รีเซต

เศรษฐกิจระส่ำ! ธปท. กุมขมับขอเช็กตัวเลขจีดีพีใหม่ หลังรัฐคุมเข้ม 6 จังหวัด เผยพ.ค. เริ่มเห็นผลชัด

เศรษฐกิจระส่ำ! ธปท. กุมขมับขอเช็กตัวเลขจีดีพีใหม่ หลังรัฐคุมเข้ม 6 จังหวัด เผยพ.ค. เริ่มเห็นผลชัด
ข่าวสด
30 มิถุนายน 2564 ( 15:39 )
33
เศรษฐกิจระส่ำ! ธปท. กุมขมับขอเช็กตัวเลขจีดีพีใหม่ หลังรัฐคุมเข้ม 6 จังหวัด เผยพ.ค. เริ่มเห็นผลชัด

 

 

เศรษฐกิจระส่ำ - น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มาตรการควบคุมพื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัด 30 วัน จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จากเดิมที่ ธปท. เคยคาดการณ์ไว้ โดยสถานการณ์ล่าสุดยังเห็นความไม่แน่นอน และความเสี่ยงต่างๆ ซึ่ง ธปท. ได้มองเผื่อไว้บางส่วน ซึ่งหากมีความรุนแรงมากขึ้น และยืดเยื้อ ก็ต้องพิจารณาตัวเลขประมาณการที่เหมาะสมต่อไป

 

 

นอกจากนี้ ธปท. ยังเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์การจ้างงาน ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 2 ครั้งที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับปัจจัยการจ้างงาน จากแนวโน้มการว่างงานระยะสั้น และ เป็นระยะยาวมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการสูญเสียทักษะแรงงาน รายได้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังไม่ให้การจ้างงานเกิดแผลเป็น

 

 

ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ค. 2564 ได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการแพร่ระบาดระลอก 3 ของโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 และมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ รายได้ของภาคครัวเรือน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลง แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อภาคครัวเรือนได้บางส่วน

 

 

สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามอุปสงค์ในประเทศและความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลงจากการแพร่ระบาดระลอก 3 ส่งผลให้การลงทุนทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้างปรับลดลง

 

 

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน มูลค่าการส่งออกในเดือนพ.ค. ขยายตัว 44.4% โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามอุปสงค์จากต่างประเทศ หมวดสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงได้รับผลดีจากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ขยายตัว 56.6% โดยเฉพาะหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สอดคล้องกับการฟื้นตัวของการส่งออก

 

 

“การส่งออกที่ฟื้นตัวช่วยพยุงให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากเดือนก่อนในช่วงที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ต่อการผลิตและการส่งออกในบางสินค้า โดยเฉพาะอาหารแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า” น.ส.ชญาวดี กล่าว

 

 

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ในส่วนของการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนสะท้อนถึงบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตาม การเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรเป็นสำคัญ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมและชลประทาน ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่

 

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ จากผลของมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในระยะเดียวปีก่อนที่มีมาตรการลดค่าน้ำประปาของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบางและได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอก 3 โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อนตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอน แม้ดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นตามมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยตามเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่ โดยดัชนีค่าเงินบาทอ่อนค่าลงในเดือนมิ.ย. มีปัจจัยจากการระบาดโควิด-19 รอบใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง