รีเซต

เฝ้าระวัง! โอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ คาดแพร่ระบาดได้เหนือกว่า XBB - EG.5.1

เฝ้าระวัง! โอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ คาดแพร่ระบาดได้เหนือกว่า XBB - EG.5.1
TNN ช่อง16
10 สิงหาคม 2566 ( 19:08 )
102
เฝ้าระวัง! โอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ คาดแพร่ระบาดได้เหนือกว่า XBB - EG.5.1

ศูนย์จีโนมฯ โพสต์ เฝ้าระวัง! โอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ “GK (XBB.1.5.70)”  และ “ HK.3 (XBB.1.9.2.5.1.1.3)” คาดแพร่ระบาดได้เหนือกว่า XBB -  EG.5.1


ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ไวรัสโควิด-19 โดยระบุว่า เฝ้าระวัง! โอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ “GK (XBB.1.5.70)”  และ “ HK.3 (XBB.1.9.2.5.1.1.3)”  มีวิวัฒนาการของส่วนหนามกลายพันธุ์สองตำแหน่งติดกัน (double mutation) ช่วยให้จับกับผิวเซลล์ได้ดีขึ้น คาดว่าจะสามารถแพร่ระบาดได้เหนือกว่า XBB ทุกสายพันธุ์ รวมทั้งเอริส (EG.5.1)


ตระหนักแต่ไม่จำเป็นต้องตระหนก


องค์การอนามัยโลกได้ใช้อักษรกรีกกำหนดเรียกไวรัสโคโรนา 2019 หรือ SARS-CoV-2 สายพันธุ์ที่น่ากังวล (Varaint of Concern: VOC) ด้วยอักษรกรีกเริ่มตั้งแต่: อดีต-ปัจจุบัน
-อัลฟา: เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร แพร่เชื้อได้มากกว่าไวรัสสายพันธุ์เดิม “อู่ฮั่น”
-เบตา: พบในแอฟริกาใต้ แพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์เดิมก่อนหน้า ไวต่อวัคซีนน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า
-แกมมา: พบในบราซิล แพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า ไวต่อวัคซีนลดลง
-เดลตา: พบในอินเดีย แพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์เดิมก่อนหน้า ก่อโรครุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ
-โอมิครอน: พบในบอตสวานาและแอฟริกาใต้ แพร่เชื้อได้สูง มีความไวต่อวัคซีนลดลง มีสายพันธุ์ย่อยหลายสายพันธุ์ ได้แก่ BA.1, BA.2, BA.4, BA.5, XBC (เดลตาครอน) และ XBB


โอมิครอน BA.5 แพร่เชื้อได้มากที่สุดในโลก โอมิครอนสายพันธุ์ต่อมามีวิวัฒนาการเพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของมนุษย์โดยการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง “เดลตา” และ “โอมิครอน” เกิดเป็น “เดตาครอน (XBC)” ซึ่งตรวจพบครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2564 และหลังจากนั้นพบในหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และเดนมาร์ก ปรากฏว่าแพร่เชื้อได้น้อยกว่า BA.5 และไม่มีอาการรุนแรงเหมือนสายพันธุ์เดลตาและแพร่ระบาดไม่รวดเร็วเหมือนกับโอมิครอนอย่างที่กังวลกัน


ในปี 2565 โอมิครอนได้มีการผสมระหว่างสายพันธุ์ย่อยด้วยกันเอง เกิดเป็นสายพันธุ์ลูกผสมหรือรีคอมบิแนนท์ เช่นสายพันธุ์ย่อย BA.2.10.1 และ BA.2.75 เกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ “XBB” ตรวจพบครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2565 และต่อมาพบได้ในทุกประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย XBB สามารถแพร่เชื้อได้มากกว่า BA.2.75 ไม่พบการติดเชื้อรุนแรงไปกว่าโอไมครอนสายพันธุ์เดิม


XBB มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยอีกมากมาย ตัวอย่างเช่น XBB.1, XBB.1.5, XBB.1.16, XBB.1.9.1 และ ล่าสุด EG.5.1 หรือเอริส


“EG.5.1” มีต้นตระกูลมาจาก XBB.1.9.2 โดยบริเวณหนามแหลมมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมตรงตำแหน่ง F456L


เอริสมีการแพร่กระจายได้มากกว่าสายพันธุ์อื่นที่ระบาดมาก่อนหน้า


ณ วันที่ 20 กรกฎาคม พบแพร่ระบาดเป็น 14.55% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดในสหราชอาณาจักร โดยเพิ่มขึ้นในอัตรา 20.51% ต่อสัปดาห์

ในสหรัฐอเมริกา เป็นสายพันธุ์ที่แพร่หลายมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นจาก 11.9% เป็น 17.3% ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม แซงหน้า XBB.1.16 ที่แพร่ระบาดมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯได้กล่าวเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ว่าการฉีดวัคซีนในปลายปี 2566- ต้นปี 2567 ควรใช้วัคซีนสายพันธุ์เดียวหรือ “โมโนวาเลนต์” ที่มุ่งเป้าไปที่โอมิครอน XBB สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5, XBB.1.16 หรือ XBB.2.3 สายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดไปทั่วประเทศสหรัฐและทั่วโลกในขณะนั้น


ปัจจุบัน->อนาคต


นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่าโควิดมีเคล็ดลับใหม่ (New trick) ช่วยให้ไวรัสยึดจับกับผิวเซลล์ได้ดีขึ้น เรียกว่า “Flip หรือ พลิก” กล่าวคือมีการกลายพันธุ์ สองตำแหน่งติดกัน (double mutation) คือ L455F และ F456L ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับกรดอะมิโน “ฟีนิลอะลานีน (F)” และ “ลิวซีน (L)” โดยตำแหน่งที่กลายพันธุ์แรกเปลี่ยนจาก L เป็น F และตำแหน่งถัดมาพลิกเปลี่ยนจาก F เป็น L เมื่อรวมการเปลี่ยนแปลงทั้งสองเข้าด้วยกันจะทำให้ส่วนหนามของไวรัสจับกับผิวเซลล์ (ACE2) ได้แน่นขึ้น ทำให้ไวรัสแทรกเข้าสู่เซลล์ได้ดียิ่งขึ้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวถูกเรียกว่า “พลิก (Flip)”


ปรากฏการณ์ “พลิก (Flip)” นี้ทำให้เกิด XBB สองสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น


1. XBB.1.5.70 (GK) มีต้นตระกูลมาจาก XBB.1.15 เกิดกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกันคือ L455F และ F456L และ
2. XBB.1.9.2.5.1.1.3 (HK.3) เกิดจากรุ่นพ่อ EG.5.1 มีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกันคือ L455F และ F456L

โอมิครอน GK (XBB.1.5.70) ถูกถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและแชร์บนฐานข้อมูลจีเสส (GISAID) แล้วทั้งสิ้น 410 ตัวอย่าง ส่วนโอมิครอน HK.3 (XBB.1.9.2.5.1.1.3) มีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและแชร์บนฐานข้อมูลจีเสสเพียง 2 ตัวอย่าง ซึ่งต้องเฝ้าติดตามทั้งสองสายพันธุ์อย่างใกล้ชิดต่อไป ยังไม่พบโอมิครอน “GK” และ HK.3 ในประเทศไทย


การวิวัฒนาการจาก XBB.1.15 มาเป็น XBB.1.5.70 (GK) และการวิวัฒนาการจาก EG.5.1 มาเป็น XBB.1.9.2.5.1.1.3 (HK.3) เป็นวิวัฒนาการ “เบนเข้าหรือวิวัฒนาการเชิงบรรจบ (convergent evolution)” เป็นตัวอย่างของธรรมชาติในการกำหนดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต แสดงให้เห็นว่าแม้ไวรัสจากต่างสายพันธุ์ย่อย XBB.1.15 และ XBB.1.9.2.5.1.1.3 กลับมีวิวัฒนาการในลักษณะคล้ายคลึงกันคือมีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกัน(double mutation) คือ L455F และ F456L เหมือนกัน เนื่องจากไวรัสทั้งสองอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกันหรือเหมือนกัน


โอมิครอน XBB.1.5.70 (GK) มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage)สูงกว่า EG.5.1 ประมาณ 27 %


ตัวอย่างเช่น
-ปีกของค้างคาว นก และแมลงวิวัฒนาการมาอย่างอิสระ แต่ทั้งหมดนี้ทำหน้าที่เดียวกันคือช่วยให้สิ่งมีชีวิตบินได้
-ฉลาม (ปลา) และโลมา (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) ต่างมีรูปร่างคล้ายกันที่ช่วยให้ว่ายผ่านน้ำได้ดี นี่เป็นเพราะทั้งฉลามและโลมาอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมทางน้ำและจำเป็นต้องสามารถว่ายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 -XBB.1.15 และ EG.5.1  เกิดการกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกันคือ L455F และ F456L  เหมือนกัน  เกิดเป็น XBB สายพันธุ์ใหม่ GK (XBB.1.5.70)  และ  HK.3 (XBB.1.9.2.5.1.1.3) อาจเป็นเพราะได้รับแรงกดดันจากวัคซีนเช่นเดียวกัน







ที่มา Center for Medical Genomics

แฟ้มภาพ รอยเตอร์

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง