รีเซต

เงินเฟ้อ ก.พ.ลงแรง 1.17% พณ.ชี้อานิสงส์ลดค่าน้ำค่าไฟ หวั่นหมดมาตรการรัฐ-แล้ง-น้ำมันแพง เงินเฟ้อพุ่งตั้งแต่ เม.ย.

เงินเฟ้อ ก.พ.ลงแรง 1.17% พณ.ชี้อานิสงส์ลดค่าน้ำค่าไฟ หวั่นหมดมาตรการรัฐ-แล้ง-น้ำมันแพง เงินเฟ้อพุ่งตั้งแต่ เม.ย.
มติชน
5 มีนาคม 2564 ( 11:38 )
57
เงินเฟ้อ ก.พ.ลงแรง 1.17% พณ.ชี้อานิสงส์ลดค่าน้ำค่าไฟ หวั่นหมดมาตรการรัฐ-แล้ง-น้ำมันแพง เงินเฟ้อพุ่งตั้งแต่ เม.ย.

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ลดลง 1.17 % ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 นับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มส่งผลต่อไทยในเดือนมีนาคมปีก่อน

 

นายภูสิตกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การหดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ มีปัจจัยหลักจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา เป็นระยะ 2 เดือน หรือ ก.พ.–มี.ค.2564 ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และผักสด ลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และฐานราคาที่ต่ำกว่าปีก่อน ขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังทรงตัวและเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปริมาณผลผลิตและความต้องการบริโภคของประชาชน ยกเว้น น้ำมันเชื้อเพลิง มีการปรับราคาสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 2 เดือนปี 2564 ลดลง 0.75% เมื่อหักอาหารสด และพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 0.04%

 

“เงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงมากเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ ขณะที่สถานการณ์ด้านการผลิตและบริโภคเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว สอดคล้องกับการส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อัตราการใช้กำลังการผลิตที่กลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อัตราการว่างงาน และรายได้เกษตรกรที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการต่างๆ ของรัฐที่ช่วยลดค่าครองชีพ เพิ่มกำลังซื้อ และกระตุ้นเศรษฐกิจยังออกมาอย่างต่อเนื่อง

 

คาดการณ์ว่าสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการในระยะต่อไป จะมีแนวโน้มขยายตัวตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป จากฐานปีก่อนต่ำ ทิศทางราคาน้ำมัน โดยไตรมาสแรกลบแต่ไม่มากนัก ไตรมาส 2 บวกแรง แล้วค่อยๆบวกน้อยลงในไตรมาส 3 และ 4 ส่วนแล้งยังไม่มีสัญญาณชัดเจน แต่ต้องติดตาม” นายภูสิตกล่าว

 

นายภูสิตกล่าวต่อว่า เงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 1.17 % จากการลดลงของสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 1.60 % โดยหมวดเคหสถาน ลดลงค่อนข้างมากที่ 4.98% คือค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ก๊าซหุงต้ม หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลง 0.22% คือ เสื้อยืดสตรี เสื้อยืดบุรุษ หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ ลดลง 0.12% คือเครื่องถวายพระ ค่าห้องพักโรงแรม หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ลดลง 0.04% คือ ผ้าอ้อมสำเร็จรูป สบู่ถูตัว ผ้าอนามัย ขณะที่ หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้น 0.98% จากการปรับสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท และค่าโดยสารสาธารณะ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.03% คือ สุรา เบียร์

 

อ่านข่าว : เฮ! ตรึงค่าไฟ ต่ออีก 4 เดือน งวดพ.ค.-ส.ค. 64 ปชช. จ่ายเท่าเดิม 3.61 บาท/หน่วย

 

สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.43 ได้แก่ กลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 5.93% คือ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผักสด ลดลง 3.53% คือ ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาว ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลง 0.34 % คือ นมสด นมถั่วเหลือง นมผง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.30% คือ น้ำดื่ม กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม ขณะที่กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 1.02 % คือ เนื้อสุกร ปลาหมึกกล้วย ปลาทับทิม ผลไม้สด สูงขึ้น 0.78% คือ กล้วยน้ำว้า องุ่น ฝรั่ง เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้น 3.35% คือ น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม ซีอิ๊ว อาหารบริโภคในบ้าน และนอกบ้าน สูงขึ้น0.32% และ 0.54% ตามลำดับ ได้แก่ กับข้าวสำเร็จรูป อาหารโทรสั่ง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง อาหารเช้า ไก่ทอด พิซซ่า จึงทำให้เดือนกุมภาพันธ์ สินค้าที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ 430 รายการ นั้น มีการปรับราคาขึ้น 218 รายการ ราคาลดลง 145 รายการ และราคาไม่เปลี่ยนแปลง 67 รายการ

 

“อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนมีนาคม 2564 มีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อย ปัจจัยสำคัญจากผลของมาตรการดูแลค่าครองชีพประชาชนด้านสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ประปา) ที่ยังมีผลต่อเนื่องจากเดือนนี้ รวมทั้งราคาข้าวสารที่ยังต่ำกว่าปีก่อน และสินค้าเกษตรอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติตามปริมาณผลผลิต ในขณะที่ราคาน้ำมันในปีนี้อาจผันผวนบ้างตามสถานการณ์ราคาโลก แต่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องทั้งปี ทั้งนี้ คาดว่าเงินเฟ้อในปี 2564 จะเคลื่อนไหวระหว่าง 0.7-1.7% ค่ากลางบวก 1.2% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง บนสมมติฐานจีดีพีปีนี้ขยายตัว 3.5-4.5% ราคาน้ำมันดิบโลก 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าเงินบาท 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ” นายภูสิตกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง