คลังชงครม.วันนี้ อนุมัติตั้ง NaCGA

คลังชงครม.วันนี้ อนุมัติตั้ง NaCGA หลังจากนั้นจะเร่งยกร่างกฎหมาย คาดมีผลราวกลางปีหน้า รองรับเป้าหมายประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก
#ทันหุ้น นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้ เพื่ออนุมัติการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ National Credit Guarantee Agency (NaCGA)
“การจัดตั้ง NaCGA ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ทางการเงินของประเทศ อาจจะสามารถเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ภายในวันอังคารที่ 13 ส.ค.นี้ ซึ่งในระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการขอรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้ทันภายในสัปดาห์หน้า ก็อาจจะเลื่อนออกไปอีกราว 2 สัปดาห์”
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง จะเสนอให้ ครม.พิจารณาในเรื่องหลักการของการจัดตั้ง NaCGA โดยจะมีการระบุหน้าที่ของ NaCGA ,รูปแบบของหน่วยงานนี้ รวมถึง แนวทางการอุดหนุนของภาครัฐ ต่อ SMEs ที่จะเข้ามาขอให้ NaCGA ค้ำประกันสินเชื่อให้
หากครม.อนุมัติในหลักการการจัดตั้ง NaCGA แล้ว กระทรวงการคลังก็จะกลับไปยกเป็นร่างกฎหมายในการจัดตั้ง NaCGA ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้เตรียมยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาแล้ว โดยการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่า ตัวกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ได้ราวกลางปีหน้า
เขากล่าวว่า เมื่อมีการจัดตั้งNaCGA แล้ว ตัว บสย.ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐในการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่SMEs ก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม และจะทำงานคู่ขนานไปกับ NaCGA แต่วิธีการทำงานและแนวทางการค้ำประกันจะแตกต่างกัน กล่าวคือ ระบบปัจจุบันที่ใช้ บสย.ในการค้ำประกันสินเชื่อนั้น สถาบันการเงินที่เป็นคนปล่อยสินเชื่อให้แก่ SMEs จะเป็นคนประเมินความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละรายด้วยตัวเอง หากเห็นว่ามีความเสี่ยงมาก ก็จะส่งมาให้ บสย.ช่วยค้ำประกัน และหาก บสย.ค้ำประกัน สถาบันการเงินก็จะปล่อยสินเชื่อให้แก่ SMEs รายนั้น
แต่ในกรณีของ NaCGA นั้น จะทำตัวเป็นเหมือนบริษัทประกัน แต่เป็นการประกันความเสี่ยงด้านการเงินและจะเป็นคนประเมินความเสี่ยงของ SMEs แต่ละรายด้วยตัวเอง แล้วออกหนังสือสัญญาค้ำประกันให้แก่ SMEs ตัว SMEs สามารถนำหนังสือรับรองฉบับนี้ ไปที่สถาบันการเงิน เพื่อให้เป็นหนังสือค้ำประกันเงินกู้ได้
นอกจากนี้ แนวทางการค้ำประกันสินเชื่อระหว่าง บสย.กับ NaCGA มีความแตกต่างกัน กล่าวคือบสย.ค้ำประกันแบบเป็นพอร์ตรวม หรือ PGS Scheme ในสัดส่วนไม่เกิน 30 % ของสินเชื่อในพอร์ตที่มีการค้ำประกัน แต่กรณีของ NaCGA เป็นการค้ำประกันแบบรายบุคคล หรือตาม Risk Base Pricing ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นภาระต่องบประมาณของรัฐต่ำกว่าแบบ PGS
“การค้ำประกันโดย NaCGA คล้ายกับการทำประกันภัยรถยนต์ ที่เบี้ยประกันขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละบุคคลว่ามีพฤติกรรมการขับรถยนต์ที่มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด หากเสี่ยงมาก ค่าเบี้ยประกันก็จะสูงหากเสี่ยงต่ำ ค่าเบี้ยประกันก็จะต่ำ ตัวอย่างเช่น หาก SMEs รายใดต้องการให้ NaCGA ค้ำประกันสินเชื่อให้ทั้ง 100 % ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันก็อาจจะสูงขึ้น กว่าการให้ NaCGA ค้ำประกันที่ 70-80% ของวงเงินสินเชื่อ”
อย่างไรก็ตาม ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของ NaCGA จะไม่สูงจนเกินไป เนื่องจากมีภาครัฐเข้ามาช่วยอุดหนุนค่าธรรมเนียมการค้ำประกันส่วนหนึ่งให้แก่ SMEs และอีกส่วนหนึ่งที่ SMEs ต้องจ่ายเอง ตามความเสี่ยง ( Risk Base Pricing)
ทั้งนี้ NaCGA เป็นส่วนหนึ่งของแผนการ Ignite Finance ของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก