รีเซต

ยาน Parker Solar Probe เตรียมเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด

ยาน Parker Solar Probe เตรียมเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด
TNN ช่อง16
20 ธันวาคม 2567 ( 14:25 )
11

นาซาเปิดเผยแผนการนำยาน Parker Solar Probe เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในวันที่ 24 ธันวาคมนี้ หลังจากยานได้โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาแล้วกว่า 20 ครั้ง โดยในครั้งนี้ยานจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะห่างประมาณ 6,076,000 กิโลเมตร จากพื้นผิวดวงอาทิตย์ หรือชั้นบรรยากาศโพโตสเฟียร์ (Photosphere) และยานต้องพบกับอุณหภูมิสูงเกือบ 1,000 องศาเซลเซียส อาจกล่าวได้ว่ายานเป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด


"เป้าหมายของการเดินทางระยะใกล้ครั้งนี้ว่ายานอวกาศจะทนต่อความร้อนได้อย่างไร และยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ของเราอีกมาก" ดร. นูร์ ราวาฟี นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการ Parker Solar Probe ของ NASA และนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์จอห์นส์ ฮอปกินส์


จุดเด่นที่ทำให้ยาน Parker Solar Probe เดินทางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ได้มากขนาดนี้ เนื่องจากยานได้ใช้เกราะที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงในการป้องกันตัวเองจากอุณหภูมิที่ร้อนจัด และรังสีที่อันตรายจากดวงอาทิตย์ เกราะนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถทนทานต่อความร้อนสูงสุดกว่า 1,370 องศาเซลเซียส


วัสดุหลักของเกราะของยานใช้วัสดุคาร์บอนคอมโพสิต (Carbon-Carbon Composite) ความหนาประมาณ 11.43 เซนติเมตร แผ่นเกราะหนาช่วยทำให้เครื่องมือภายในยานสามารถทำงานได้ในอุณหภูมิที่เย็นประมาณ 30 องศาเซลเซียส แม้จะเดินทางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์


จุดเด่นอีกข้อของยาน Parker Solar Probe อยู่ตรงที่มันสามารถเดินทางได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศ โดยใช้เทคนิคการใช้แรงโน้มถ่วง (Gravitational slingshot) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "Gravity assist" ขณะที่ยานเดินทางผ่านดาวศุกร์เพื่อเพิ่มความเร็วในการเคลื่อนที่ของยานในระหว่างการเดินทางไปยังดวงอาทิตย์ ยานทำสถิติความเร็วสูงสุดเอาไว้ที่ 690,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง


“ยานโคจรรอบดวงอาทิตย์สามารถเปลี่ยนวงโคจรได้โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากนัก ... และด้วยการเข้าใจกระบวนการการเกิดขึ้นของโคโรนาที่มีความเร็วเหนือเสียงและกลายเป็นลมสุริยะ ทำให้เราสามารถช่วยคาดการณ์สภาพอากาศในอวกาศ และเข้าใจดวงอาทิตย์และกระบวนการต่างๆ ของมันได้ดีขึ้น” แพทริเซีย รีฟฟ์ ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์และดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไรซ์ เมืองฮูสตัน กล่าวเพิ่มเติมผ่านสำนักข่าว ABC News


สำหรับภารกิจของยาน Parker Solar Probe ซึ่งถูกส่งโดย NASA เพื่อศึกษาดวงอาทิตย์ได้เริ่มต้นในปี 2018 จุดประสงค์หลักของภารกิจนี้คือการศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ โครงสร้างและพฤติกรรมของดวงอาทิตย์ โดยเฉพาะลมสุริยะและสนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้นจากมัน ซึ่งมีผลกระทบต่อโลกและระบบสุริยะทั้งหมด


เป้าหมายหลักของภารกิจ เช่น การศึกษาลมสุริยะที่ออกมาจากดวงอาทิตย์ เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมมันถึงมีความเร็วและอุณหภูมิที่สูงมาก และการตรวจสอบสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์และการปรับตัวของมันในบริเวณที่ใกล้เคียงที่สุด รวมไปถึงการทดสอบทฤษฎีเกี่ยวกับพลศาสตร์ของพลาสมา และกลไกการถ่ายโอนพลังงานในดวงอาทิตย์


ที่มาของข้อมูล

https://www.sciencefriday.com/segments/nasa-parker-solar-probe/

https://abcnews.go.com/Technology/nasa-parker-solar-probe-sun/story?id=116905468 


ที่มาของรูปภาพ Johns Hopkins University Applied Physics Laboratory LLC

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง