รีเซต

ปิดช่องว่างที่ไทยยังขาด สธ.ฟังความเห็นร่างกม.ป้องเด็กจากอาหาร-เครื่องดื่ม ‘หวาน มัน เค็ม’

ปิดช่องว่างที่ไทยยังขาด สธ.ฟังความเห็นร่างกม.ป้องเด็กจากอาหาร-เครื่องดื่ม ‘หวาน มัน เค็ม’
TNN ช่อง16
23 พฤษภาคม 2566 ( 17:39 )
54

กรมอนามัย –สช. จัดเวทีประชาพิจารณ์ (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก กว่า 30 หน่วยงานอภิปรายเข้ม ภาคเอกชนหวั่นซ้ำซ้อนกับกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ เครือข่ายไม่กินหวาน ยกมือหนุนมาตรา 16 ห้ามขายอาหารหวานมันเค็มใน รร. -เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ยันอาหารเสี่ยงต้องมีสัญลักษณ์คำเตือน เสนอทำฉลากให้เด็กเข้าใจง่าย ชี้เด็กติดเค็มทำให้เกิดโรค NCDsง กินขนมเยอะกินผัก ผลไม้น้อย แถมโตขึ้นเป็นวัยรุ่นติดเค็ม ติดหวาน

 

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีประชาพิจารณ์ (ร่าง) พระราชบัญญัติควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ และผ่าน Web Conference โดยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนยิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเวทีการประชาพิจารณ์

 

ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ประธานกระบวนการรับฟังความคิดเห็น กล่าวว่า ประเทศไทยมีความพยายามแก้ไขปัญหาภาวะอ้วนในเด็กมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาภาวะอ้วนในเด็กก็ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขของไทย  โดย   2 ทศวรรษที่ผ่านมาเด็กไทยอ้วนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ทั้งเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน และเด็กวัยรุ่น ขณะเดียวกัน พบว่า ประเทศไทยยังขาดมาตรการสำคัญในการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก

“เราใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี พัฒนาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก”

 

ขณะที่ดร.พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวถึงสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก เนื้อหาสาระประกอบด้วย 4 หมวด 42 มาตรา โดย วัตถุประสงค์หลัก เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียม ที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน

 

“การแก้ไขปัญหาโรคอ้วนในเด็ก วันนี้สถานการณ์ไม่ได้ลดลงเลย จำเป็นที่ภาครัฐต้องลุกมาปกป้องเด็ก รวมถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ให้อาหารที่ดีต่อสุขภาพอยู่ในท้องตลาดมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้มีบทบาทหลัก ควบคุม  ดูแลกฎหมาย  และมีคณะกรรมการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก (คตอด.) มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน”

 

ในบทกำหนดโทษของร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก  กำหนดให้มีเฉพาะโทษทางแพ่ง  ไม่มีโทษทางอาญา ให้มีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และปรับอีกวันละไม่เกิน   1   หมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง

 

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ประสงค์ให้ผู้ประกอบการปรับปรุงสูตร ลด หวาน มัน เค็ม เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กน้อยลง  โดยไม่ได้ห้ามการขายอาหารและเครื่องดื่มฯ แต่อย่างใด  การบริจาคหรือการทำ CSR ของผู้ประกอบการ ยังสามารถทำได้ตามมาตรา 20 ไม่ได้ห้าม แต่ไม่ให้แสดงโลโก้

 

จากนั้น เวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก  เปิดให้แสดงความคิดเห็น โดยมีกว่า  30 หน่วยงาน ร่วมอภิปราย ทั้งประเด็นความเห็นต่อหลักการและความสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ประเด็นความเห็นต่อคำนิยาม  “การตลาด” หรือ “การสื่อสารการตลาด” นิยาม “อาหารและเครื่องดื่มที่มีผลต่อสุขภาพ” ประเด็นเนื้อหาของกฎหมาย และประเด็น โทษตามกฎหมาย ทั้งความเหมาะสมของโทษ มีการเสนอให้ปรับได้ตามสถานะทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อของประเทศ ดูการกระทำผิดซ้ำ คำนึงถึงขนาดของอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ บริษัท และมีการเสนอให้เพิ่มรางวัลนำจับ เป็นต้น

 

ผู้แทนจากกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้  ด้วยจะทำให้เห็นฉากทัศน์ของอุตสาหกรรมอาหารไทย มีการปรับสูตรหันผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีปริมาณ ไขมัน น้ำตาล โซเดียมต่ำ  

 

ทางผู้แทนเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สนับสนุนการมีกฎหมายฉบับนี้ พร้อมเสนอ ให้มาตรา 5 เรื่องคณะกรรมการควบคุม ให้มีองค์ประกอบผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ด้วย   ขณะที่ มาตรา 16  ที่ห้ามผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก หรือตัวแทน จำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มฯ ในสถานศึกษา ยืนยันว่า  อาหารที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งผ่านเกณฑ์ไม่ผ่านเกณฑ์ ไม่ควรทำการสื่อสารทางการตลาดในโรงเรียน ไม่ว่าช่องทางใด รวมถึงการรับบริจาคในลักษณะตอบแทนด้วย อีกทั้ง  มาตรา 3 ในกฎหมาย ควรใช้คำว่า การสื่อสารทางการตลาด แทนคำว่า การตลาด

 

เช่นเดียวกับ ผู้แทนเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้  โดยเสนอให้มีการจัดทำฉลากอาหารที่เข้าใจง่ายภายใน 10 วินาที โดยเฉพาะอาหารที่มีความเสี่ยงควรมีสัญลักษณ์คำเตือน อาหารที่มีไขมันสูง น้ำตาลสูง เกลือสูง เนื่องจากการที่เด็กติดเค็ม ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ยิ่งบริโภคขนมเยอะจะทำให้เด็กกินผักและผลไม้ได้น้อยลง และเติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่นติดเค็ม ติดหวาน

 

ฟากผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรม อาทิ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย แสดงความเห็นด้วยที่จะปกป้องเด็ก แต่การห้ามโฆษณาทุกช่องทาง ที่ระบุในกฎหมายอาจกระทบผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ซึ่งภาคเอกชนอยากเห็นความชัดเจน และรายละเอียดของกฎหมายลูก

 

สอดคล้องกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นด้วยกับการที่ภาครัฐจะควบคุมการตลาดอาหารที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก พร้อมแสดงความกังวลเรื่องกฎหมายลูก การตีความกฎหมายที่กว้างเกินไป  การใช้อำนาจเกินขอบเขต โดยตั้งเป็นคำถามอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่เหมาะสมกับเด็กคืออะไร

 

ส่วนสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เสนอให้มีการบังคับใช้กฎหมาย หรือบูรณาการการใช้กฎหมายที่มีอยู่ก่อนจะออกกฎหมายฉบับใหม่ๆออกมา พร้อมกับเสนอมีผู้แทนภาคเอกชนเข้าเป็นกรรมการด้วย

 

สุดท้าย ผู้แทนจากศูนย์กฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่อยากให้มีความชัดเจน มีการวิเคราะห์สภาพปัญหา และความจำเป็นที่ภาครัฐจะเข้าไปแทรกแซงการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะให้มีการรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อกฎหมายด้วย ที่สำคัญแก้ไข นิยาม การตลาด  เป็นการสื่อสารการตลาด เพื่อให้ครอบคลุมรวมถึงการทำการตลาดออนไลน์ เชื่อว่า กฎหมายฉบับนี้จะมีความชัดเจนขึ้น






ข่าวที่เกี่ยวข้อง