วัดใจหุ้นไทย “Sell in May” ตัวไหนน่าลงทุนเช็กเลย

ปั่นป่วนไปทั่วโลกหลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศเก็บขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าในหลายประเทศ สร้างความวิตกกังวลให้กับตลาดหุ้นไม่น้อย ตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค. - เม.ย. ตลาดหุ้นไทยปรับลงรวม 203 จุด หรือ -14.5% โดยนักลงทุน ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยรวม 5.4 หมื่นล้านบาท สาเหตุหลักเกิดจาก 1.การเติบโตเศรษฐกิจไทย ทั้งภาคส่งออกมีความเสี่ยงจากนโยบายภาษีเข้าสหรัฐ 2.เศรษฐกิจไทยปีนี้ เติบโตต่ำกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียนและในเอเชีย ทำให้ความน่าสนใจลดลง
ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในเดือนพ.ค.จะเกิดภาวะ “Sell in May” หรือ การขายสินทรัพย์เสี่ยงจนทำให้ดัชนีร่วงหรือไม่นั้น TNN ONLINE ได้สัมภาษณ์กูรูถึงทิศทางหุ้นไทย ภาวะความเสี่ยง ลงทุนรับมือความผันผวนอย่างไรให้อยู่รอด ท่ามกลางสงครามทางการค้าที่นับวันเริ่มส่อเค้าปะทุจากการขึ้นภาษี “ทรัมป์”
เริ่มจาก นายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ AISA, CFTe ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.กรุงศรี เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยเดือนพ.ค. คาด ว่า แกว่ง Sideways to Sideways/Up” แม้ตลาดหุ้นเดือน พ.ค. จะเป็นช่วงฤดูกาลที่นักลงทุนขายหุ้นหลังได้รับเงินปันผลงวดปีก่อนหน้าไปแล้ว (Sell in May and go away) บ่งชี้จากสถิติย้อนหลัง 10 ปีที่ให้ผลตอบแทนเป็นลบเฉลี่ย -0.5% และมีความเป็นไปได้ที่ผลตอบแทนจะเป็นบวกราว 40%
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าตลาดยังมีโอกาสแกว่งในกรอบ - ผันผวนขึ้นได้ เนื่องจากตลาดหุ้นสะท้อนความเสี่ยงหลัก Trade Tariffs มามากแล้วจนมี Valuation ที่ Deep Discount โดยมี Current Equity Risk Premium ราว 4.91% อยู่ในโซนใกล้ AVG + 2 S.D. ทำให้ตลาดมีแนวโน้มให้น้ำหนักทางบวกที่หากเกิดขึ้นจะช่วยลด Downside ต่อเศรษฐกิจที่หลายสำนักทยอยปรับลดประมาณการไปแล้ว
ปัจจัยบวก-ลบ ที่ต้องติดตาม
-การเจรจามาตรการกีดกันการค้ากับสหรัฐฯ อิงสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแรงลงเร็ว GDP งวด 1Q25 (รายงานครั้งแรก) -0.3%q-q และสัญญาณชี้นำ อาทิ นอกจากนี้ ยังน่าจะรวมถึงโอกาสเม็ดเงินลงทุนจะสลับมายังตลาดหุ้นประเทศอื่นที่เศรษฐกิจกระทบน้อยกว่าสหรัฐฯ และ Valuation ไม่แพง
-ทิศทางนโยบายการคลัง โดยเฉพาะการคลายข้อจำกัดเพดานหนี้สาธารณะจากปัจจุบันที่ 70% ขณะที่ยอดล่าสุดอยู่ที่ 64% จะช่วยมีช่องว่างขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นภายในเพิ่มเติม รวมถึงการปรับแนวทางเน้นการกระตุ้นระยะสั้นสู่การลงทุนจะช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอีกด้าน
-เม็ดเงินใหม่ที่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทั้งจากท่าที BOT ที่ปรับนโยบายการเงินผ่อนคลาย (Easing) และกองทุน ThaiESGX
ทั้งนี้ ความเสี่ยงหลักอยู่ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ หากอ่อนลงเร็วจะกดดันสินทรัพย์เสี่ยงโลก และการดำเนินของรัฐฯ กรณีเจรจาได้เงื่อนไขที่ < ประเทศอื่นๆ การใช้นโยบายการคลังไม่มีประสิทธิภาพ
หุ้นเด่นวันนี้แนะนำ
เริ่มเห็นสัญญาณเม็ดเงินไหลกลับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน-ตลาดหุ้นไทย
ฝั่ง "ภราดร เตียรณปราโมทย์" ผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส มองว่า ในเดือนพ.ค. นักลงทุนกังวลว่าจะเกิดภาวะ Sell in May and go away (การขายหุ้นจนส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลง) เนื่องจากเป็นช่วงประกาศงบไตรมาส 1 และจ่ายเงินปันผลทำให้นักลงทุนโยกย้ายเม็ดเงินลงทุน และขายหุ้นทำกำไร
ซึ่งจากการดูสถิติย้อนหลังตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ในเดือน พ.ค. พบว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะทรงตัว หรือให้ผลตอบแทนเฉลี่ย ติดลบ 0.09% โดยแบ่งเป็นให้ผลตอบแทนบวก 25 ปี และติดลบ 25ปี ซึ่งเดือน พ.ค.ปี 2533 ดัชนีบวกสูงสุด 16.9% และ ดัชนีต่ำสุด เดือนพ.ค. ในปี 2541 ติดลบ 21%
ดังนั้นหากอิงสถิติในอดีต การเกิด Sell in May ยังมีความเป็นไปได้ แต่อาจจะไม่รุนแรง เนื่องจากปัจจุบันเริ่มเห็นตัวเลขเงินลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นเพื่อนบ้านและตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง โดยจากตัวเลขตั้งแต่วันที่ 1 -7 พ.ค. 68 พบว่า
- ต่างชาติซื้อสุทธิตลาดหุ้นไต้หวัน 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
- ต่างชาติซื้อสุทธิตลาดหุ้นอินเดีย 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
- ต่างชาติซื้อสุทธิตลาดหุ้นเกาหลีใต้ 205 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ต่างชาติซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทย 123 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ต่างชาติซื้อสุทธิตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ 35 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ต่างชาติซื้อสุทธิตลาดหุ้นเวียดนาม 8 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ต่างชาติขายสุทธิตลาดหุ้นอินโดนีเซีย 105 ล้านเหรียญสหรัฐ
เหตุผลหลักมาจาก สถานการณ์ตึงเครียดสงครามทางการค้าผ่อนคลายมากขึ้น จากการเข้าสู่เฟสเจรจา ล่าสุดสหรัฐฯประกาศดีลข้อตกลงกับอังกฤษเป็นประเทศแรก และสหรัฐ-จีนเตรียมเปิดฉากเจรจาการค้าที่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อลดภาษีตอบโต้ จากเดิมที่ประกาศเก็บภาษีนำเข้าทั่วโลกอัตราที่สูง และลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ลงเหลือแค่ 10% เป็นเวลา 90 วัน เพื่อเปิดช่องให้มีการเจรจาการค้ากับประเทศเหล่านี้ นอกจากนี้คาดการณ์ว่าการโยกเงินจาก LTF เป็น THAI ESGX หรือ ซื้อกองทุน THAI ESGX เพิ่มจะช่วยพยุงตลาดหุ้นไทย
ขณะที่การประกาศงบของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 1/68 ที่ออกมาแล้วอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และจากการณ์ประมาณการณ์ไว้ราว 60% ของมาร์เก็ตแคป คาดมีกำไรเติบโต 24% QOQ และเติบโต 2% YoY ทำให้ความผันผวนในตลาดหุ้นไทยลดลง
โดยจะเห็นได้ว่า แนวโน้มเดือน พ.ค. แตกต่างกับช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ "ทรัมป์” ประกาศขึ้นภาษีใหม่ ตลาดหุ้นในภูมิภาค และตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่อยู่ในแดนลบ และผันผวนหนักมาก เนื่องจากถูกต่างชาติเทขายสุทธิหนักกว่าปกติ เพื่อลดความเสี่ยง
- ตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสุทธิ 1.53 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
- ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิ 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
- ตลาดหุ้นอินเดียถูกขายสุทธิ 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
- ตลาดหุ้นอินโดนีเซียถูกขายสุทธิ 3.2 พัน ล้านเหรียญสหรัฐ
- ตลาดหุ้นเวียดนามถูกขายสุทธิ 1.51 พันล้านเหรียญสหรัฐ
- ตลาดหุ้นไทยถูกขายสุทธิ 1.48 พันล้านเหรียญสหรัฐ
- ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิ 228 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ถือว่าเป็นแรงขายที่หนัก เมื่อเทียบกับยอดซื้อขายของต่างชาติในปี 67 มีรายละเอียดดังนี้
- ตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสุทธิ 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
- ตลาดหุ้นไทยถูกขายสุทธิ 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
- ตลาดหุ้นเวียดนามถูกขายสุทธิ 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ
- ตลาดหุ้นอินเดียถูกขายสุทธิ755 ล้าน เหรียญสหรัฐ
- ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิ 408 ล้านเหรียญสหรัฐ
ยกเว้น 2 ตลาดหุ้นที่ซื้อสุทธิคือ
- ตลาดหุ้นอินโดนีเซียถูกซื้อสุทธิ 1.2 พันล้าน เหรียญสหรัฐ
- ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิ 2.4 พันล้าน เหรียญสหรัฐ
โดยเป็นผลมาจากนักลงทุนย้ายเม็ดเงินลงทุนจากตลาดหุ้นเอเชียไปตลาดหุ้นสหรัฐ เพื่อไปลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ประกอบกับเป็นช่วงที่เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ และพรรคริพับลิกัน มีจุดยืนที่ชัดเจนในแนวทาง "America First" ซึ่งมุ่งเน้นให้สหรัฐฯ ดูแลผลประโยชน์ของตนเองก่อนทำให้หุ้นเทคโนโลยีในตลาดหุ้นสหรัฐให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดหุ้นอื่น ทำให้เม็ดเงินไหลเข้าไปที่ตลาดหุ้นสหรัฐ
สำหรับดัชนีหุ้นไทยเดือนพ.ค.ประเมินกรอบแนวรับแรกที่ 1,200 จุด แนวรับถัดไปที่ 1,160 จุด แนวต้านแรกที่ 1,230 จุด และแนวต้านถัดไปที่ 1,260 จุด ปัจจัยที่ต้องติดตามนอกจากภายนอกประเทศแล้วยังเป็นความเสี่ยงเรื่องการเมืองในประเทศที่ช่วงนี้ไม่แน่นอน ซึ่งปกตินักลงทุนต่างชาติไม่ชอบสภาวะดังกล่าส และต้องการให้การเมืองอยู่ในสภาวะที่มีเสถียรภาพ
ด้านกลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้นพื้นฐานขนาดใหญ่มี ESG Rating แบ่งออกเป็น 3 ธีม
- หุ้นที่อิงราคาน้ำมัน เช่น PTTEP ราคาเป้าหมาย 165 บาท หุ้น BCP ราคาเป้าหมาย 46 บาท
- หุ้นที่กำไรเติบโตต่อเนื่อง เช่น SCC ราคาเป้าหมาย 210 บาท หุ้น OSP ราคาเป้าหมาย 18.30 บาท
- หุ้นที่ราาต่ำเกินพื้นฐานให้ทยอยสะสม เช่น CPALL ราคาเป้าหมาย 88 บาท AOT ราคาเป้าหมาย 52 บาท
หวังกองทุน Thai ESGX พยุง Downside ดัชนี
ด้าน "ณัฐชาต เมฆมาสิน" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ทรีนีตี้ มองว่า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยสงครามการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอน และอุปสงค์ภายในที่มีแนวโน้มเปราะบางมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้มีโอกาสส่งผลกดดันต่อมายังการปรับลดประมาณการกำไรที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้อานิสงส์ของการลดดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการ PE Expansion มีโอกาสถูกกลบด้วยผลกระทบเชิงลบจากการปรับลดประมาณการนี้ได้
อย่างไรก็ดี ด้วย Valuation ที่ยังไม่ได้กลับเข้าสู่กรณีฐาน ความสัมพันธ์ของตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นโลกที่อยู่ในระดับต่ำ และปัจจัยหนุนด้านสภาพคล่องที่รออยู่จากการเปิดขายกองทุน Thai ESGX ที่จะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนนี้ อาจพอเป็นปัจจัยช่วยพยุง Downside ของดัชนีได้บ้าง
ปัจจัยสำคัญที่น่าติดตาม
1.พัฒนาการของการเจรจาการค้าระหว่าง สหรัฐฯ จีน และประเทศต่างๆ
2.การประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1/68 ของไทยในวันที่ 19 พฤษภาคม
3.เปิดขายกองทุน Thai ESGX ซึ่งเราประเมินว่าจะช่วยสร้างเม็ดเงินใหม่ให้ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยราว 1.5-2.0 หมื่นล้านบาท
4..ประกาศผลการปรับตะกร้าสมาชิกของดัชนี MSCI รอบใหม่ในช่วงเช้าตรู่วันที่ 14 พ.ค. ตามเวลาบ้านเรา
5.ประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/68 ของบริษัทจดทะเบียน
ในเชิงกลยุทธ์ กำหนดกรอบแนวต้านแรกของ SET เดือนนี้ที่ระดับ 1,220 จุดและแนวต้านสำคัญที่ระดับ 1,250 จุด ซึ่งตรงกับกรณีฐานของเราตามวิธี PE Model ที่ Forward PE 13.6x (อิง EPS ปี 2025E ที่ 92 บาท) ในทางกลับกัน ประเมินแนวรับแรกที่บริเวณดัชนี 1,170 จุดและแนวรับสำคัญที่ 1,140 จุด แนะนำใช้กลยุทธ์ Selective play ไปยังหุ้นกลุ่ม Top pick ซึ่งยังคงเน้นซึ่งความปลอดภัยเป็นสำคัญ คือ
- หุ้นในกลุ่ม Deep value ได้แก่ SCC, TOP
- หุ้นในกลุ่ม Defensive ได้แก่ BDMS, CPALL
- หุ้นที่คาดว่าจะถูกคัดเลือกเข้าสู่ดัชนี SET50 ในรอบถัดไป ได้แก่ TCAP, BCP
- หุ้นปลอดภัยปันผลสูง ได้แก่ ADVANC, 3BBIF
บล.ทิสโก้แนะหมุนทำรอบเทรดดิ้ง
ปิดท้ายที่ นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ มองว่า ดัชนีหุ้นไทยอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวจากความหวังการเจรจาการค้าและเงินกองทุน Thai ESGX ไหลเข้า แต่ Upside เริ่มจำกัดแถวระดับ 1,200 จุด เป็นจังหวะขายมากกว่าซื้อ หรือหมุนทำรอบเทรดดิ้งสั้นไวขึ้น ด้านแนวรับเดือนพ.ค.อยู่ที่ 1,155 – 1,160 จุด แนวรับต่อไปที่ 1,140 จุด และแนวต้านสำคัญเดือนนี้อยู่ที่ 1,200-1,210 จุด และ 1,250 จุด ส่วนการลงทุนหุ้นต่างประเทศโดยผ่าน DR บล.ทิสโก้ยังชอบหุ้นจีนแต่เน้นไปในหุ้นเทคจีน และหุ้นอินเดีย ซึ่งเป็นอีกประเทศที่มีการเติบโตที่สูง รวมไปถึงการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ที่มีความคืบหน้าและถูกตั้งให้เป็นฐานการผลิตใหม่แทนจีน ดังนั้น DR แนะนำของบล.ทิสโก้ในเดือนนี้ ได้แก่ CNTECH01 และ INDIA01
กลยุทธ์การลงทุน
-หุ้นที่คาดจะเป้าหมายกองทุน Thai ESGX โดยบล.ทิสโก้คัดเลือกจากหุ้นใน SET50 Index ที่มี ESG Rating ระดับ A ขึ้นไป กำไรเติบโต และมี Upside จากมูลค่าที่เหมาะสมตามปัจจัยพื้นฐานมากกว่า 20% ขึ้นไป แนะนำ BDMS, BEM, CPALL, CPF และ GULF
-. หุ้นที่น่าเก็งงบ Q1 คาดออกมาดี YoY และ Q2 ยังมีแนวโน้มเชิงบวก ชอบ CPF, FM
แม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นจากผลเจรจาดีลสหรัฐ-อังกฤษที่จบลงอย่างสวยงาม แต่ทั่วโลกยังจับตาผลเจรจาสหรัฐฯ-จีนว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงข้อพิพาททางการค้ากันได้หรือไม่ หากเป็นไปด้วยดีจะช่วยลดความกังวลสงครามทางการค้าของตลาดโลกลงได้บ้าง แต่ถ้าเหตุการณ์พลิกผันตรงกันข้ามจะทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลก และตลาดหุ้นทั่วโลกระส่ำอีกระลอก
ดังนั้นการลงทุนในช่วงนี้นักลงทุนต้องศึกษาอย่างรอบคอบ เน้นหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานที่ดี มีการเติบโตในอนาคต จ่ายปันผลสม่ำเสมอ ขณะเดียวกัน ก็ควรจะกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ หรือตลาดต่างๆ ให้เหมาะสม เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความผันผวนในตลาดนั่นเอง