รีเซต

กรุงเทพฯ เสี่ยงเจอ ‘ลานีญา’ น้ำท่วมครั้งใหญ่เหมือนปี 54 หากฝนตกหนัก ซ้ำเคราะห์โควิด-19 ย้อนชมภาพน้ำท่วมปี 54

กรุงเทพฯ เสี่ยงเจอ ‘ลานีญา’ น้ำท่วมครั้งใหญ่เหมือนปี 54 หากฝนตกหนัก ซ้ำเคราะห์โควิด-19 ย้อนชมภาพน้ำท่วมปี 54
Ingonn
25 กรกฎาคม 2564 ( 11:35 )
980
กรุงเทพฯ เสี่ยงเจอ ‘ลานีญา’ น้ำท่วมครั้งใหญ่เหมือนปี 54 หากฝนตกหนัก ซ้ำเคราะห์โควิด-19 ย้อนชมภาพน้ำท่วมปี 54

 

สัญญาณเตือนน้ำท่วมใหญ่คล้ายปี 2554 หลัง ดร.เสรี โพสต์เตือภัย น้ำท่วมหนักที่มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน มาจากปริมาณฝนตกหนักในรอบ 1,000 ปี เกิดขึ้นทันทีภายใน 3 ปี และอาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้ หากมีปรากฎการณ์ลานีโญ ซึ่งอาจทำให้กรุงเทพเจอน้ำท่วมครั้งใหญ่คล้าย ปี 2554 แตกต่างที่ปีนี้มีวิกฤตโควิด-19 เข้ามาเพิ่ม

 

 

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต โพสต์ผานเฟซบุ๊ก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ระบุว่า 

 

 

สัปดาห์ก่อนมีเหตุการณ์ภัยซ้ำซ้อนน้ำท่วมใหญ่ที่ยุโรป มาสัปดาห์นี้ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมาที่ประเทศจีน ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 20 คน ในเมืองหลวง เจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน และมีการอพยพกว่า 200,000 คน สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจมน้ำ น้ำล้นตลิ่ง 

 

 

ด้าน ศ. Johnny Chan แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่า นี่คือผลพวงจากภาวะโลกร้อน ทำให้มีปริมาณฝนตกหนักในรอบ 1,000 ปี กล่าวคือปริมาณฝนสะสม 3 วัน ที่เมืองเจิ้งโจว มีมากถึง 617.1 mm (โดยที่ปริมาณฝนเฉลี่ยรายปีที่เมืองนี้ 640.8 mm) กล่าวคือฝนตก 3 วัน เทียบเคียงฝน 1 ปี เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดบ่อยครั้งขึ้นในอนาคต!

 

 

ปลายปีนี้คาดว่าปรากฏการณ์ลานีญา มีโอกาสเกิดขึ้น ถ้าปริมาณฝน 1,000 ปี มาตกในพื้นที่กรุงเทพมหานครในปีที่เราเผชิญกับ Covid-19 เหมือนเจิ้งโจวที่มีประชากรใกล้เคียง กทม. จะเกิดอะไรขึ้น? แผนรองรับเป็นอย่างไร? จะอพยพกันอย่างไร? อพยพไปที่ไหน? นี่คือมหันตภัยซ้ำซ้อน ที่เราควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และมีสติน่ะครับ ผมได้จำลองสถานการณ์ไว้แล้ว (ดูรูปแนบ) การประเมินความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญมาก โปรดติดตามตอนต่อไป!!

 

 

ภาพจำลองเหตุการณ์น้ำท่วมกทม.

 

 

ปรากฎการณ์ “ลานีญา” คืออะไร


เกิดจากความผกผันของกระแสอากาศโลกบริเวณเส้นศูนย์สูตรเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัด เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีคาบเวลาที่แน่นอน ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี ขณะที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งอาจกินเวลา 2 - 3 เดือนหรือนานกว่า

 

 

ลานีญาทำให้เกิดความแห้งแล้งทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้และเกิดฝนตกหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไทยเจอ “ลานีญา”


หากเกิดปรากฏการณ์ลานีญา จะทำให้ปริมาณฝนในประเทศไทยส่วนใหญ่เพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติโดยฉพาะช่วงฤดูร้อนและต้นฤดูฝน และพบว่าในช่วงกลางและปลายฤดูฝน ลานีญามีผลกระทบต่อสภาวะฝนของประเทศไทยไม่ชัดเจน 

 

 

สำหรับอุณหภูมิพบว่าลานีญามีผลกระทบต่ออุณหภูมิในประเทศไทยชัดเจนกว่าฝน โดยทุกภาคของประเทศไทยมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติทุกฤดู และพบว่าลานีญาที่มีขนาดปานกลางถึงรุนแรงส่งผลให้ปริมาณฝนของประเทศไทยสูงกว่าปกติมากขึ้น ขณะที่อุณหภูมิต่ำกว่าปกติมากขึ้น

 


นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดปัญหาอุทกภัยขึ้นได้ เช่น ในปี พ.ศ. 2554 อยู่ในช่วงปรากฏการณ์ลานีญาที่มีระดับรุนแรงส่งผลให้ประเทศไทย เนื่องจากฝนตกมากกว่าปกติจนเกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ เกิดความเสียหายอย่างหนักทั้งทางภาคการเกษตร อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังภาคส่วนอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท

 

 

 

ไทยพร้อมรับ "เอลนีโญ" มากแค่ไหน

 

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ สั่งการให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประเมินแนวโน้มปรากฏการณ์ลานีญาที่มีนักวิชาการแสดงความกังวลและให้ข้อสังเกตผ่านสื่อมวลชนว่า ปลายปีนี้ปรากฎการณ์ลานีญามีโอกาสเกิดขึ้น และหากเกิดฝนตกหนักรอบ 1,000 ปีเช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศที่ประสบอุทกภัยหนักในขณะนี้ 

 


กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พบว่า สถานการณ์ภาพรวมช่วงฤดูฝน ปี 2564 สภาพอากาศมีลักษณะคล้ายคลึงกับปี 2551 โดยช่วงต้นฤดูฝน เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม จะมีปริมาณฝนน้อยเสี่ยงเกิดภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ และจะมีฝนตกหนักในเดือนกันยายน – ตุลาคม เสี่ยงเกิดอุทกภัยบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ส่วนช่วงปลายปีเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม จะเกิดฝนตกหนักเสี่ยงเกิดน้ำท่วมบริเวณภาคใต้ สำหรับปริมาณฝนปี 2551 นั้นมีค่าน้อยกว่า ปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ด้วยเช่นกัน

 


ขณะที่การคาดการณ์ปรากฏการณ์ “ลานีญา” ปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ปรากฏการณ์ “เอนโซ” อยู่ในสภาวะปกติต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคม จากนั้นมีโอกาสพัฒนาเป็นปรากฏการณ์ ”ลานีญา” สภาวะอ่อนๆ ช่วงเดือน พฤศจิกายน – ธันวาคม ซึ่งมีผลให้เกิดฝนตกเพิ่มขึ้นบริเวณภาคใต้ และจากการคาดการณ์ฝน ONE MAP ช่วงเดือนสิงหาคม – ธันวาคม มีค่าฝนเฉลี่ยมากสุดในเดือนกันยายน ปริมาณ 260 มิลลิเมตร เท่านั้น ดังนั้น โอกาสที่ กทม.จะเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนัก รอบ 1,000 ปี หรือเกิน 350 มิลลิเมตรต่อวัน จึงมีความน่าจะเป็นน้อยมาก

 

 

 

ย้อนชมภาพน้ำท่วม ปี 54 

 

SAEED KHAN / AFP

 

 

SAEED KHAN / AFP

 

 

SAEED KHAN / AFP

 

 

SAEED KHAN / AFP

 

 

PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

 

 

NICOLAS ASFOURI / AFP 

 

 

 


ข้อมูลจาก ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์และโลกดาราศาสตร์ , คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร , รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ , มติชน

ภาพจาก AFP

 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง