รีเซต

เศร้า! ชายมะกัน “ปลูกถ่ายหัวใจหมู” คนแรกของโลกเสียชีวิตแล้ว

เศร้า! ชายมะกัน “ปลูกถ่ายหัวใจหมู” คนแรกของโลกเสียชีวิตแล้ว
TNN ช่อง16
10 มีนาคม 2565 ( 09:44 )
99

วันนี้( 10 มี.ค.65) นายเดวิด เบนเนตต์ วัย 57 ปี ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์เป็นคนแรกที่ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจหมู เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากได้รับการปลูกถ่ายหัวใจผ่านไป 2 เดือน โดยเขาได้รับการปลูกถ่ายหัวใจหมูเมื่อวันที่ 7 มกราคม จากการเปิดเผยของมหาวิทยาลัยการแพทย์ ในรัฐแมรีแลนด์ 

ทางมหาวิทยาลัยการแพทย์ฯ ระบุในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า อาการของเขาเริ่มทรุดลงในช่วงหลายวันก่อน หลังจากมีความชัดเจนแล้วว่า เขาจะไม่ฟื้นตัวโดยได้รับการดูแลรักษาอาการอย่างเห็นอกเห็นใจ สามารถสื่อสารกับครอบครัวได้ในช่วงชั่วโมงสุดท้ายก่อนสิ้นลมหายใจ


ภาพจาก รอยเตอร์

 


ภาพจาก รอยเตอร์

 


การผ่าตัด ซึ่งดำเนินการโดยทีมแพทย์ที่มหาวิทยาลัยการแพทย์แมรีแลนด์ เป็นครั้งแรกที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการปลูกถ่ายหัวใจหมูให้คน ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้เครื่องมือแก้ไขยีนแบบใหม่

หลังจากที่เบนเนตต์ปลูกถ่ายหัวใจหมูที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อป้องกันการปฏิเสธแล้ว เดวิด เบนเนตต์ จูเนียร์ ลูกชายของเขาเรียกขั้นตอนดังกล่าวนี้ว่า "ปาฏิหาริย์" เขาระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่โดยวิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแมรีแลนด์ (University of Maryland) ว่า พวกเขารู้สึกซาบซึ้งต่อนวัตกรรมและความพยายามทั้งหมดในการช่วยเหลือพ่อของเขา และพวกเขาหวังว่า การปลูกถ่ายครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความหวัง และไม่ใช่จุดสิ้นสุดแต่อย่างใด

หมู เป็นแหล่งปลูกถ่ายที่มีความเป็นไปได้มานานแล้ว เพราะอวัยวะของหมูคล้ายกับอวัยวะของมนุษย์มาก ตัวอย่างเช่น หัวใจหมูในขณะที่ถูกฆ่า มีขนาดเท่ากับหัวใจมนุษย์ผู้ใหญ่ แต่ความพยายามในการเปลี่ยนถ่ายหัวใจจากหมูสู่คนก่อนหน้านี้ ล้มเหลว เพราะความแตกต่างกันของยีน ซึ่งเป็นสาเหตุให้อวัยวะปฏิเสธ หรือเกิดไวรัสทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ


ภาพจาก รอยเตอร์

 


ดร. บาร์ทลีย์ กริฟฟิธ แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดนายเบนเนตต์ ระบุในแถลงการณ์ว่า พวกเขารู้สึกเสียใจต่อการจากไปของนายเบนเนตต์ ผู้พิสูจน์แล้วว่าเขาเป็นผู้ป่วยที่กล้าหาญและต่อสู้จนถึงวาระสุดท้าย

นายเบนเนตต์ มีอายุยืนยาวกว่าผู้ป่วยอีกคนหนึ่งในกรณีที่คล้ายกันเมื่อปี 1984 ที่เด็กทารกคนหนึ่งได้รับการปลูกถ่ายหัวใจจากลิงบาบูน และมีชีวิตในอีก 21 วันต่อมา


ภาพจาก รอยเตอร์

 


ดร.มูฮัมหมัด เอ็ม โมฮิอุดดิน ศาสตราจารย์ด้านศัลยกรรมและผู้อำนวยการวิทยาศาสตร์ โครงการปลูกถ่ายหัวใจสัตว์ให้แก่มนุษย์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแมรีแลนด์ ระบุว่า กรณีของนายเบนเนตต์ทำให้แพทย์ได้ความรู้ใหม่ว่า หัวใจหมูที่ถูกปรับแต่งทางพันธุกรรมแล้วสามารถทำงานได้ดีในร่างกายมนุษย์ ขณะที่ภูมิคุ้มกันร่างกายถูกกดต่ำลง โดยทางคณะแพทย์วางแผนทดลองทางคลินิกในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ มีผู้รอรับบริจาคอวัยวะกว่า 106,000 คนในสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว มีการปลูกถ่ายอวัยวะกว่า 41,000 ครั้ง โดยเป็นการปลูกถ่ายหัวใจ 3,800 ครั้ง



ภาพจาก รอยเตอร์


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง