รีเซต

ทำความรู้จัก!ไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน เพิ่มศักยภาพการแข่งขันเศรษฐกิจ (ตอน 5 )

ทำความรู้จัก!ไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน เพิ่มศักยภาพการแข่งขันเศรษฐกิจ (ตอน 5 )
TNN ช่อง16
17 มีนาคม 2564 ( 18:10 )
293

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี  ที่รัฐหมายมั่นปั้นมือให้เป็นแหล่งดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย เพื่อสร้างประโยชน์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศด้านการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม การพัฒนาเมือง และระบบโครงสร้างพื้นฐาน

โครงการดังกล่าว จะเข้ามาช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพิ่มการจ้างงาน คุณภาพชีวิตและรายได้ของประชาชน ในขณะเดียวกันยังส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม และลดอุบัติเหตุบนถนน เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีระบบควบคุมที่มีความปลอดภัยสูง ทำให้การเกิดอุบัติเหตุอยู่ในอัตราที่น้อยมาก

สำหรับแนวเส้นทางการเดินรถใช้แนวเส้นทางเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงค์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) เชื่อมเส้นทางด้วยส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบังไปยังสนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ เป็นส่วนใหญ่ รวมระยะทาง 220 กม. มีผู้เดินรถรายเดียวกัน ซึ่งรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง เชื่อมกรุงเทพฯ กับพื้นที่ อีอีซี

หากมองถึงเส้นทางทางวิ่งของโครงการ ประกอบไปด้วย ทางวิ่งโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ปัจจุบัน (ARL) ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตรและทางวิ่งที่ต้องก่อสร้างใหม่ประมาณ 191 กิโลเมตร เบื้องต้นจำแนกลักษณะรูปแบบโครงสร้างทางวิ่งทั้งโครงการเป็น 3 ประเภทคือ ทางวิ่งยกระดับระยะทางประมาณ 181 กิโลเมตร 2.ทางวิ่งระดับดินระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร และ 3.ทางวิ่งใต้ดินระยะทางประมาณ 8 กม.

ทั้งนี้ แนวเส้นทางโครงการจะผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ใช้แนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางของโครงการเดิม และมีการออกแบบใหม่เฉพาะบริเวณเชื่อมต่อเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ (ขาออก) และสนามบินอู่ตะเภา (ขาเข้า)

โครงการดังกล่าวมีมูลค่าลงทุน 224,544.36 ล้านบาท แบ่งเป็นระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา 168,718 ล้านบาท การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ 45,155.27 ล้านบาท และสิทธิการเดินรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671.09 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 50 ปี คาดว่าจะการก่อสร้างเสร็จปี   2566–2567 ปริมาณผู้โดยสาร 147,200 คนต่อเที่ยวต่อวัน

 โดยโครงการนี้ เป็นโครงการลงทุนในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน PPP Net Cost ซึ่งเอกชนที่ชนะการประมูลโครงการ คือกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร(กลุ่ม CPH) ที่เสนอราคาต่ำสุด และได้จรดปลายปากกาลงนามร่วมกันระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับ กลุ่ม CPH ในวันที่ 24 ต.ค.2562 ที่ผ่านมา ซึ่งทางกลุ่ม CPH ได้จัดตั้ง "บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด" หรือ "Eastern High-Speed Rail Linking Three Airports Co.,Ltd." เป็นตัวแทนลงนามในสัญญาร่วมลงทุน ครั้งประวัติศาสตร์ดังกล่าวด้วย

นอกจากเป็นการต่อเชื่อมระบบโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่สำคัญเข้าด้วยกันแล้ว ภาครัฐยังคาดหวังว่า การพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเป็นจุดเริ่มของการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานี นำความเจริญสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีที่ค้าขาย  มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปีข้างหน้า  

รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้วิธีการทำงานในโครงการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อพัฒนาสู่การเป็นบุคลากรที่มีความ เชี่ยวชาญสูง และมีศักยภาพสูงเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ ถือเป็นก้าวย่างสำคัญต่อการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง