แจงคลิปจีนระบายน้ำจากเขื่อน ทำไทยเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่? เตือน! 8 จว.เฝ้าระวังน้ำโขงสูง
เป็นที่ฮือฮากับกระแสคลิป ประเทศจีนมีการระบายน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ พร้อมแคปชั่นชวนตกใจว่าไทยอาจเจอวิกฤตน้ำท่วม ต้องรีบหาแนวทางรับมือ ทำให้หลายๆคนกลัวว่าจะเกิดน้ำท่วมหนักทั่วประเทศ เหมือนน้ำท่วมปี 54 พร้อมทั้งทางภาครัฐยังเตือนภัย 8 จังหวัดเสี่ยงติดริมแม่น้ำโขงให้ระวังการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหงของจีน ในช่วงฝนตกหนักต่อเนื่อง เพราะอาจทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น ช่วงวันที่ 31 ก.ค. – 20 ส.ค.นี้
สรุปคลิปเขื่อนจีนระบายน้ำ กระทบไทยหรือไม่
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงกรณีมีผู้แชร์คลิปวิดีโอการระบายน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่และมีข้อความระบุว่า “จีนจะระบายน้ำท่วมลงแม่น้ำโขงเดือนส.ค-ก.ย น้ำอาจท่วมใหญ่ที่ประเทศไทย-ลาว ประเทศไทยเตรียมรับมือเรื่องนี้หรือยัง” ระบุว่าเรื่องดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ และไม่มีความจริงแต่ประการใด โดย กอนช. ตรวจสอบแล้วพบว่า คลิปวิดีโอดังกล่าว เป็นการระบายน้ำของเขื่อนเสี่ยวล่างตี่ ซึ่งเป็นเขื่อนพลังงานไฟฟ้าแม่น้ำเหลือง (แม่น้ำฮวงโห) มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน ทั้งนี้ แม่น้ำเหลืองเป็นแม่น้ำที่อยู่บริเวณตอนกลางของประเทศจีนที่ไม่ได้เชื่อมต่อแม่น้ำล้านช้างที่เป็นต้นทางของแม่น้ำโขง
ทั้งนี้ แม่น้ำเหลือง หรือ แม่น้ำฮวงโห เป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับสองของประเทศจีน รองจากแม่น้ำแยงซี ไหลจากฝั่งตะวันตกไปยังฝั่งตะวันออก ผ่านหลายมณฑลในประเทศจีนและไหลออกสู่ทะเลเหลืองในที่สุด ส่วนแม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดมาจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะบริเวณที่ราบสูงทิเบตในบริเวณตอนเหนือของประเทศทิเบตและประเทศจีน ไหลเข้าสู่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และประเทศไทย ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ต่อจากนั้นไหลเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว ผ่านจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี แล้วไหลเข้าสู่ สปป.ลาว และกัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม
ในส่วนของการติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงนั้น กอนช. ได้รับการประสานข้อมูลปริมาณฝน และปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงจากสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะทำงาน กอนช. ทำให้มีข้อมูลทั้งข้อมูลคาดการณ์ล่วงหน้าและข้อมูล Real Time ในสถานีตรวจวัดระดับน้ำตลอดทั้งลำน้ำเพื่อให้สามารถเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด หากมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงจะได้แจ้งให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อไป ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกและขอให้หยุดแชร์คลิปดังกล่าว
8 จังหวัดริมโขง เฝ้าระวัง เขื่อนจีนระบายน้ำ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศฉบับที่ 6/2564 ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เรื่อง แจ้งเตือนสถานการณ์แม่น้ำโขง ตามที่ได้การประสานจากกระทรวงทรัพยากรน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีนแจ้งการปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหง เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงข่ายพลังงาน ในช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม – 20 สิงหาคม 2564
ทั้งนี้ กอนช.ได้คาดการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเนื่องจากการลดการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหง จากเดิม 900 – 1,300 ลูกบาศก์บาศก์เมตรต่อวินาที เหลือ 700 ลูกบาศก์บาศก์เมตรต่อวินาที พบว่า ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ลดลง 0.50 เมตร แต่เมื่อพิจารณาปริมาณฝนคาดการณ์ในพื้นที่แล้ว ยังคงมีฝนตกกระจายตัวในช่วง 3 – 5 วัน ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำไหลหลากลงสู่แม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง ในช่วงวันที่ 29 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2564
จากการประเมินสถานการณ์น้ำใน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง พบว่า ระดับน้ำยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และมีระดับต่ำกว่าตลิ่ง ได้แก่
1. จังหวัดเชียงราย ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 0.50 เมตร ช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2564 ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 7.55 เมตร
2.จังหวัดเลย ระดับน้ำคงที่ ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 6.02 เมตร
3. จังหวัดหนองคาย ระดับน้ำลดลง 0.70 เมตร ช่วงวันที่ 29 – 30 กรกฎาคม 2564 ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 5.27 เมตร
4. จังหวัดบึงกาฬ ระดับน้ำลดลง 0.40 เมตร ช่วงวันที่ ๓1 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2564ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 6.58 เมตร
5. จังหวัดนครพนม ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 0.10 เมตร ช่วงวันที่ 30 – 31 กรกฎาคม 2564 ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 4.3 เมตร
6. จังหวัดมุกดาหาร ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 0.85 เมตร ช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2564 ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 4.10 เมตร
7. จังหวัดอำนาจเจริญ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 0.40 เมตร ช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2564 ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 4.55 เมตร
8. จังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำลดลง 0.20 เมตร ช่วงวันที่ 2 - 3 สิงหาคม 2564 ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 4.94 เมตร
เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมรับมือล่วงหน้าให้แก่หน่วยงานในพื้นที่ กอนช. ได้มีหนังสือแจ้งเตือนระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 8 จังหวัดริมโขง ในฐานะประธานคณะอนุกรรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เตรียมความพร้อม และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงและแจ้งเตือนให้ประชาชนที่สัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง รวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขง ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบที่ีอาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของระดับน้ำในแม่น้ำโขงด้วย
ข้อมูลจาก กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รวม เหตุการณ์ "น้ำท่วมใหญ่" ในประเทศไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน
- จับตา! เขื่อนจีนแตก ลาวระบายน้ำ แม่น้ำโขงเพิ่มสูง ไทยเตรียมระวังน้ำท่วมฉับพลัน
- กรุงเทพฯ เสี่ยงเจอ ‘ลานีญา’ น้ำท่วมครั้งใหญ่เหมือนปี 54 หากฝนตกหนัก ซ้ำเคราะห์โควิด-19 ย้อนชมภาพน้ำท่วมปี 54
- เตือน! เขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ปล่อยน้ำ สั่งเชียงคานพร้อมรับมือน้ำท่วม