แนะฆ่าเชื้อบน "ชุดตรวจโควิด ATK" ก่อนทิ้ง หลังพบเชื้อโควิดจากบ่อบำบัดน้ำเสีย
วันนี้ (26 พ.ย.64) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "Yong Poovorawan" ในหัวข้อ "ขยะติดเชื้อ" หลังพบเชื้อโควิด-19 ในน้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสียในกรุงเทพฯ โดย นพ.ยง ระบุว่า ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิต 19 อย่างมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะนอนโรงพยาบาลและมีส่วนหนึ่ง จะแยกกักตัวอยู่ที่บ้าน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม จะเกิดมีขยะติดเชื้อเป็นจำนวนมาก
ในระยะหลังมีการทำ ATK และป้ายจมูกกันเป็นจำนวนมาก ก็จะเกิดขยะติดเชื้อเป็นจำนวนมากเช่นกันลองนึกภาพ ATK เป็นจำนวนหลายล้านชิ้น โอกาสที่เชื้อจะหลุดลงท่อน้ำทิ้งหรือในขยะที่ทิ้งเป็นประจำ ก็จะทำให้มีการตรวจพบเชื้อ covid19 ได้
ทีมของอาจารย์ ดร.จตุวัฒน์ แสงสานนท์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมคณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาหาพันธุกรรมของไวรัส โควิด 19 จากน้ำที่บ่อบำบัดน้ำเสียในกรุงเทพฯ สามารถพบเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ มีความสัมพันธ์กับอัตราการระบาดของโรคในผู้ป่วยแต่ละวัน
ขณะที่ทำการศึกษา จำนวนผู้ป่วยยังมีจำนวนน้อย อย่างมากสุดเป็นหลักร้อยต่อวัน แต่เมื่อผู้ป่วยเป็นหลักหมื่นต่อวัน การตรวจน่าจะพบมากกว่านี้อีกมาก
จากข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อเตือนใจอย่างดียิ่งสำหรับทุกคนในการกำจัดขยะติดเชื้อให้ถูกต้อง โดยเฉพาะควรจะต้องมีถุงแดงแยกเก็บขยะติดเชื้อ ในขณะที่ยังไม่มีการแยกทิ้งขยะให้ถูกต้อง ทาง กทม.เองก็น่าจะมีการแยกขยะ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรคและมีการทำการกักตัวที่บ้าน
การทำลายเชื้อโรคก่อนทิ้งก็จะเป็นวิธีออกทางหนึ่ง ในการตรวจ ATK แต่ละครั้งอุปกรณ์การตรวจต่างๆควรทำลายเชื้อเสียก่อน เช่น ใช้แอลกอฮอล์ หรือน้ำยาล้างห้องน้ำ sodium hypochlorite ฆ่าเชื้อเสียก่อนที่จะทิ้ง
สำหรับบ้านเราแม้กระทั่ง "ผ้าอ้อมเด็ก" ที่เคยเสนอแนะ โดยเฉพาะโรคท้องเสียไวรัส rota และ noro ที่มักจะระบาดในหน้าหนาวในเด็กๆ การทิ้งผ้าอ้อมเด็กควรจะทำลายเชื้อเสียก่อน ด้วยวิธีการใช้น้ำยาล้างห้องน้ำ หรือแยกขยะได้จะเป็นการดียิ่ง
ทาง กทม. ก็น่าจะมีวิธีการแยกขยะติดเชื้อ ให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป ในการแยกขยะและการทิ้งขยะให้ถูกต้อง จะเป็นทางออกวิธีหนึ่งในการลดการระบาดของโรค ไม่ว่าจะเป็นภาวะปกติ หรือในช่วงมีการระบาดของโรคติดต่อ
ข้อมูลจาก Yong Poovorawan