รีเซต

5 เทคโนโลยีวงการแฟชัน ศิลปะ และดนตรี อัปเดตล่าสุดปี 2023 I TNN Tech Reports

5 เทคโนโลยีวงการแฟชัน ศิลปะ และดนตรี อัปเดตล่าสุดปี 2023 I TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
6 เมษายน 2566 ( 15:28 )
102
5 เทคโนโลยีวงการแฟชัน ศิลปะ และดนตรี อัปเดตล่าสุดปี 2023 I TNN Tech Reports



เมื่อพูดถึงงานศิลปะ หลายคนอาจจะคิดว่ามีแค่ภาพในกรอบรูปธรรมดาไม่น่าสนใจ แต่บทความนี้อาจจะทำให้มุมมองของคุณเปลี่ยนไปได้ เพราะผู้สร้างสรรค์ในแวดวงนี้ ได้มีการพัฒนา และนำเอาเทคโนโลยีมาผสมผสานการออกแบบ จนเกิดเป็นผลงานที่แปลกตา และน่าทึ่งเป็นอย่างมาก


ผลงานชิ้นที่ 1: Strandbeests


เริ่มกันที่ ผลงานสุดยิ่งใหญ่อลังการที่หน้าตาคล้ายกับสัตว์ประหลาด ผลงานประติมากรรมที่มีชื่อว่า Strandbeests ออกแบบโดย นักสร้างสรรค์ชาวเนเธอแลนด์ Theo Jansen ที่ใช้เวลาในการพัฒนากว่า 30 ปี



Strandbeests เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากเทคโนโลยี 3D Printing ในการสร้างชิ้นส่วนต่าง ๆ รวมเข้ากับท่อพีวีซีที่ใช้เป็นโครงสร้างหลัก และวัสดุรีไซเคิล  ซึ่งโครงสร้างก็จะมีหลายรูปแบบตั้งแต่ระดับความสูง 4 ฟุต , 12 ฟุต และ 18 ฟุต ด้านบนติดตั้งใบเรือเพื่อรับแรงลมจากทะเลเพื่อขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์ไปข้างหน้า รวมกับการใช้หลักการทางฟิสิกส์ของการเคลื่อนที่ เพื่อให้ประติมากรรมที่ใช้พลังงานลมตัวนี้ เคลื่อนที่ได้เสมือนสิ่งมีชีวิตจริง ๆ  


ผลงานชิ้นนี้ มีแรงบันดาลใจมาจากปัญหาระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น นักออกแบบก็เลยจินตนาการถึงเผ่าพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนชายหาดที่ยังคงสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ ด้วยพลังงานลมในการขับเคลื่อนนั่นเอง



ผลงานชิ้นที่ 2: Fluidum


Fluidum คือประติมากรรมจากกระจกที่ใช้หุ่นยนต์ควบคุมการเคลื่อนไหว มีความหมายถึงการสะท้อนภาพกลับมาในหลายมุมมองเสมือนการสะท้อนจากผิวน้ำ สามารถสร้างจินตนาการให้คนมองดูอย่างเราได้อย่างไม่รู้จบ 


ผลงานชิ้นนี้ประกอบด้วยกระจก 6 เหลี่ยมวางต่อกัน โดยกระจกแต่ละบาน จะติดตั้งอยู่บนแท่นหรือแพลตฟอร์ม ที่ใช้เทคโนโลยี 3D Printing พิมพ์ขึ้นมา ออกแบบมาเป็นพิเศษ เรียงรูปแบบ คล้ายกับอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่บนกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เวบบ์ ขององค์การนาซ่า ที่ถูกส่งขึ้นไปถ่ายภาพในอวกาศ 


Fluidum สามารถเคลื่อนที่ได้หลายทิศทาง ซ้าย ขวา บน ล่าง หรือยกตัวขึ้นและลง ควบคุมด้วยหุ่นยนต์ถึง 85 ตัว ตัวงานแต่ละชิ้นจะมีความกว้างที่ประมาณ 15 เซนติเมตร ยกตัวสูงได้ถึง 22 เซนติเมตร และโครงสร้างทั้งหมดนี้ รวมกันมีน้ำหนักมากถึง 300 กิโลกรัม



ผลงานชิ้นที่ 3: Prinker M

Prinker M คือเครื่องพิมพ์รอยสักเทียมบนร่างกาย สามารถประทับลวดลายลงบนผิวเราได้ง่าย ๆ ตามใจ และรวดเร็ว แบบไม่ต้องเจ็บตัวเหมือนการสักลายทั่วไป แถมยังลบได้ ไม่ติดตัวไปถาวร ซึ่งจุดเด่นของเจ้าเครื่องนี้ คือมันมีขนาดเล็ก สามารถพกพาได้ สามารถเลือกรอยสักที่ต้องการจากแบบที่มีอยู่แล้วหรือจะออกแบบขึ้นมาใหม่ ผ่านการใช้งานด้วยแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนก็ได้เช่นกัน


สำหรับหมึกที่ใช้ในเครื่องพิมพ์นี้ เป็นหมึกเฉพาะของทางผู้ผลิตเอง ผ่านการจดทะเบียนโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ Prinker M มีราคาอยู่ที่ 199 ดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 6,600 บาท 



ผลงานชิ้นที่ 4: Spray-on Fabric


Spray-on Fabric เป็นไวรัลที่มีชื่อเสียงมาก ๆ เมื่อปีก่อน ในงานแสดงเสื้อผ้าระดับโลก Paris Fashion Week เพราะมันคือการสร้างชุดด้วยการพ่นสเปรย์ลงไปบนผิวหนังมนุษย์ ทำขึ้นจากเส้นใยเหลว ร่วมกับโพลีเมอร์, โพลีเมอร์ชีวภาพ,  และตัวทำละลายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีคุณสมบัติระเหยเมื่อสเปรย์ไปถึงพื้นผิว และจับตัวแข็งจนกลายเป็นชุดที่สวมใส่ได้จริง


เนื้อผ้าที่ได้จะมีลักษณะเหมือนกับวัสดุแบบหนังกลับ สามารถตัดแต่งปรับเปลี่ยนได้เหมือนกับเนื้อผ้าอื่น ๆ แต่สามารถนำมาละลาย และวนกลับมากลายเป็นสเปรย์ใช้ฉีดพ่นเป็นชุดตัวใหม่ได้เพื่อความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปในตัวด้วย 


นอกจากการทำเป็นเสื้อผ้าแล้ว ยังสามารถนำนวัตกรรมสเปรย์ไปประยุกต์ใช้ในงานด้านสาธารณสุข อย่างการผลิตหน้ากากอนามัย ชุดป้องกันพีพีอี หรือผ้าพันแผล รวมถึงด้านอื่น ๆ ได้อีกด้วย


 

ผลงานชิ้นที่ 5: The Sense of Smell


เป็นอีกการสร้างสรรค์ที่แปลก และแหวกแนว ไม่แพ้ใครสำหรับผลงานชิ้นนี้ กับการสร้างกลิ่นออกมาจนกลายเป็นผลงานศิลปะ ด้วยการใช้เทคโนโลยีจำลองกลิ่นต่าง ๆ ทั้งกลิ่นต้นไม้ พืช และสัตว์ต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในผลงานศิลปะ  ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชมงาน


The Sense of Smell หรือสัมผัสแห่งกลิ่น จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Museo Nacional del Prado ในประเทศสเปน โดยทำการจับมือกับ Puig บริษัทด้านความงาม แฟชัน และน้ำหอมชั้นนำของประเทศ โดยเบื้องหลังผลงานนี้ ใช้การติดตั้งเทคโนโลยีสร้างกลิ่นที่มีชื่อว่า AirParfum ซึ่งเป็นเครื่องสร้างกลิ่น ผ่านระบบการจ่ายลมและหน้าจอสัมผัส โดยแต่ละกลิ่นสกัดมาจากวัตถุดิบธรรมชาติจริง ๆ เช่น ดอกไม้

 

นอกจากการนำเทคโนโลยีสร้างกลิ่น AirParfum นี้ไปใช้ในงานศิลปะแล้ว ก็อาจนำไปปรับใช้กับธุรกิจ เช่น ห้างสรรพสินค้า ให้ลูกค้าได้ลองดมกลิ่นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ หรือ ในร้านกาแฟ ที่ลูกค้าสามารถดมกลิ่นความหอมของเมล็ดกาแฟแต่ละชนิดได้สะดวกขึ้น




ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง