเช่น พนักงานป้อนข้อมูล คนงานในโรงงาน และ "งานที่สามารถใช้เครื่องจักรแทนคนได้" (Automation) อย่าง พนักงานธนาคาร ผู้ดูแลเงินเดือน พนักงานบันทึกข้อมูลคลังวัสดุ ที่กำลังหมดความสำคัญไปเรื่อยๆ


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง