ขั้วใต้ดวงจันทร์ มีอะไร ? ทำไมต้องแข่งกันสำรวจ
วงการอวกาศในช่วงนี้ นับได้ว่าคึกคักอย่างมาก มีหลายความเคลื่อนไหวให้จับตามอง ทั้งภารกิจ Luna-25 ของรัสเซีย ที่เกือบจะมุ่งหน้าไปขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ และต้องล้มเหลวไปก่อน รวมถึงอินเดียที่กำลังกลายเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศรายใหม่ หลังจากวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา อินเดียกลายเป็นประเทศลำดับที่ 14 ของโลกที่นำยานอวกาศแบบไร้นักบินอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ และกลายเป็นชาติแรกของโลกที่นำยานอวกาศลงจอดบริเวณใกล้กับขั้วใต้ของดวงจันทร์
ซึ่งนอกจากประเทศอินเดีย ในปัจจุบันประเทศมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีอวกาศอื่น ๆ ต่างให้ความสนใจการสำรวจขั้วใต้ดวงจันทร์เป็นอย่างมาก คำถามที่หลายคนสงสัย ที่นั่นมีอะไร ทำไมหลายประเทศต้องแข่งขันกันส่งยานไปที่นั่น คำตอบก็คือ แหล่งทรัพยากรจำนวนมหาศาลบนดวงจันทร์ที่ไม่อาจประเมินมูลค่าได้
แหล่งทรัพยากรสำคัญลำดับต้น ๆ ที่มีการค้นพบและยืนยันแล้ว คือ น้ำ ที่อยู่ในรูปของน้ำแข็งบนบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ โดยปริมาณน้ำแข็งมหาศาลดังกล่าวสามารถถูกนำมาใช้เพื่อสร้างเป็นน้ำดื่มสำหรับการดำรงชีพของนักบินอวกาศที่ถูกส่งไปสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ระยะยาว รวมไปถึงใช้สำหรับเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับยานอวกาศเพื่อใช้เดินทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์ หรือเดินทางระหว่างโลก ดวงจันทร์และไปยังดาวอังคาร เปลี่ยนเป็นออกซิเจนให้นักบินอวกาศหายไป นอกจากนี้ตำแหน่งบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ยังเป็นบริเวณที่สามารถรับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้เกือบตลอดทั้งปีอีกด้วย
น้ำบนดวงจันทร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์เอาไว้ถึงความเป็นไปได้ของการค้นพบแหล่งน้ำบนดวงจันทร์ โดยในช่วงปี 1969 ยานอะพอลโล 11 ที่ลงจอดบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรกได้เก็บตัวอย่างหินดวงจันทร์กลับมายังโลก อย่างไรก็ตามในตอนนั้นยังไม่พบแหล่งน้ำตามที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ ต่อมาในช่วงปี 2008 ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบราวน์ในสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาตัวอย่างหินดวงจันทร์ใหม่อีกครั้งและพบว่ามีส่วนประกอบของไฮโดรเจน
ในปี 1998 ยานสำรวจ Lunar Prospector ของนาซาที่ถูกส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ตรวจพบว่ามีน้ำแข็งที่มีความเข้มข้นสูงอยู่บริเวณหลุมอุกกาบาตบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ต่อมาในปี 2009 ยานอวกาศจันทรายาน-3 ของอินเดียได้ร่วมมือกับนาซาทำการตรวจสอบพื้นผิวดวงจันทร์และพบน้ำแข็งจำนวนมากบริเวณใต้หลุมอุกกาบาต และในปีเดียวกันยานสำรวจอีกลำของนาซาได้พุ่งชนบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์และส่งข้อมูลการพบน้ำแข็งใต้พื้นผิวดวงจันทร์
อย่างไรก็ตามการใช้ทรัพยากรบนดวงจันทร์อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากในปี 1967 มีการลงนามในสนธิสัญญาอวกาศแห่งสหประชาชาติ ห้ามมิให้ประเทศใดอ้างสิทธิ์การเป็นเจ้าของดวงจันทร์ แต่ในรายละเอียดของสนธิสัญญาดังกล่าวไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อกำหนดการใช้ทรัพยากรเชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ในปี 2020 สหรัฐอเมริกาได้ดึงประเทศต่าง ๆ 8 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, แคนาดา, อิตาลี, ญี่ปุ่น, ลักเซมเบิร์ก, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหราชอาณาจักร รวมสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมทำสนธิสัญญาอาร์เทมิส เพื่อสร้างข้อตกลงเกี่ยวกับการสำรวจดวงจันทร์และการใช้ทรัพยากรบนดวงจันทร์ อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนและรัสเซียไม่ร่วมลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว แต่มีแผนการก่อสร้างสถานีสำรวจบนดวงจันทร์เพื่อส่งมนุษย์อวกาศไปสำรวจระยะยาว รวมไปถึงประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่มีความพยายามส่งยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ญี่ปุ่นและอิสราเอล
รายละเอียดบางส่วนของสนธิสัญญาอาร์เทมิส เช่น การดำเนินกิจกรรมทุกประเภทบนดวงจันทร์จะต้องมีเป้าหมายเพื่อสันติและโปร่งใสหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง การสำรวจจะต้องแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันเพื่อความปลอดภัยและช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในสภาวะที่ยากลำบากระหว่างทำภารกิจ เปิดเผยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ต่อสาธารณชนเพื่อประโยชน์ของทั้งโลก เก็บรักษาข้อมูลและเทคโนโลยีการสำรวจเพื่อเป็นมรดกทางด้านอวกาศ
นี่จึงเป็นหนึ่งในคำตอบของเหตุผลว่า ทำไมชาติมหาอำนาจถึงแย่งกันสำรวจขั้วใต้ดวงจันทร์ เพราะเต็มไปด้วยน้ำที่อยู่ในรูปของน้ำแข็ง แต่อย่างไรก็ดี บริเวณดังกล่าวกลับเต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตและร่องลึก ทำให้ยากต่อการลงจอด ถ้าประเทศไหนก้าวผ่านความท้าทายนี้ไปได้ แน่นอนว่า จะครองความได้เปรียบในการสำรวจทรัพยากรอันล้ำค่านี้ ทรัพยากรที่ถูกมองว่าจะเป็นกุญแจสำคัญในการตั้งอนานิคมของมนุษย์
ที่มาของข้อมูล Reuters