กสม. เผยแรงงานไทยประสบปัญหาถูกเลิกจ้าง-นอกระบบไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ส่งสาร เนื่องใน “วันแรงงานสากล” 1 พฤษภาคม ประจำปี 2568 โดยระบุว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 74 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานอย่างเหมาะสมกับศักยภาพและวัยและให้มีงานทำ และพึงคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน ได้รับรายได้ สวัสดิการ การประกันสังคม และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ และพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นวัยทำงาน อันสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี
เรื่องร้องเรียนและติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิแรงงานในรอบปี
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนและติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิแรงงานในรอบปีที่ผ่านมา เห็นว่า รูปแบบการจ้างงาน เปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการและบริบทของสังคม โดยสามารถจำแนกแรงงานออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่
(1) แรงงานในระบบ
(2) แรงงานนอกระบบ
(3) แรงงานแพลตฟอร์ม เช่นไรเดอร์ ลูกจ้างทำงานบ้าน คนดูแลเด็กและผู้สูงอายุที่บ้าน
(4) แรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ
(5) แรงงานข้ามชาติ
(6) แรงงานภาคบริการหรือที่ทำงานในสถานบริการ
(7) แรงงานจ้างเหมาบริการ
แรงงานไทยประสบปัญหาถูกเลิกจ้าง ค้างค่าจ้าง - แรงงานนอกระบบไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน
แรงงานไทยในระบบยังประสบปัญหาถูกเลิกจ้าง การค้างค่าจ้าง ค่าชดเชยตามกฎหมายโดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติที่ปิดกิจการ การเลือกปฏิบัติในการจ้างงานต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งในหน่วยงานรัฐและเอกชน กรณีที่นายจ้างไม่นำแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม และกลุ่มแรงงานจ้างเหมาบริการของภาครัฐไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่ได้รับสวัสดิการที่เหมาะสม
ในส่วนของแรงงานนอกระบบยังคงเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานและมีสวัสดิการทางสังคมไม่เพียงพอ แรงงานภาคบริการหรือแรงงานในสถานบริการมีลักษณะการทำงานแตกต่างกับแรงงานในกลุ่มอื่น ทำให้นายจ้างใช้ช่องว่างไม่นำเข้าสู่ระบบการจ้างแรงงาน ทำให้ไม่สามารถเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33
สำหรับแรงงานข้ามชาติยังประสบปัญหาได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ นายจ้างไม่นำแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม และจำนวนมากไม่มีหลักประกันสุขภาพ
ส่วนกลุ่มแรงงานไทยที่จะไปทำงานต่างประเทศยังคงพบปัญหาถูกหลอกลวง ไม่ได้ไปทำงานหรือไปทำงานแล้วไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือไปทำงานที่ผิดกฎหมายทำให้มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์
ขอให้ทบทวนกฎหมายเพื่อให้แรงงานทุกกลุ่มเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้
เนื่องในวันแรงงานสากล 1 พฤษภาคม ประจำปี 2568 เพื่อให้แรงงานทุกกลุ่มเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึงเป็นธรรม กสม. ซึ่งกำหนดให้สิทธิแรงงานเป็นประเด็นนโยบาย ในการขับเคลื่อนให้เกิดการคุ้มครองสิทธิของแรงงาน ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แรงงานทุกกลุ่มเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ กระทรวงแรงงานควรเร่งออกมาตรการคุ้มครองแรงงาน เช่น แรงงานแพลตฟอร์ม แรงงานในสถานบริการ เป็นต้น
พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ซึ่งรับรองเสรีภาพในการสมาคม และสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
1 พฤษภาคม 2568 วันแรงงานแห่งชาติ “ธนาคาร” หยุดไหม?
ชวนผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ร่วมบริจาคโลหิต “รวมใจ ให้โลหิต 1 พฤษภาคม วันแรงงานไทย”
รอลุ้น! ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ ของขวัญ “วันแรงงาน 2568”
ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท! "พิพัฒน์" หวังขึ้นรอบต่อไป 1 พ.ค. เป็นของขวัญวันแรงงาน